ทวี สุรฤทธิกุล ประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐไม่ได้เพราะคนไทยมีความเป็นปัจเจกสูง ข่าวที่ว่ากลุ่มม็อบบางพวกมีเป้าหมายที่จะให้ประเทศไทยปกครองแบบสาธารณรัฐอาจจะฟังแล้วน่าตกใจ เพราะในระบอบนี้จะไม่มีกษัตริย์ และอาจจะทำลายความเป็น “เอกรัฐ” ที่ว่าประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกไม่ได้ แต่ถ้าจะพิจารณาจากพื้นฐานทางสังคม โดยเฉพาะ “บุคลิกภาพ” ของคนไทย การที่ประเทศไทยจะไปสู่ความเป็นสาธารณรัฐนั้นก็ค่อนข้างจะเป็นไปได้ยาก คำว่า “บุคลิกภาพ” เป็นศัพท์ด้านสังคมวิทยา มีความหมายถึง “สิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวตนของบุคคลแต่ละคน” ประกอบด้วย ความเชื่อ ทัศนคติ ชีวิตความเป็นอยู่ การแสดงออก และความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ซึ่งมีทั้ง “บุคลิกภาพเฉพาะตัว” ที่เป็นลักษณะเด่นของคนแต่ละคน เช่น เป็นคนกล้าหาญ เป็นคนฉลาด หรือเป็นคนดี - คนเลว เป็นต้น กับ “บุคลิกภาพร่วม” ที่เป็นลักษณะที่มีเหมือนกันกับคนอื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคมระดับต่าง ๆ เช่น ความกตัญญูรู้คุณ ความรักความสามัคคี หรือความรักชาติ เป็นต้น นักวิชาการฝรั่งในยุคสงครามเย็น (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงสิ้นสุดสงครามเวียดนามใน พ.ศ. 2517) ได้ศึกษาบุคลิกภาพของคนไทยที่เป็นบุคลิกภาพเฉพาะตัวทั้งในเมืองและในชนบท พบว่าคนไทยเป็นคนที่โอบอ้อมอารี มีเมตตากรุณา มีน้ำใจ หรือความเป็นมิตรสูง จึงเรียกประเทศไทยว่า Land of Smile หรือ “สยามเมืองยิ้ม” ส่วนบุคลิกภาพร่วมเมื่อมองในด้านการเมืองก็พบว่า คนไทยเป็นพวกที่มี “ความเฉื่อยชาทางการเมือง” คือไม่ค่อนสนใจหรือไม่ชอบแสดงออกทางการเมือง เป็นพวกที่กลัวผู้มีอำนาจ ในขณะเดียวกันก็ชอบพึ่งพิงผู้มีอำนาจ ที่เรียกว่า “อำนาจนิยม” และค่อนข้างรักอิสระเสรี แต่ก็เป็นสังคมที่ “รวมฝูง” ได้อย่างรวดเร็ว อย่างที่เรียกกันว่า “ไทยมุง” ซึ่งสามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ในบางครั้ง ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นผู้รู้เกี่ยวกับสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง ได้กล่าวถึงคนไทยไว้ในงานเขียนและการพูดในที่ต่าง ๆ ว่า คนไทยมีความเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งถ้าใช้ภาษาอังกฤษต้องใช้คำว่า Independent ไม่ใช่คำว่า Free หรือ Freedom อย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป เพราะคำว่า Free หรือ Freedom ฝรั่งเขาจะหมายถึงการใช้ชีวิตอย่างเสรี ไม่ผูกมัดผูกพัน การทำอะไรตามใจ และไม่สนใจใคร แต่ Independent เป็นเรื่องของความคิดความมุ่งหวังที่ไม่ต้องการให้ใครมากำหนดมาบงการ ความมีอิสระเป็นตัวของตัวเอง และความสามารถที่จะอยู่ตามลำพังได้ อย่างที่เรียกว่า “ผู้รักสันโดษ” ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ชาติไทย