ทวี สุรฤทธิกุล ปี 2564 การเมืองไทยอาจจะเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่เป็นด้วยฝีมือม็อบ ในขณะที่มีผู้ตั้งชื่อม็อบเยาวชนในปี 2563 ว่า ม็อบมุ้งมิ้งบ้าง ม็อบสีสันบ้าง หรือม็อบละอ่อนบ้าง แต่สำหรับผู้เขียนขอมองว่านี่คือ “ม็อบสุมขอน” คือมีลักษณะที่ค่อย ๆ เผาไหม้ เพื่อคอยเติมเชื้อให้ลุกโชน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ “สภาพอากาศ” คือสถานการณ์แวดล้อม ที่อาจจะส่งเสริมให้เผาไหม้ได้จนสำเร็จ หรืออาจจะขัดขวางให้มอดดับลงในวันใดวันหนึ่งก็ได้ ม็อบเยาวชนมีจุดอ่อนอยู่หลายเรื่อง แต่ที่เป็นจุดอ่อนที่สุดในความคิดของผู้เขียนก็คือ “การอ่อนประสบการณ์” ที่ทำให้การเคลื่อนไหวไม่ค่อย “ได้ใจ” มวลชนโดยรวมเท่าไรนัก ที่จะได้ใจไปบ้างและยังเป็นมวลชนหลักของม็อบในปี 2563 นี้ก็คือ กลุ่มนักเรียนและนิสิตนักศึกษา ที่ส่วนมากจะติดตามและเชื่อมโยงความเคลื่อนไหวในกลุ่มด้วยโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้สังเกตได้จากการกระหน่ำส่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ผ่านโซเชียลดูจะมีจำนวนมากขึ้น ภายหลังจากที่แกนนำออกมาประกาศพักการเคลื่อนไหวที่จะออกมาตามท้องถนนเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคาดหวังว่าจะรักษากระแสม็อบไว้ไปสักระยะ จนกว่าจะข้ามปีเก่า ตามที่แกนนำได้ประกาศว่าจะดำเนินการเคลื่อนไหวม็อบในปี 2564 ให้เข้มข้นและหนักหน่วงยิ่งขึ้น บทเรียนของม็อบในอดีตที่เยาวชนควรให้ความสนใจก็คือ “ความมุ่งมั่นแน่วแน่” และ “การโจมตีด้วยข้อมูลความจริง” เป็นต้นว่า ความฉ้อฉลของเผด็จการ ที่ใช้ในการต่อสู้ในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 โดยใช้เวลาบ่มเพาะนับสิบปี ตั้งแต่สมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามยังครองเมือง ในทำนองเดียวกันกับที่ต่อสู้กับเผด็จการ รสช. ใน พ.ศ. 2535 ที่มุ่งมั่นต่อสู้กับการสืบทอดอำนาจของคณะทหาร ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดเผยข้อมูลความจริงยังเป็นสิ่งที่สังคมให้ความสนใจ และสามารถเพิ่มจำนวนผู้สนับสนุนแก่ม็อบนั้นได้เป็นอย่างดี ถ้าผู้คนทั้งหลาย “เชื่อ” ไปด้วยว่าผู้ที่ม็อบกำลังคิดต่อสู้นั้น “เลว” หรือ “แย่” จริง ๆ แม้แต่การขับไล่ผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างที่ม็อบเสื้อเหลืองจับไล่ระบอบทักษิณในปี 2549 หรือม็อบ กปปส.ที่ขับไล่ระบอบเดิมนี้ใน พ.ศ. 2557 แม้จะไม่สำเร็จ แต่ก็มีมวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก จนทหารต้องออกมาทำรัฐประหารเพื่อจัดการกับระบอบนั้นแทน ทั้งนี้ก็ด้วยการที่ม็อบสามารถทำให้สังคมมองเห็นความเลวของระบอบสามานย์ดังกล่าวนั่นเอง แกนนำม็อบเยาวชนประกาศว่า เป้าหมายของม็อบยังคงมุ่งมั่นใน 3 เรื่อง คือ ให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบัน แต่เราก็มีข่าวสารน้อยมากเกี่ยวกับ “ความไม่ดี” ของนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญ และพระมหากษัตริย์ แม้ว่าในบางเรื่องอย่างเรื่องพระมหากษัตริย์อาจจะเป็นด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายที่ปิดกั้นไว้ จึงทำให้วิพากษ์วิจารณ์ได้ยาก แต่ในกรณีนายกรัฐมนตรีและรัฐธรรมนูญที่เป็นประเด็นเปิด สามารถใช้เสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ได้มากพอควร ก็น่าจะมีการให้ข่าวสารแก่สังคมมากกว่านี้ ทว่าภาพที่เราเห็นก็คือการสื่อสารถึงรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐบ้าง คอมมิวนิสต์บ้าง เหมือนกับว่าจงใจ “แตกประเด็น” ให้สังคมสับสน และยิ่งเกิดความสงสัยว่า “ม็อบจะเอาอะไรกันแน่” อย่างไรก็ตาม ถ้าม็อบนี้มีสภาพอย่างที่ผู้เขียนคิดไว้ คือเป็นม็อบที่คอย “สุมขอน” ไปเรื่อย ๆ ยุทธวิธีที่กำลังเผาตรงนี้บ้าง เผาตรงนั้นบ้าง เผาใหญ่บ้าง เผาเล็กบ้าง ให้มันกระจายตัวออกไป เพื่อรักษา “ความร้อน” ในสังคมให้ระอุไปนาน ๆ สิ่งที่เราเห็นม็อบกระทำดังกล่าวก็อาจจะอยู่ในแผนการที่ “รอคอยวันมอดไหม้” ที่ม็อบอาจจะเชื่อว่าน่าจะมาถึงเร็ว ๆ นี้ เช่น สักวันพลเอกประยุทธ์อาจจะลาออกไปเอง เพราะไม่อาจจะอดทนรับศึกหนักรอบด้านได้ต่อไป หรือในสภาอาจจะมีการตีรวนกันจนเละเทะและยุบสภาไปในที่สุด นี่ก็จะมีผลต่อการสิ้นสุดของรัฐบาลเช่นเดียวกัน รวมถึงที่รอคอยว่าปีหน้านี้รัฐบาลอาจจะเจอวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคม อันเกิดจากวิกฤติโควิด-19 ก็อาจจะมีประชาชนหลาย ๆ กลุ่มออกมาเดินขบวนขับไล่เพิ่มเข้ามาอีก หรือ “เหตุธรรมชาติ” ที่อาจจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่บางบุคคล และส่งผลอย่างฉับพลันต่อการเมืองก็ได้ แต่กระนั้น สังคมไทยก็ยังสงสัยต่อไปอีกว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยเกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว ม็อบจะปกครองดูแลประเทศได้ “ดีกว่า” จริงหรือ เพราะเท่าที่เห็นม็อบอธิบายความเรื่อง “การเมืองใหม่” หรือ “สังคมไทยในฝัน” ก็ยังไม่มีอะไรชัดเจน รวมถึงบุคคลที่จะมาเป็นผู้บริหาร “ยุคหลังประยุทธ์” ที่ม็อบก็ไม่ได้ประกาศว่าเป็นใคร เพราะคนไทยจำนวนมากยังไม่เชื่อว่าเด็ก ๆ เหล่านี้กระทำการก่อม็อบนี้ขึ้นโดยลำพัง น่าจะมีผู้อยู่เบื้องหลัง ที่ “คน ๆ นั้น” กำลังรอคอยแค่ให้รัฐบาลประยุทธ์นี้พังไปก่อนเท่านั้นเอง และการเมืองไทยหลังจากนั้น “ผู้กำกับตัวจริง” ก็จะปรากฏกายออกมา ซึ่งน่าจะเป็นคนที่คนไทยหวาดกลัวและต่อต้านมาตลอดกว่าสิบนั้นนั่นเอง หรือถ้าม็อบจะคิดขึ้นมามีอำนาจและปกครองประเทศด้วยกลุ่มม็อบเอง ก็ยิ่งไม่น่าเป็นไปได้ เพราะว่าไม่เพียงแต่ม็อบจะขาดประสบการณ์และความไว้วางใจแล้ว แต่สังคมไทยคงจะยิ่งต่อต้านม็อบเหล่านี้มากขึ้น ดังที่หลาย ๆ คนได้เห็นบทเรียนในอดีตที่บ้านเมืองยิ่งวุ่นวายมากขึ้น ภายหลังจากที่ม็อบได้รับชัยชนะ อย่างเช่น ภายหลัง 14 ตุลาคม 2516 หรือ 19 กันยายน 2549 ม็อบไม่ใช่แค่เรื่องของการก่อความวุ่นวาย การทำลายล้าง หรือการแสดงออกเพื่อแสดงความโดดเด่นใด ๆ แต่ม็อบคือ “การสร้างความคาดหวังต่ออนาคตของประเทศร่วมกัน” เป็นการหล่อรวมความฝันและความเชื่อมั่น ความไว้วางใจและการตัดสินใจร่วมกัน เมื่อใดที่ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกันเช่นนี้ แม้ไม่มีม็อบ ประเทศนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปได้