แสงไทย เค้าภูไทย โครงการคนละครึ่งผ่านไปสองรอบ มองว่าเป็นความสำเร็จ แต่ที่จริงแล้ว สำเร็จเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งเป็นภาระหนี้ต่อครัวเรือนและสร้างจีดีพีลวง การให้ความสำคัญต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) โดยเชื่อว่าเป็นตัวชี้วัดความเติบโตของเศรษฐกิจดูออกจะเป็นการหลอกตัวเอง เพราะเป็นภาพรวม ตัวเลขสูง ซึ่งเมื่อนำมาเฉลี่ยต่อหัวแล้ว จะดูเหมือนว่าคนไทยกินดีอยู่ดี มีสุข มีรายได้สูง แต่แท้จริงแล้ว เป็นภาพลวงตา ผู้ที่สร้างจีดีพีสูงๆ มีเพียงมหาเศรษฐีหรือวิสาหกิจเพียงไม่กี่รายเท่านั้น หากดูที่องค์ประกอบของจีดีพีแล้ว จะพบว่า ประชากรทั้งประเทศมีส่วนร่วมแท้จริงก็แต่ภาคการบริโภคภายในประเทศ (domestic consumption) หรือการใช้จ่ายในประเทศ (domestic expenditure) องค์ประกอบหรือเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีก 4 ตัวคือการลงทุนภายในประเทศ(investment) เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการรากหญ้ามีส่วนร่วมน้อยกว่าบรรดาเจ้าสัว บรรษัท บริษัทขนาดใหญ่ คือมีสัดส่วนแค่ 1 ต่อ 90 เพราะการถือครองสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในกำมือของคนไม่กี่ตระกูล ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐ (government spending) ไม่ต้องพูดถึง เป็นค่าก่อสร้างสาธารณูปโภค ซื้ออาวุธ เงินเดือนข้าราชการ ค่าจัดซื้อจัดจ้างต่างๆฯลฯ แต่ละค่าใช้จ่ายล้วนไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือใช้จ่ายไม่มีประสิทธิภาพ งบค้างท่อ คือเบิกไปใช้ไม่ทัน มีทุกปีงบประมาณ การส่งออก(export) การนำเข้า (import) รายใหญ่ๆเป็นผู้นำรายได้เข้าประเทศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็นับเนื่องเป็นเครื่องยนต์ตัวหลังนี้ คือการส่งออกการท่องเที่ยว ตอนนี้เครื่องยนต์ตัวนี้แทบจะดับสนิทหลังไวรัสโควิด-19 ระบาด ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนจะสามารถ reopen เปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวได้ ยิ่งขณะนี้ โควิด ระลอก 2 ซึ่งรุนแรงกว่าระลอกแรกหลายเท่าตัว ก็ยิ่งกังวลกันว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะยังไม่ฟื้นตัวไปจนกว่าปลายปีนี้ อุตสาหกรรมการส่งออกนั้น ปีนี้คงจะย่อตัวตามเศรษฐกิจโลกซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด19 ไม่ต่างจากเรา รัฐบาลจึงหันหาผลผลิตทางอื่นมาทดแทนหรือเสริมรายได้ที่มาจากนอกประเทศ ซึ่งก็มีอยู่ 2 ตัวคือการใช้จ่ายของรัฐบาลกับการใช้จ่ายของประชาชน ด้านการลงทุนนั้น หดหายไปกับการจากไปของทุนญี่ปุ่น ที่ย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามกว่า 70% แต่การใช้จ่ายภายในประเทศจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนหรือผู้บริโภคมีกำลังซื้อ รัฐบาลก็เลยสร้างกำลังซื้อจำแลงด้วยการแจกเงินประชาชนไป “ชิม ช้อป ใช้” กันดื้อๆ ถัดมาก็ “คนละครึ่ง” ให้คนที่เข้าร่วมโครงการจ่ายซื้อสินค้าในราคาครึ่งหนึ่ง รัฐจ่ายแทนอีกครึ่ง เป็นการสร้างจีดีพีลวง คือรัฐโยนเงินไปเข้าจีดีพีครึ่งหนึ่ง ส่วนประชาชนก็ต้องจ่ายเงินอนาคตครึ่งหนึ่ง เพราะการเข้าโครงการนี้มีเงื่อนไขว่าจะต้องซื้อวันละเท่านั้น เท่านี้ สิ่งของที่ไม่จำเป็นก็อาจจะต้องซื้อเพื่อให้ได้สิทธิ์ซื้อ เงินก็จะหมุนแต่ภายในกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการ ทั้งผู้บริโภคและผู้ขายสินค้าและบริการ อาจจะมองว่า กระตุ้นการหมุนเวียนในห่วงโซ่อุปทานหรือ supply chain แต่แท้จริงแล้ว มันหมุนแค่รอบสั้นๆเท่านั้น หากทำแบบญี่ปุ่นและเยอรมนี ที่แทนที่จะหว่านเงินแบบไทย แต่กลับใช้วิธีอัดเงินเข้าไปที่ผู้ประกอบการ ญี่ปุ่น “คนละครึ่ง” ระหว่างรัฐบาลกับ ผู้ประกอบการ เพื่อให้อยู่ได้ มีเงินจ่ายค่าจ้าง ทำให้พนักงานไม่ถูกลดหรือเลิกจ้าง ยังคงได้รับค่าจ้างตามปกติ เยอรมนีให้มากกว่า คือ 60% ของเงินที่จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างลูกจ้างแรงงาน ผลก็คือ บริษัทอยู่ได้ ลูกจ้างก็มีรายได้จับจ่ายใช้สอยตามปกติเหมือนไม่มีโควิด-19 ระบาด ตัวเลข domestic expenditure ก็เดินและหมุนเวียนเป็นวงกว้าง ครบวงจรห่วงโซ่อุปทาน เพราะผู้บริโภคมีเสรีในการซื้อหาสินค้าและบริการ ไม่ได้ถูกจำกัดแหล่งซื้อและจำนวนเงินที่ต้องซื้อเหมือนพวกคนละครึ่งเมืองไทย ห่วงโซ่อุปทานก็เป็นไปตามธรรมชาติ กระจายไปทุกแขนง ทุกสาขาการผลิต การบริโภค ไทยจะทำแบบนั้นได้ไหม ? ทำได้ เพราะยังมีช่องว่างเพดานเงินกู้ต่อจีดีพี ที่ขยับขึ้นไปถึง 70% อยู่อีกถึง 20% ว่าแต่ว่า เมื่อก่อหนี้มาเพื่อขยายตัวเลขจีดีพีแบบฝืนธรรมชาติ ฝืนการเผชิญ new normal เช่นนี้ จะมิกลายเป็นการสร้างหนี้เกินตัวหรือ ? เพราะตอนนี้ หนี้ต่อหัวของคนไทยที่รัฐสร้างให้นั้น ทำ new high สูงที่สุดในรอบ 18 ปีแล้ว