ทวี สุรฤทธิกุล สวัสดีปีใหม่ และขอต้อนรับ “การเมืองใหม่” (ที่อาจจะมี) ที่ไม่รู้ว่าจะ “ดีขึ้น” หรือ “เลวลง” คนที่เติบโตมาในเมืองไทยและมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป น่าจะได้เห็นความวุ่นวายทางการเมืองมาไม่น้อยกว่า 6-7 ครั้ง เรียกว่าในรอบ 10 ปีก็จะต้องมีความวุ่นวายทางการเมืองนั้นอย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง นั่นก็คือความวุ่นวายตั้งแต่ พ.ศ. 2516, 2519, 2535, 2548 - 2549, 2552, 2556 - 2557 และ 2563 - ? เปรียบเทียบกับคนยุคใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ก็คงจะได้ทราบถึงความวุ่นวายนั้นเพียง 2-3 ครั้ง (ส่วนใหญ่จะเกิดหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535) เรียกว่าคนรุ่นใหม่มีประสบการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากคนรุ่นเก่าเกือบ 2 เท่าตัว (นี่ผู้เขียนกำลังแนะให้ท่านผู้อ่านเข้าใจในเรื่อง “การวิจัยเชิงปริมาณ” ที่เน้นจำนวนของตัวเลขต่าง ๆ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการศึกษาหาความรู้ในทางรัฐศาสตร์) ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คนรุ่นใหม่จะมีความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับการเมืองยุคเก่า ๆ ผิดเพี้ยนไปบ้าง (บางทีก็เพี้ยนมากเลยแหละ) ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น ก็จะเป็นการวัดกันระหว่าง “ประสบการณ์” (การผ่านร้อนหนาวของคนแต่ละคน) กับ “จินตนาการ” (ความคิดความใฝ่ฝันของแต่ละคน) ขึ้นอยู่กับว่าคนกลุ่มไหนจะมีพลังมากกว่า แนวคิดเรื่องระบอบสาธารณรัฐที่เป็นความคิดความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ กำลังถูกทัดทานจากคนรุ่นเก่าที่ยังเชื่อมั่นในระบอบกษัตริย์ที่ค้ำจุนระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงทุกวันนี้ แต่นั่นก็เป็นการมองการเมืองแบบ “ย้อนหลัง” ซึ่งหลาย ๆ เรื่องก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น สถานภาพและ “พระปรีชา” ที่แตกต่างกันของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ รวมทั้งสถานการณ์แวดล้อมที่จะทำให้พระมหากษัตริย์พระองค์นั้น ๆ “สถิตในดวงใจราษฎร์” ดังนั้นกลุ่มคนรุ่นใหม่จึงมองว่า พวกเขาไม่อาจที่จะสุ่มเสี่ยงกับการฝากความหวังไว้กับ “ความไม่มั่นคง” ดังกล่าว โดยพวกเขาคิดว่าระบอบสาธารณรัฐน่าจะเป็นหนทางที่ “มั่นคงและปลอดภัยกว่า” ต่ออนาคตของพวกเขา โดยมีกลุ่มคนที่ต่อต้านระบอบกษัตริย์เข้ามาร่วมอยู่ในขบวนการนี้ด้วย อย่างไรก็ตามในอนาคต สังคมของเราก็จะถูกแทนที่ด้วยคนรุ่นใหม่ ซึ่งถ้ามองจากสภาพการณ์ปัจจุบันก็น่าเป็นห่วงว่าพวกเขาอาจจะ “เอาไม่อยู่” หรือ “ปกครองไม่เป็น” ถ้าหากพวกเขายังเชื่อมั่นในระบอบสาธารณรัฐนั้นอยู่จริง ๆ เพราะจากประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าอย่างผู้เขียน ได้เห็นแล้วว่าระบอบสาธารณรัฐนั้นไม่น่าจะเหมาะกับ “บุคลิกภาพแบบไทย ๆ” โดยเฉพาะคนไทยรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคมิลเลนเนียม (คือหลัง ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา และมีอายุ 20 ปีขึ้นไป) ด้วยเหตุที่คนรุ่นนี้มีความเป็น “ปัจเจก” มากเกินไป ซึ่งขัดแย้งกับชีวิตความเป็นอยู่ในระบอบสาธารณรัฐ ที่จำเป็นจะต้องมีบุคลิกภาพแบบ “สาธารณะ” มกกว่านี้ ความเป็นปัจเจกของคนไทย ถ้าเป็นไปตามทฤษฎีของนักวิชาการฝรั่งในยุคสงครามเย็น(ดังที่ยกมาอธิบายในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน) ก็เป็นไปตามข้อสรุปที่ว่าคนไทยชอบทำอะไรตามใจ และเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างหลวม ๆ ไม่ได้ยึดมั่นในอุดมการณ์อะไรมากนัก นั่นก็คือคนไทยขาดความเป็นสาธารณะในเรื่องที่เกี่ยวกับ “จุดยืนร่วมกัน” อันเป็นหลักการของการคงอยู่แห่งระบอบสาธารณรัฐที่วางไว้โดย ฌัง ฌาร์ค รุซโซ ที่รุซโซเรียกว่า “เจตจำนงร่วม – General Will” อันหมายถึง “ความเห็นพ้องร่วมกันด้วยเหตุผลอันเป็นที่ตกลงกันอย่างพร้อมหน้าของคนทั้งหลายในสังคมหนึ่ง ๆ” อย่างเช่นที่แนวคิดนี้ได้ก่อให้เกิดการปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์ในฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1789 ที่ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่เกิดเจตจำนงร่วมกันว่า “ไม่เอากษัตริย์” อันนำไปสู่การสถาปนาระบอสาธารณรัฐขึ้นภายหลังการปฏิวัติครั้งนั้น หรือถ้าจะคิดตามทฤษฎีของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในเรื่องความเป็นตัวของตัวเองของคนไทย ที่มีอิสระที่จะเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองได้ตามใจชอบในสถานการณ์ต่าง ๆ (อย่างสำนวนไทยที่ว่า “ข้าหลายเจ้าบ่าวหลายนาย”) คนไทยก็พร้อมที่จะเฮโลสาระพาพากันไปในแนวที่พวกเขาอยากคิดฝันอยากได้อยากเป็นนั้นได้เสมอ เพียงแต่ใครจะทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขาได้ดีกว่าเท่านั้น (เหมือนการเมืองไทยที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร แม้แต่ทหารที่เคยพูดตอนทำรัฐประหารว่าจะมากำจัดนักการเมืองเลว ๆ ก็ยังไปเอานักการเมืองเหล่านั้นมาเป็นพวก โดยยอมตัวเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองให้กับนักการเมืองพวกนั้นด้วย) คนไทยจึงเป็นพวกที่มี “อัตตา” หรือ “อีโก้” สูง ซึ่งเข้ากันไม่ได้กับความเป็นสาธารณะที่จะต้องมีสปิริตของน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ เคารพกติกาและความคิดเห็นของส่วนรวม ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าเป็นลักษณะสำคัญของคนที่จะปกครองในระบอบสาธารณรัฐแบบประชาธิปไตย ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่า หลาย ๆ ประเทศก็นิยมแนวทางการปกครองแบบสาธารณรัฐนี้เช่นกัน แม้แต่ประเทศที่เป็นเผด็จการบางรูปแบบ อย่างประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ก็ยังใช้คำว่า “สาธารณรัฐ” ในชื่อประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นต้น ดังนั้นสาธารณรัฐจึงมีความหมายที่ค่อนข้างกว้าง คือมีทั้งสาธารณรัฐแบบประชาธิปไตยและแบบเผด็จการ ดังกล่าว ดังนั้นเราจึงอาจจะยิ่งสับสนยิ่งขึ้นในแนวทางของกลุ่มเยาวชนที่กำลังก่อม็อบอยู่นี้ว่าพวกเขากำลังจะให้ประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐในรูปแบบใดกันแน่ ซึ่งก็ยังไม่มีใครมองเห็นภาพชัดเจน เพราะแม้แต่ในหมู่แกนนำของม็อบ(ที่ก็ยังไม่ชัดเจนเช่นเดียวกันว่าใครเป็นแกนนำตัวจริงตัวปลอม และยังมีอยู่ที่ไหนอีกบ้าง)ก็ยังวุ่นวายสับสนกันอยู่ บางทีด้วยบุคลิกภาพแบบ “ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ” ทั้งในฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายม็อบอย่างที่เป็นอยู่แบบนี้ อาจจะนำไปสู่ระบอบการปกครองแบบ “ต่างคนต่างปกครอง ต่างคนต่างอยู่” นั้นก็ได้ อย่างที่เรียกว่า “การปกครองที่ไม่ต้องมีผู้ปกครอง” คือ “อนาร์กี” (Anarchy) หรือ “อรัฐนิยม” นั่นเอง