ทวี สุรฤทธิกุล บทความนี้เขียนโดยคนที่เกิดในครอบครัวตำรวจและเคยทำงานปฏิรูปตำรวจ ปัญหาใหญ่ของตำรวจไทยไม่ใช่ตำรวจไม่ทำหน้าที่ตามกฎหมาย หรือการใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ แต่เป็นปัญหาของการมีทัศนคติในวิชาชีพที่ผิด ๆ และระบบวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองที่ครอบงำวงการตำรวจนั้นมากกว่า แปลง่าย ๆ ว่า “ตำรวจชั่วเพราะสังคมพาให้เป็นไป” นั่นเอง ในอดีตอาชีพตำรวจไม่ค่อยเป็นที่พึงปรารถนาสำหรับคนไทยสักเท่าใด ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่มีบิดาเป็นตำรวจ(คือพระองค์เจ้าคำรบ อดีตอธิบดีตำรวจสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)เล่าว่า สมัยก่อนกรมตำรวจมีชื่อว่า “กรมตระเวน” เมื่อแรกก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น หาคนที่จะมาเป็นตำรวจยากมาก จึงมีการจ้างคนต่างชาติมาเป็น “พลตระเวน” หรือตำรวจในยุคแรกนั้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพวกแขกอินเดีย เนื่องด้วยที่ปรึกษาในการวางระบบงานตำรวจในยุคแรก ๆ นั้นเป็นชาวอังกฤษ ซึ่งได้ปกครองอยู่ในอินเดียในระหว่างนั้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่กรมตระเวนได้เปลี่ยนเป็นกรมตำรวจแล้วจึงได้มีคนไทยเข้ามาทำหน้าที่เป็นตำรวจทั้งหมด พวกแขกที่ตกงานจึงไปทำงานเฝ้าห้างร้านและบ้านผู้มีอันจะกิน อย่างที่เรียกว่า “แขกยาม” (ในสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็กอยู่ ราว พ.ศ. 2501 - 2505 ในย่านที่อยู่อาศัยที่มีผู้คนหนาแน่น อย่างเช่น ย่านอาคารสงเคราะห์ห้วยขวางที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ ก็ยังใช้แขกยามคอยตีแผ่นเหล็ก บอกเวลาโมงยามต่าง ๆ ตลอดทั้งคืน รวมถึงคอยเตือนภัย เช่น มีขโมย หรือไฟไหม้) ตำรวจไทยในระยะยุคแรกไม่อาจแยกความเป็น “คนของนาย” ออกจากกันได้เลย เพราะตำรวจถูกใช้ให้ไปดูแลบรรดาบ้านและวังของเจ้านายต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เล่าอีกว่า แม่นมของท่านคนหนึ่งคือมารดาของพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ (อธิบดีกรมตำรวจในยุค “ตำรวจจครองเมือง” ภายใต้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2490 - 2500) เพราะบิดาของพลตำรวจเอกเผ่าเป็นนายตำรวจติดตามบิดาของท่านที่เป็นอธิบดีตำรวจ และอาศัยอยู่บริเวณใกล้ ๆ กัน เช่นเดียวกันกับวังของเจ้านายองค์อื่น ๆ ที่ต้องมี “ตำรวจประจำบ้าน” อยู่ทุกแห่ง ดังนั้นสิ่งนี้จึงน่าจะเป็นวัฒนธรรมของตำรวจที่สืบเนื่องกันมา ที่จะต้องมีความใกล้ชิดกับ “เจ้าใหญ่นายโต” ซึ่งวัฒนธรรมนี้ต่อมาภายหลังตำรวจก็ยังรักษาไว้ แม้จะไม่ได้ไปเฝ้าบ้านของเจ้าใหญ่นายโตดังเดิม แต่ก็ยังไปแอบอิงอาศัยคนใหญ่คนโตในทางธุรกิจ เช่น ไปเฝ้าห้างหรือร้านทอง เป็นต้น (ปัจจุบันแม้ตำรวจไม่ได้ไปเฝ้าร้านทองเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังไปเฝ้าสถานที่อโคจรบางแห่ง อย่างที่เป็นข่าว เช่น สถานบันเทิง และบ่อนการพนัน เป็นต้น) อาชีพตำรวจเป็นที่เฟื่องฟูขึ้นในสมัยต่อมาก็เพราะอาชีพนี้ได้ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ ซึ่งหากพิจารณาด้วยโครงสร้างสังคมไทยแบบโบราณ ก็จะเห็นว่าอาชีพตำรวจนี้สอดคล้องกับระบอบศักดินาหรือลัทธิ “เจ้าขุนมูลนาย” มากที่สุด การได้อยู่เฝ้าบ้านเจ้านายในสมัยก่อนและกับผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ ในสมัยต่อมา ได้ทำให้ตำรวจเป็น “ตำรวจของนาย” มากกว่า “ตำรวจของประชาชน” ทุกวันนี้ตำรวจที่เก่ง ๆ จะต้อง “เช้าถึง เย็นถึง” คือต้องแวะเวียนไปให้เจ้านายเห็นหน้าอยู่บ่อย ๆ ตำรวจที่เติบโตเร็ว ๆ จึงมีความเชี่ยวชาญในการ “ประจบ” มากกว่าที่จะไป “ประจัญบาน” ปราบปรามอาชญากรรม (ลองไปดูข้อมูลประวัติของนายตำรวจที่ดำรงตำแหน่งสูง ๆ จะพบว่า 9 ใน 10 คน จะต้องมีตำแหน่งเป็นนายเวรของอดีตตำรวจผู้ใหญ่มาก่อน รวมถึงความใกล้ชิดกับนักการเมือง หรือเคยเป็นตำรวจติดตามนักการเมืองนั้นด้วย อ้อ มีตัวอย่างของนายตำรวจคนหนึ่ง แม้จะไม่ได้เป็นผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ก็ได้เป็นถึง “ผู้บัญชาการประเทศ” ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ซึ่งในอดีตก็เคยเป็นนายตำรวจติดตามนักการเมืองมาก่อน) นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการบริหารงานตำรวจส่วนหนึ่งมีข้อสรุปว่า ตำรวจไทยมา “ชั่ว” ในยุคเผด็จการทหาร คือเริ่มในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั่นเอง แต่ถ้าหากจะมองอีกมุมหนึ่งตามที่ผู้เขียนได้อ้างความเห็นของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มานี้ ก็ต้องตอบด้วยสำนวนของจิ๊กโก๋โบราณว่า “มันมีมาตั้งนานแล้วหละลุง” เพราะสังคมไทยถูกครอบงำด้วยอำนาจเป็นลำดับชั้น เป็นสังคมที่ทุกคนอยากมีอำนาจ ใครที่มีอำนาจมากก็จะเป็นผู้ที่ “มั่งคั่งและมั่นคง” มากตามไปด้วย และเป็นไปภายใต้ระบบ “อำนาจต่ออำนาจ” คือมีการถ่ายทอด ปลูกฝังต่อ ๆ กันไป รุ่นแล้วรุ่นเล่า อย่างอาชีพตำรวจนี้ถ้าเทียบกับทหารจะมองเห็น “หายนะ” นั้นมากกว่า คือ ทหารอาจจะมีรุ่นมีเหล่า และเติบโตเกาะกลุ่มกันไปภายใต้วัฒนธรรมของการเป็นรุ่นและเหล่านั้นเป็นหลัก แต่ตำรวจไม่ได้ยึดระบบรุ่นนั้นเท่าใด แต่เป็นระบบที่ “ยึดนาย” และสามารถที่จะ “ข้ามหัว” กันและกันได้อย่างเป็นปกติ แต่ที่เป็นหายนะชั่วร้ายกว่านั้นก็คือ การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งที่ใช้ผลประโยชน์แลกเปลี่ยน อย่างที่เรียกว่า “ซื้อตำแหน่ง” จนเป็นปกติอีกเช่นกัน ผู้เขียนมีบิดาเป็นตำรวจ บิดามีลูกชาย 3 คน เป็นตำรวจเสีย 2 คน คือคนโตกับคนสุดท้อง ตอนที่ผู้เขียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บิดาก็ซื้อใบสมัครสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารมาให้ ด้วยหวังว่าจะได้เป็นตำรวจตามพี่ชายไปด้วยอีกคนหนึ่ง แต่บังเอิญวันที่จะต้องไปสอบผู้เขียนเกิดไม่สบาย จึงไม่ได้ไปสอบ (ความจริงคือไม่อยากเป็นตำรวจ ด้วยรู้สึกว่า “ไม่ดี” มาแต่ที่เห็นพ่อทำงานเป็นตำรวจมานั้น และด้วยความรู้สึกส่วนตัวอีกอย่างหนึ่งว่า “ไม่น่าจะเหมาะกับตัวเอง” นั้นอีกส่วนหนึ่ง) ต่อมาเมื่อมาทำหน้าที่นักวิชาการและได้ทำงานการเมือง ก็ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์เข้าไปคลุกคลีกับการปฏิรูปตำรวจอยู่ 2-3 ช่วง แต่มันช่างเป็นงานที่ยากเสียเหลือเกิน ซึ่งจะได้พรรณนาให้ฟังต่อไป บางคนบอกว่าปฏิรูปตำรวจเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ก็ไม่ควรให้มีตำรวจที่แย่ ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้