พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ มีเพื่อนคนไทยถามผมเกี่ยวกับบทบาทและสถานะของอเมริกาในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยก็ในช่วงราวประมาณอีก 10 ถึง 15 ปีข้างหน้า โดยเหตุที่ปัจจุบันมีดาราหน้าใหม่อย่างจีนไม่ก็อินเดีย สังกัดค่ายตะวันออกไต่อันดับขึ้นมามีอิทธิพลต่อชาวโลกในด้านต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและด้านความมั่นคง      ในช่วงที่ผ่านมาสื่อหลายแห่ง ตลอดถึงผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ถึงประเด็นนี้กันมาก เพื่อประโยชน์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความสัมพันธ์ในระดับองค์กร และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งก็ย่อมจะเกี่ยวเนื่องไปถึงการจัดลำดับความสำคัญ ในการร่วมทำธุรกิจสาขาต่างๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน      ขณะที่ในปัจจุบันนั้น บทบาทของอเมริกา ยังถือว่า มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดชะตากรรมของโลก      จากความเสื่อมถอยทางด้านเศรษฐกิจของอเมริกาในช่วงต่างๆที่ผ่านมา ถึงกระทั่งในเวลานี้ เป็นเหตุให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยพากัน วิจารณ์ สำแดงทัศนะต่อความเป็นไปของอเมริกาที่เชื่อมโยงถึงโลกหรือประเทศในภูมิภาคต่างๆ      ในด้านของความมั่นคงนั้น กรณีเหตุการณ์สงครามในตะวันออกกลางทั้งหมด เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงบทบาทของอเมริกาในโลกสมัยใหม่ หมายถึงประสิทธิภาพของระบบเทคโนโลยีทางด้านการทหาร ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่สำแดงถึงความมีอิทธิพลของอเมริกาต่อประเทศอื่นๆ แม้จะมีการมองกันหลายแง่หลายมุมทั้งเชิงลบและเชิงบวก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกปัจจุบัน “ความขัดแย้งเรื่องลัทธิ อุดมการณ์รูปแบบสมัยใหม่”ยังคงมีอยู่ ขณะที่อเมริกายังคงรูปแบบการเผยแผ่อุดมการณ์ทุนนิยมเสรีเอาไว้อย่าเหนียวแน่น นับแต่ยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา      ถ้าให้ประเมินภาพและความเป็นไปของอเมริกาในโลกปัจจุบัน สามารถอนุมาน สรุปคร่าวๆ ถึงอนาคตในช่วงอีกราว 10 ถึง 15 ปีข้างหน้า เท่าที่มองจากประสบการณ์ของตัวผมเองและมองผ่านการวิเคราะห์จากมุมของสื่อต่างๆ เป็นดังนี้ครับ      1. ในด้านการเมือง ทั้งในและนอกประเทศ อเมริกาน่าจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมเกมการเมืองของโลกอยู่ เหตุผลเนื่องจาก สภาพการเมืองภายในประเทศที่นิ่งอยู่ตัว กลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองของประเทศไปแล้วนั้น  หากเปรียบเทียบกับจีน ซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งที่ขึ้นมาท้าทายอิทธิพลด้านนี้ของอเมริกา จะเห็นได้ว่า การเมืองของจีน ยังไม่ถือได้ว่ามั่นคงอย่างแท้จริง ยังมีคลื่นใต้น้ำอยู่อีกส่วนหนึ่ง ทั้งในเรื่องความเห็นแย้งเรื่องอุดมการณ์ของประชาชนในประเทศส่วนหนึ่งต่อแนวอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่แม้ดูเหมือนว่าศูนย์อำนาจใหญ่ของจีนแห่งนี้ จะเปิดโอกาสให้ทุนเป็นตัวขับเคลื่อนในการพัฒนาได้มากขึ้นก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ นโยบายหรือการควบคุมก็ยังมาจากศูนย์กลาง ขณะเดียวกันจีนก็ยังมีความขัดแย้งภายในกรณีการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งยังไม่หายไป ดังนั้นการที่จะไปทำหน้าที่หรือบทบาทในต่างประเทศได้อย่างสมบูรณ์ นับว่าไม่ง่ายนักสำหรับยักษ์ใหญ่เอเชียชาตินี้ ขณะที่อเมริกามีประสบการณ์ด้านนี้มายาวนาน โดยเฉพาะการสะสมข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว จนกลายเป็นฐานข้อมูลสำคัญนำมาใช้ในการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดถึงการสามารถนำมาใช้ในกรณีเกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคงเป็นอย่างดี      2. ในด้านความมั่นคง เป็นที่ทราบกันดีว่า อเมริกามีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงในระดับโลก ทั้งในเรื่องการทหาร และเรื่องในเชิงข้อมูลข่าวสารต่างๆ หมายถึงการจัดตั้งองค์กร ทั้งในส่วนภายในของอเมริกาเองและองค์กรภาคีนานาชาติ ตามข้อสนธิสัญญาความร่วมมือต่างๆ ซึ่งจะช่วยเสริมให้การดำเนินการในประเด็นความมั่นคงเป็นไปอย่างมีระบบ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะที่ฝ่ายจีนนั้น  ยังไม่มีหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศที่ทำงานด้านความมั่นคงโดยเฉพาะ หรืองานด้านข้อมูลเชิงลึกโดยตรง ทั้งลับและไม่ลับ  เรื่องนี้เข้าใจว่า ทางฝ่ายจีนกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมดำเนินการเพื่อให้เกิดหน่วยงานตามรูปแบบที่ว่านี้อย่างเป็นทางการ ให้ทัดเทียมกับฝ่ายอเมริกา ที่ผ่านมาแม้ว่า ทางฝ่ายจีนจะได้ ใช้คนเพื่อทำงานด้านข้อมูลสำคัญๆ เช่น งานจารกรรม อยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ถือว่า เป็นกระบวนงาน หรือเป็นระบบเท่าที่ควรจะเป็น       3. ในด้านเทคโนโลยี ทั้ง 2 ประเทศ มุ่งแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ อย่างเข้มข้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนได้พัฒนาเทคโนโลยีรุดหน้าไปมาก ทั้งเทคโนโลยีด้านการทหาร การบินและอวกาศ รวมทั้งเทคโนโลยีด้านอื่นๆ เพื่อก้าวให้ทันประเทศตะวันตกซึ่งมีอเมริกาเป็นแกนนำ อย่างไรก็ตามแม้ว่าเทคโนโลยีของจีนสามารถพัฒนาให้ตามทันอเมริกาได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร อเมริกาเองก็พัฒนาศักยภาพ ต่อยอดเทคโนโลยีล้ำหน้ามากขึ้นไปอีกจากฐานเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่ หลายเทคโนโลยี ที่อเมริกาพัฒนารุดหน้าไปยังคงเก็บไว้เป็นความลับรอวันเปิดเผยเมื่อสถานการณ์และเวลามาถึง      4. ในด้านเศรษฐกิจ  เป็นประเด็นขึ้นๆลงๆ หลายคนมองว่า โลกของตะวันออกโดยเฉพาะ จีนกับอินเดีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจโต(ตามฐานประชากร)มากกว่าประเทศอื่นๆ จะกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจในอนาคต ทั้ง 2 ประเทศเอเชีย มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการลงทุนสูงมากที่สุดในโลก ขณะที่เศรษฐกิจของอเมริกา ในช่วงราว 4-5 ปีที่ผ่านมาอยู่ในสภาพย่ำแย่ ทำให้มองกันว่า บทบาทของอเมริกาทางด้านนี้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะความอ่อนแรงจากการนำประเทศเข้าสู่สงครามก่อการร้ายในอาหรับทั้งอิรักและอาฟฆานิสถาน รวมทั้งประเทศอื่นๆ      อย่างไรก็ตาม  นี่เป็นเพียงการประเมินตามสูตร หรือมาตรฐานโดยทั่วไป วัดจากมูลค่าของจีดีพี  การนำเข้าและส่งออก รวมทั้งระบบการไหลเข้าออกของเงิน ตามอย่างวิธีการปกติ หากยังไม่รวมถึงสินค้าหลายตัว ที่อเมริกาค้าขายอยู่ตลอดช่วงที่ผ่านมาโดยไม่ผ่านระบบศุลกากร หรือไม่ผ่านตามท่าต่างๆ เช่น สินค้าทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าลิขสิทธิ์ สินค้าการศึกษา สินค้าอาวุธ และสินค้าซึ่งเป็นตัววัฒนธรรมอเมริกัน ซึ่งผลิตและจำหน่ายออกไปทั่วโลก นอกเหนือไปจากบทบาทในการกำกับภาคการเงินของโลกด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ธนาคารกลางอเมริกา(เฟด) เคยพิมพ์เงินเงินสกุลดอลลาร์ออกมาเพิ่มในตลาดเงินจำนวนหลายแสนล้านเหรียญ หลังอเมริกาประประสบปัญหาเศรษฐกิจ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในเวทีโลกอย่างมากถึงกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ส่วนหนึ่งของผลกระทบส่งถึงจีนโดยตรง จีนเป็นประเทศที่ในเวลานี้ครอบครองพันธบัตรสกุลยูเอสดอลลาร์ไว้มากที่สุด ทำให้พันธบัตรดังกล่าวมูลค่าตก  อเมริกาเป็นประเทศที่สามารถพิมพ์เงินออกมา โดยไม่ต้องอิงฐานทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และทุนสำรองทองคำ เหมือนประเทศอื่นๆ จนอาจกล่าวได้ว่าอเมริกา ใช้ระบบการเงินควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก ขณะที่จีน ยังต้องใช้เวลานานอีกหลายปีกว่าที่จะสามารถพัฒนาระบบการเงินให้ไปถึงขั้นนี้ได้      โดยเหตุที่จีน เป็นประเทศที่มีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตขั้นแรกสูงที่สุด จึงยังจำเป็นต้องอาศัยตลาดใหญ่เพื่อระบายสินค้า อเมริกายังเป็นตลาดสำคัญในการรองรับสินค้าจีน  เรื่องนี้จึงเป็นไปในทำนองต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพากันและกัน      5. ในด้านวัฒนธรรม  การเผยแพร่วัฒนธรรมอเมริกันเป็นไปอย่างเข้มข้นผ่านสื่อประเภทต่างๆ ความจริงวัฒนธรรมเอเชีย โดยเฉพาะของจีนเองก็มีแนวโน้มการเผยแพร่ที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน เพียงแต่ยังมีจำนวนสื่อและระบบการตลาดที่เป็นรองฝ่ายอเมริกัน ต่อไปคาดว่าจะสามารถพัฒนาได้มากขึ้น ประเด็นวัฒนธรรมมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นสิ่งที่แสดงถึง “อิทธิพลครอบงำ” ความคิดและจารีตของชาติอื่นๆ เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อที่มีประสิทธิภาพสูงสุด       เหตุผลกว้างๆเท่าที่ได้ประมวลมาดังกล่าวน่าจะเป็นเครื่องชี้วัดได้บางส่วนว่า อเมริกาในทศวรรษหน้า จะเป็นอย่างไร  และที่สำคัญ ประเทศไทยควรกำหนดท่าทีอย่างไรต่อบรรดาประเทศที่ถือว่ามีอิทธิพลต่อโลกได้อย่างถูกต้อง การวางน้ำหนักความสัมพันธ์อย่างเข้าใจ บนฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริงทั้งหมด      เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐของไทย คงเข้าใจว่า เราต้องดีลกับประเทศมหาอำนาจแต่ละค่ายอย่างถูกต้องได้อย่างไร รวมถึงภาคเอกชนด้วยเช่นกัน ในยามที่โลกต่อเชื่อมถึงกันทั้งหมด มากกว่ายุคใดๆที่ผ่านมา…