ณรงค์ ใจหาญ ตามที่ได้มีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ออกมาบังคับใช้โดยมีมาตรการที่จะควบคุมการขาย การโฆษณา การบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยมีข้อจำกัดในเวลาจำหน่าย จำกัดมิให้จำหน่ายแก่บุคคลที่อายุไม่เกินยี่สิบปี และจำกัดสถานที่ในการจำหน่ายสุรา รวมถึงการโฆษณาเพื่อให้เป็นการจูงใจหรือเพื่อประโยชน์ในทางการค้า อันจะก่อให้เกิดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากขึ้นด้วย ซึ่งมาตรการเหล่านี้ กำหนดขึ้นจากเหตุผลของการตระหนักถึงอันตรายของผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป นอกจากจะทำให้เสียสุขภาพแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งหรือการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือก่อให้เกิดอุบัติเหตุในการสัญจรบนถนนสาธารณะ และก่อให้เกิดอาชญากรรมอื่นๆ เพราะผู้เสพเมื่อมีอาการมึนเมาแล้วอาจกระทำความผิดไปโดยขาดความยั้งคิด ดังนั้น การควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยมีข้อจำกัดบางประการและมีข้อความแสดงอันตรายอันเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มดังกล่าวจะนำไปสู่การลดความต้องการของผู้บริโภคไประดับหนึ่ง และส่งผลต่อการที่จะลดปัญหาอันเกิดจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม จากการดื่มสุราจนเมามาย และเป็นการเสริมสุขภาพของประชาชนให้มีสุขภาพดีด้วย และที่สำคัญคือ สร้างความตระหนักให้แก่เด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายด้วย กลไกที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ มีคณะกรรมการสองระดับ ระดับนโยบาย เรียกว่า คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ (มาตรา 5) และมีคณะกรรมการ ดำเนินการ อีกชุดหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน (มาตรา 10) และยังมีคณะกรรมการควบคุมแอลกอฮอล์ในระดับกรุงเทพมหานคร ( มาตรา 18) และระดับจังหวัด (มาตรา 19)ขึ้นมาเพื่อควบคุม ติดตาม และดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ อีกทั้งได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา 24 เพื่อดำเนินการในด้านธุรการและประสานงานกับคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย มาตรการในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กำหนดไว้ในในหมวด 4 มาตรา 26-32 ซึ่งกำหนดให้ผู้ผลิต หรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องมีการแสดงคำเตือนเกี่ยวกับสุขภาพตามที่กฎกระทรวงกำหนด ห้ามขายในสถานที่หรือบริเวณที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 ห้ามจำหน่ายในวัน เวลาที่กำหนดไว้ ตามมาตรา 28 และห้ามจำหน่ายแก่บุคคลที่อายุต่ำกว่ายี่สิบปีหรือบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ และห้ามจำหน่ายในลักษณะที่เป็นเร่ขายหรือในเครื่องขายอัตโนมัติ ตามาตรา 30 ทั้งนี้ ในด้านผู้บริโภค กฎหมายมีข้อจำกัดตามมาตรา 31 มิให้ดื่มในบางสถานที่ เช่น วัด หรือสถานศึกษา สวนสาธารณะ เป็นต้น ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญา ตามที่กำหนดไว้ในหมวด 7 ในส่วนที่เกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีข้อห้ามไว้ในมาตรา 32 ดังนี้ “มาตรา 32 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม โดยตรงหรือโดยอ้อม การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท ให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพขอสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่จะเป็นการปรากฏภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง แต่บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง และวรรคสองมิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร” ผู้ฝ่าฝืน มาตรา 32 จะมีโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 43 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ หากยังฝ่าฝืนอีก จะต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินห้าหมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยสรุปคือ การโฆษณาที่แสดงให้เห็นผลิตภัณฑ์ที่บรรจุเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ วิสกี้ หากกระทำในสิ่งพิมพ์เช่น เมนูอาหาร ป้ายประชาสัมพันธ์ หรือลงโฆษณาขายสินค้า ต้องห้ามมิให้กระทำ หากกระทำไปเพื่อเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม โดยตรง หรือโดยอ้อม เช่น อวดอ้างว่าดื่มเบียร์ทำให้สุขภาพดี การทำงานของหัวใจดีขึ้น เป็นต้น หรือโฆษณาเพื่อชักชวนให้ผู้อื่นดื่ม หรือมีอารมณ์อยากดื่ม เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากมีการโฆษณาที่ไม่ได้แสดงภาพผลิตภัณฑ์ แต่เป็นการแสดงเครื่องหมายการค้าของบริษัทที่ผลิตสุราหรือเบียร์ แต่มีการนำเสนอข้อมูลเชิงสร้างสรรค์ หรือมีการวิทยาการในการสร้างค่านิยมที่ดีของสังคมสามารถกระทำได้ เช่น แสดงตราสัญลักษณ์ของบริษัทผลิตสุรา หรือเบียร์ แต่มีการนำเสนอข้อมูลในการเสริมสร้างสุขภาพ หรือส่งเสริมการแข่งขันกีฬาในระดับเยาวชนหรือระดับชาติเป็นต้น กรณีเหล่านี้ สามารถทำได้ เพราะไม่ได้มีผลต่อการที่จะทำให้สุราหรือเบียร์ของบริษัทขายดีขึ้น แต่กลับจะแสดงให้เห็นว่า บริษัทดังกล่าวมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการมีส่วนร่วมและสนับสนุนให้ประชาชนมีสุขภาพดี จากวัตถุประสงค์ของการห้ามโฆษณาซึ่งครอบคลุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และห้ามโฆษณาตราสัญลักษณ์ของบริษัทที่ผลิตด้วย หากทำไปเพื่อชักจูงให้ผู้อื่นดื่ม หรืออวดอ้างสรรพคุณ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาทางสื่อมวลชน สื่อสิ่งพิมพ์ และsocial media ต่างๆ และในประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังกำหนดรูปแบบของข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือภาพสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2557 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 241 ง วันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 โดยกำหนดขนาดตัวอักษรคำเตือน และข้อความ ว่าต้องเตือนในลักษณะใดลักษณะหนึ่งใน 16 แบบท้ายประกาศ เช่น สุราเป็นเหตุให้ก่อมะเร็งได้ สุราเป็นเหตุให้สมองเสื่อมได้ สุราเป็นเหตุให้พิการได้ เป็นต้น ซึ่งเป็นการเตือนให้ผู้เสพ มีความตระหนักในเรื่องของผลกระทบที่จะมีต่อสุภาพของตนเองและมีผลต่อผู้ที่กำลังตัดสินใจดื่มว่าจะเสี่ยงภัยหรือไม่ ปัญหาที่เกิดขึ้น และน่าเป็นห่วงคือ การไม่บังคับใช้ให้ครอบคลุมและเสมอภาค เพราะการโฆษณาสุราและเบียร์ไม่ได้เกิดในสื่อสาธารณะเท่านั้น ยังมีในร้านค้าและร้านอาหารจำนวนมาก จึงเป็นภาระของพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะเป็นแนวทางปฏิบัติใหม่ที่เพิ่งจะนำมาใช้ ส่วนอีกกรณีหนึ่งคือ การควบคุมการโฆษณาทางสื่อมวลชนสามารถทำได้ และขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการตรวจสอบ แต่หากเป็นการโฆษณาใน social media และในปัจจุบันแต่ละคนสามารถที่จะโพสข้อความหรือภาพต่อเนื่องด้วยตนเองและไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบ จึงเป็นไปได้ว่าบุคคลเหล่านี้แม้จะไม่ได้ตั้งใจจะทำให้บริษัทสุราหรือเบียร์ขายดี แต่การโพสข้อความดังกล่าวมีผลต่อการชักชวนให้คนมาดื่มสุราหรือเบียร์หรือไวน์ของบริษัทดังกล่าวก็จะต้องถูกดำเนินคดีไปและมีโทษปรับสูงถึงห้าแสนบาท และยังมีการปรับต่อเนื่องหากยังไม่ลบข้อความดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงควรรณรงค์และสร้างความเข้าใจในข้อห้ามและประชาสัมพันธ์ในการเตือนมิให้กระทำการต่อประชาชนด้วย เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและป้องกันการกระทำความผิดต่อกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์