เสรี พงศ์พิศ www.phongphit. “เด็กหญิงขีดไม้ขีดไฟเข้ากับกำแพงอีกก้าน แสงไฟส่องสว่างรอบตัวเธอ ในความสว่างนั้นเธอเห็นยายปรากฏขึ้น แจ่มชัดและสดใส ดูท่าทางอ่อนโยนและรักใคร่” “ยายจ๋า” เด็กหญิงอุทานขึ้น “พาหลานไปด้วยนะจ๊ะ” หลานรู้ว่าเมื่อไม้ขีดไฟดับยายก็จะหายตัวไปเหมือนเตาผิงที่อบอุ่น เหมือนห่านอบและเหมือนต้นคริสต์มาสต้นใหญ่ที่สวยงาม เด็กหญิงจึงรีบจุดไม้ขีดไฟจนหมดห่อ เพราะต้องการจะให้ยายอยู่ที่นั่น เปลวไฟจากไม้ขีดไฟเป็นแสงเรืองรอง สว่างยิ่งกว่ายามเที่ยงวัน ยายไม่เคยดูสง่างามเช่นนั้นมาก่อนเลย ยายอุ้มเด็กหญิงไว้ในวงแขน แล้วทั้งสองก็ลอยขึ้นไปในความสว่างไสวและความรื่นเริงทั้งปวงเหนือพื้นโลก สู่ที่ซึ่งไม่มีความหนาวเย็น ไม่มีความหิวโหยหรือความเจ็บปวด ทั้งสองได้ขึ้นไปอยู่ด้วยกันในสรวงสวรรค์แล้ว” “ยามรุ่งเช้าในวันต่อมา เด็กหญิงเล็กๆ ที่น่าสงสารนั่งพิงกำแพง แก้มซีดเผือด แต่ริมฝีปากมีรอยยิ้ม เธอหนาวจนแข็งตายในคืนสุดท้ายของปีเก่า ดวงตะวันของปีใหม่ฉายแสงลงมาต้องศพเล็กๆ นั้น” ขณะที่คนอื่นๆ ฉลองปีใหม่กันสนุกสนานทั้งคืน คัดมาจากนิทานของฮันส์ คริสเตียน อันเดอร์เสน นักเขียนนิทานชาวเดนมาร์ก เรื่องเด็กหญิงกับไม้ขีดไฟ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เช่นเดียวกับเรื่องเงือกน้อย ลูกเป็ดขี้เหร่ ฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา เป็นต้น อันเดอร์เสนอยู่ในยุคเดียวกันกับพี่น้องกริมม์ นักเขียนนิทานชาวเยอรมัน ที่เรารู้จักดีจากเรื่องหนูน้อยหมวกแดง เจ้าหญิงนิทรา เจ้าชายกบ ซินเดอร์เรลลา สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด โฉมงามกับเจ้าชายอสูร นักเขียนนิทานสามคนนี้มีหลายอย่างที่คล้ายกัน มาจากครอบครัวยากจน มีชีวิตวัยเด็กและวัยหนุ่มที่ยากลำบาก นิทานหลายเรื่องสะท้อนประสบการณ์เหล่านี้ พวกเขาไม่อยากให้เด็กๆ ประสบชะตากรรมเดียวกัน อยากให้มีความสุข สนุกสนาน ได้ยิ้ม ได้หัวเราะในโลกที่ดูเหมือนมีแต่ความทุกข์และความเจ็บปวดนี้ นิทานเหล่านี้เป็นวรรณกรรมที่รังสรรค์ขึ้นมาอย่างประณีตบรรจง แฝงไว้ซึ่งปรัชญาชีวิต อย่างลูกเป็ดขี้เหร่ ดูๆ อาจจะธรรมดา แต่จบลงแบบสวยงามพร้อมข้อคิดมากมาย ตอนที่ลูกเป็ดกลับไปอยู่ในฝูงหงส์ กลับไป “เป็นตัวของมันเอง” มันได้ “ค้นพบตัวเอง” อันเดอร์เสนเล่าว่า “รู้ไหม มันเห็นอะไรในลำธารใสแจ๋วเบื้องล่างนั้น เห็นเงาตัวเอง ไม่ใช่นกสีเทาเข้มที่แสนขี้เหร่ ดูไม่ได้ มันเห็นหงส์ทรงเสน่ห์ที่สวยงาม หากแม้นนกตัวนั้นเป็นหงส์ การที่ต้องเกิดในเล้าเป็ดในไร่ ก็หาได้มีผลต่อการเป็นหงส์ของนกนั้นในภายหน้าแต่อย่างใดไม่ มันมีความสุขมากที่ได้ยินว่า มันสวยที่สุดในบรรดาหงส์ทั้งหลาย” นิทานทำให้คนก้าวข้ามพรมแดนแห่งชีวิตที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดตามธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์ที่อ่อนไหวเปราะบางทางร่างกายและจิตใจ ข้อจำกัดทางสังคมที่ตนเองสร้างขึ้นมาเป็นกฎเกณฑ์ระเบียบต่างๆ ทางความคิดทางวัฒนธรรม คนมีอำนาจมากกว่าเอาเปรียบคนมีอำนาจน้อยกว่า คนแข็งแรงกว่ากดขี่ข่มเหงคนอ่อนแอกว่า สร้างกรอบและกรงไว้กักขังผู้คนให้อยู่ใต้อาณัติของตน นิทานทำให้ก้าวพ้นเขตแดนและข้อจำกัดเหล่านี้โบยบินไปสู่เสรี ไปยังอีกโลกหนึ่งที่ไร้พรมแดน ไร้ข้อจำกัด ที่ไม่มีความทุกข์ทรมาน ไม่มีความเจ็บปวด ความหิวโหยและน้ำตา ความเจ็บป่วยและความตาย เป็นโลกแห่งความถูกต้องเป็นธรรม ความดีความงาม โลกที่ความดีไม่มีวันแพ้ความเลว ความบริสุทธิ์และถูกต้องไม่มีวันถูกป้ายสีให้เป็นความมัวหมองและความผิด ขณะที่คนไม่ดี คนขี้โกง คนใจร้าย คนเอาเปรียบผู้อื่น คนขี้เกียจ เหล่านี้ย่อมได้รับผลกรรมของตนเองในท้ายที่สุด นิทานในแทบทุกวัฒนธรรมล้วนยืนยันว่า “กฎแห่งกรรม” มีจริง นิทานต่างๆ สร้างความหวังให้ผู้คนว่าชีวิตจะไม่เลวร้ายเช่นนี้ตลอดไป ชีวิตที่เหมือนถูกสาปอาจจะกลับไปดีได้เหมือนเจ้าชายกบ ชีวิตที่อับจนอาจจะโชคดีเหมือนซินเดอเรลลา ปัญหาอุปสรรควันนี้อาจจะหมดไป ทางตันวันนี้อาจจะมีทางออกในวันหน้า นิทานเป็นเรื่องราวผจญภัย นำคนออกไปนอกโลกที่น่าเบื่อหน่ายจำเจไปสู่โลกที่ตื่นเต้น มีอะไรใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึง ได้พบเห็นผู้คน สัตว์ พืช สิ่งมีชีวิตในจินตนาการที่พูดได้ สื่อสารกับคนได้ ได้ร่วมเหตุการณ์อันระทึกเร้าใจ เป็นโลกแห่งความฝันและจินตนาการที่เราสร้างเอง นิทานส่วนใหญ่เล่าสืบต่อกันมานาน ข้ามยุคสมัยและวัฒนธรรม หลายเรื่องเกิดในยุคที่ชาวไร่ชาวนาชาวบ้านถูกกดขี่ข่มเหงจากคนมีฐานะทางเศรษฐกิจสังคม การเล่านิทานเป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเองที่ถูกกดขี่ ไปสู่โลกที่ไม่มีการเบียดเบียน และความทุกข์ยากทั้งปวง อีกด้านหนึ่ง ในนิทานจะเห็นจินตนาการของการ “แก้แค้น” คนเสียบถูกเอาเปรียบถูกกดขี่จะกลับมาชนะเสมอ ความดีชนะความชั่ว ธรรมะชนะอธรรม แม่เลี้ยงใจร้าย พ่อมดแม่มดใจร้ายไม่เคยรอด จะประสบชะตากรรมต่างๆ นานา คนที่ถูกสาบก็จะกลับไปสู่สภาพเดิม คนยากไร้จะได้สถานภาพที่ควรจะได้ อย่างซินเดอเรลลา ฮันเซลและเกรเตล หรือหนูน้อยหมวกแดงของกริมม์ เด็กขายกับไม้ขีดไฟของอันเดอร์เสน “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ไอน์สไตน์บอก เพราะทำให้เราก้าวข้ามโลกเก่าไปสู่โลกใหม่ ความรู้เก่าไปสู่ความรู้ใหม่ เกิดนวัตกรรมที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยน เล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอนจะเหมือนกับพาเขาโบยบินข้ามขอบฟ้า พาลูกท่องโลกแห่งจินตนาการ ให้เขาหลับอย่างเป็นสุข เพื่อจะได้ตื่นขึ้นมามีแรงเผชิญกับโลกที่เต็มไปด้วยความเป็นจริงที่รุนแรงและเจ็บปวดนี้ ขอให้มีความสุขในเทศกาลคริสต์มาส เทศกาลแห่งความสุขนี้