แสงไทย เค้าภูไทย คนไทยการ์ดตก เจอแรงงานพม่าไม่สวมหน้ากากอนามัย กลายเป็นสมคบกันแพร่เชื้อโควิด-19 ระลอก 2 อย่างไม่คาดคิด หากไม่ใช้ยาแรงเอาผิดและเอกซเรย์คัดกรอง อาจเกิด super spread ที่ยากจะควบคุมได้ นับแต่พบผู้ป่วยติดเชื้อคนแรกที่แพกุ้งมหาชัยเมื่อ 17 ธ.ค. ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวันจากตัวเลขเดี่ยวเป็น 2 หลัก ล่าสุดเป็น 3 หลักสะสมผ่านหลักพันคือ 1,072 คนไปเมื่อวันจันทร์ กว่า 90% ของผู้ติดเชื้อเป็นแรงงานพม่า คาดว่าการระดมตรวจคัดกรองแรงงานพม่า ซึ่งในสมุทรสาครมีอยู่กว่า 400,000 คน หากใช้อัตราติดเชื้อ 43% จากการตรวจพบที่ผ่านมา จะพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหมู่แรงงานพม่าถึง 172,000 คน เหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เสนอนายกฯ ให้ใช้ยาแรงคุมโควิดระบาดรอบใหม่ในหลายจังหวัด ที่เชื่อมโยงกับตลาดกุ้งมหาชัย นอกจากมาตรการเดิมที่ใช้ได้ผลในการระบาดระลอกแรกแล้ว ยังต้องเพิ่มอีกมาตรการกำหราบเด็ดขาด คือการเอาผิดคนไม่สวมหน้ากากอนามัย โดยใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินบังคับคนที่ออกนอกบ้านให้ใส่หน้ากากอนามัยกันทุกคน และต้องปิดทั้งปากและจมูกด้วย ใครไม่ทำตาม มีโทษทางอาญา ทั้งนี้เพราะพบว่าแรงงานพม่า ทั้งย่านแพปลามหาชัยและตามตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหาร ฯลฯ ไม่สวมแมสก์หรือสวมปิดแค่ปากไม่ปิดจมูก การที่แม่ค้าตลาดสดไปซื้อกุ้งที่แพกุ้งมหาชัยมาขายที่แผงของตนแล้วติดเชื้อโควิด-19 ก็เพราะละเลยกับการป้องกันตัวจากแรงงานพม่าที่มีเชื้อไวรัสมรณะอยู่ในตัวโดยไม่แสดงอาการ นอกจากนี้ ในโซนเสี่ยง ต้องแนะนำให้ สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้นด้วย นอกจากตรวจคัดกรองอย่างเคร่งครัดถึงขั้นเอกซเรย์ทุกพื้นที่แล้ว กระทรวงแรงงานจะต้องเข้าไปตรวจสอบด้วย เหตุจากแรงงานพม่าเหล่านี้ เป็นแรงงานผิดกฎหมายกว่าครึ่งโดยเจ้าของโรงงานและนายจ้างจะต้องรับผิดชอบด้วย ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำให้ถูกกฎหมายด้วยการเปิดรับแรงงานพม่าเข้ามาอย่างถูกต้องและมีการคัดกรองอย่างเข้มงวด แม้จะหวั่นเกรงต่อการนำเชื้อไวรัสมรณะเข้ามาแพร่ในไทย แต่ก็มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งขณะนี้ขาดแคลนถึง 200,000 คน พม่าเองก็ต้องการส่งแรงงานของตนมาไทย ล่าสุดองค์กรแรงงานเมียนมา(MWRN) เรียกร้องรัฐบาลของตนให้เจรจากับรัฐบาลไทยขอให้อนุญาตให้แรงงานเมียนมา 60,000 คน เข้ามาทำงานในประเทศไทย หากไม่สามารถโน้มน้าวให้รัฐบาลไทยรับแรงงานเมียนมาได้ ก็ขอให้คืนเงินค่าใช้จ่ายในการทำสัญญาจ้างให้แก่แรงงานเหล่านั้น แสดงถึงว่า การจ้างงานชาวพม่าของไทย มีความสำคัญระดับชาติของเมียนมาทีเดียว นอกจากทำให้ถูกกฎหมายแล้ว ยังต้องจัดที่พักอาศัยของแรงงานให้ถูกลักษณะอนามัยด้วย ทุกวันนี้ พวกแรงงานพม่าที่มหาชัยอยู่กันอย่างแออัด ห้องเช่าหนึ่งอยู่กัน 5-8 คนก็มี จึงไม่แปลกที่การแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้จะเกิดขึ้นอย่างง่ายดายและกินวงกว้าง อันที่จริงการแก้ปัญหาด้วยการตรวจแบบเอกซเรย์ควรจะดำเนินการตั้งแต่เกิดการระบาดที่เมียนมาแล้ว เนื่องจากช่วงนั้นมีการลักลอบพาแรงงานเข้ามาอย่างหนาแน่น มาทำตอนนี้ไม่รู้ว่าจะสายเกินไปหรือเปล่า ? เพราะเข้าข่ายวัวหายแล้วจึงล้อมคอกไปแล้ว