คนไทยก็ต่อสู้ดิ้นรนจนอยู่รอดและคงความเป็นชาติมาได้ ก็เพราะไม่ยอมที่จะให้ชาติอื่นใดมาครอบครองนี่เอง รวมถึงที่ไม่ค่อยอยากจะให้คนอื่น ๆ มายุ่มย่ามกับเรื่องของตัวเขา ตลอดจนความเชื่อความคิดที่สามารถจะบรรลุความสำเร็จได้ด้วยตนเอง ที่ทำให้คนไทยไม่ค่อยจะผูกมัดตนเองกับใครหรือสนใจในเรื่องใด ๆ ยาวนานนัก สำหรับแนวคิดเรื่องสาธารณรัฐก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในความคิดของคนไทย แต่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นั้นแล้ว เพียงต้นรัชกาลใน พ.ศ. 2428 ก็มีคณะเจ้านายนำโดยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ถวายคำกราบบังคมทูลให้ปรับปรุงการปกครองประเทศ (ในตำราประวัติศาสตร์เรียกว่า “คำกราบบังคมทูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ร.ศ. 103) เรื่องที่กราบบังคมทูลเสนอก็คือ ขอให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนำการปกครองแบบยุโรปมาใช้ โดยให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ที่ในคำกราบบังคมทูลฯใช้ทับศัพท์คำภาษาอังกฤษว่า “คอนสติติวชั่น โมนากี” และมีรัฐสภาเป็นหลักในการปกครองประเทศ มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ที่เรียกว่า “เมมเบอร์ออฟปาลีเมนต์” ซึ่งรัชกาลที่ 5 ก็ทรงรับฟัง (นักประวัติศาสตร์บางสำนักวิเคราะห์ว่า ทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว แต่ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าควรจะต้องเตรียมความพร้อมของคนไทยให้พร้อมเสียก่อน ด้วยการให้การศึกษาแก่คนเหล่านั้น โดยกลุ่มคนที่จะจะต้องให้การศึกษาเป็นอันดับแรกก็คือกลุ่มเจ้านายและพวกข้าราชการนั่นเอง) การณ์ล่วงเลยมาจนถึงต้นรัชกาลที่ 6 แนวคิดเรื่องสาธารณรัฐก็ประทุขึ้นอีกครั้ง โดยคณะนายทหารชั้นผู้น้อยได้คิดก่อการจะปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ความแตกเสียก่อน จึงถูกจับกุมกันทั้งคณะ แต่ก็ได้พระราชทานชีวิตไม่ลงโทษประหาร โทษสูงสุดก็เพียงแค่เนรเทศ คนทั่วไปเรียกกบฏครั้งว่า “กบฏ ร.ศ. 130” (พ.ศ. 2545) หรือ “กบฏหมอเหล็ง” (ตามชื่อของ ร.ต.เหล็ง ศรีจันทร์ หัวหน้ากบฏในครั้งนั้น) ซึ่งในการจับกุมได้พบหลักฐานเกี่ยวกับการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ที่คนกลุ่มนี้ต้องการที่จะนำมาปกครองแทนระบอบกษัตริย์ โดยในคำสารภาพถึงเหตุผลที่คิดทำรัฐประหารนั้นก็คือ ระบอบกษัตริย์ทำให้ประเทศไทยล้าหลังและเสื่อมโทรม จึงคิดว่าระบอบสาธารณรัฐน่าจะเหมาะสมกับประเทศไทยมากกว่า และคงจะทำให้ประเทศไทย “วัฒนาสถาวร” ความล้มเหลวของแนวคิดเรื่องสาธารณรัฐเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงความพยายามของม็อบเยาวชนที่กำลังดำเนินอยู่ในยุคนี้ด้วย ทั้งนี้ก็เพราะ “บุคลิกภาพของคนไทย” ไปกันไม่ได้กับวิถีการปกครองในแบบสาธารณรัฐ ซึ่งจะได้อธิบายในสัปดาห์ต่อไป ลาทีปีเก่า การเมืองเก่า และสวัสดีปีใหม่ (อาจจะเกิดการเมืองใหม่) ครับ