ดร. วิชัย พยัคฆโส [email protected] กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังทุ่มเทนโยบายและงบประมาณผลักดันคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยในหลายๆ มิติ ทั้งการปลูกข้าว – พืชแปลงใหญ่ การปลูกพืชทดแทน รวมถึงเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ พอจะเริ่มเห็นผลกันบ้างแล้ว แต่ยังไม่เห็นมาตรการอาหารปลอดภัยที่เป็นปัจจัยสำคัญต่ออาหารโภชนาการเพื่อสุขภาพที่เป็นปัจจัยต้นน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ได้ข่าวเกษตรกรเรียกร้องการแก้ไขการใช้สารพิษในอุตสาหกรรมเกษตรที่มีผลต่อชีวิต ร่างกาย ทั้งของเกษตรกร และผู้บริโภค ในขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ทางเกษตรอยู่ในอันดับที่ 48 ของโลก แต่ใช้ยาฆ่าแมลงมาเป็นอันดับ 5 และยาฆ่าหญ้า อันดับ 4 ของโลก และนับวันจะมากขึ้น สารเคมีที่นำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรปี 2559 มีปริมาณมากถึง 160 ล้าน กก. มูลค่ามากกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ประกอบไปด้วยสารกำจัดแมลง สารป้องกันและกำจัดโรคพืช สารกำจัดวัชพืช สารกำจัดไร สารกำจัดหนู สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช สารกำจัดหอยและหอยทาก สารรมควันพืช ในจำนวน 8 ประเภทนี้ สารกำจัดวัชพืชมีปริมาณมากกว่า 125 ล้าน กก. มูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาท ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหาของเกษตรกรและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะยาฆ่าหญ้า เกษตรกรส่วนใหญ่ยังใช้กันแพร่หลายมีการนำเข้ามากกว่า 2,000 ล้านบาท และเกษตรกรมีปัญหาด้านสุขภาพรวมถึงแก่ชีวิตก็มี จากการที่เกษตรกรไปเรียกร้องกับกรมวิชาการเกษตรที่อยากให้รัฐบาลควบคุมสารพิษเหล่านี้ แต่ฟังได้ความว่ากรมวิชาการเกษตรยังไม่ยอมรับ เพราะยังไม่มีผลจากการวิจัยหรือทดลองในห้องแลปที่เชื่อถือได้ ทำให้เกษตรกรอาจรวมตัวเรียกร้องต่อรัฐบาลครั้งใหญ่ มีข้อมูลจาก Thai – PAN (Thailand Pesticide Alert Net Work) ได้จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร และสุ่มตรวจในแม่น้ำน่านที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่น่าตกใจ เพราะมีสารพิษ เจือปนที่มีปริมาณเกินกว่ามาตรฐาน 1. พบอาทราซีน เฉลี่ย 12.29 ไมโครกรัม/ลิตร ในน้ำประปามากกว่ามาตรฐานของแคนาดา 2 เท่า มากกว่ามาตรฐานของออสเตรเลีย 24.5 เท่า 2. พบอาทราซีน ในน้ำดื่มบรรจุขวด 8 อำเภอ เฉลี่ย 18.78 ไมโครกรัม/ลิตร สูงกว่ามาตรฐาน 3. พบพาราควอท และไกลโฟเลท เกินมาตรฐานทั้ง 19 ตัวอย่าง และพบคลอไพรีฟอส เกินมาตรฐาน 15 ตัวอย่าง จากการเก็บตัวอย่าง 19 ตัวอย่าง นอกจากนี้ Thai – PAN ได้สุ่มตรวจตั้งแต่ปี 2555 พบว่าร้อยละ 60 – 70 ของผักผลไม้ยอดนิยมที่คนไทยชอบรับประทานมียาฆ่าแมลง ยาฆ่าโรคพืช และสารเคมีร้ายแรงที่ห้ามใช้ทั้งโลกปะปนอยู่ โดยเมื่อ 4 พฤษภาคม 2559 ได้แถลงข่าวว่าได้เก็บตัวอย่างผัก 10 ชนิด ผลไม้ 6 ชนิด รวม 138 ตัวอย่าง ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ กะเพรา และพริกแดง ผลไม้ได้แก่ แตงโม มะม่วง มะม่วงน้ำดอกไม้ มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง และส้มสายน้ำผึ้ง โดยเก็บตัวอย่างจากตลาดสด และซุปเปอร์มาร์เก็ตส่งไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการในอังกฤษ พบว่าสารพิษตกค้าง ได้แก่ พริกแดง 100% กระเพราและถั่วฝักยาว 66.67% คะน้า 55.56% ส้มสายน้ำผึ้งและฝรั่ง 100% แก้วมังกร มะละกอ มะม่วงน้ำดอกไม้ เกินกว่า 71.4% ยิ่งกว่านั้นผักและผลไม้ “ปลอดสารพิษ” ประทับตรา “Q” ซึ่งได้รับการรับรองจาก มกอช. พบว่ามีสารพิษสูงถึง 57.1% รวมถึงพืชผักอินทรีย์ยังพบสารพิษตกค้าง สูงเกินมาตรฐาน 25% ของจำนวนตัวอย่าง เรื่องที่เขียนมาทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งจากการตรวจพบตามที่ Thai – PAN ให้ข้อมูล เท็จจริงเพียงใดกรมวิชาการเกษตรพึงรับไว้ตรวจสอบ เพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรที่เรียกร้องกันอยู่ รวมถึงต้องตระหนักถึงสุขภาพของผู้บริโภคทั้งคนไทยและต่างชาติ เพื่อให้ประเทศไทยเป็น “ครัวโลก” อย่างแท้จริง