เสรี พงศ์พิศ www.phongphit โควิดมารอบสองหนักกว่าเดิม เร่งการเปลี่ยนแปลงที่มาก่อนหน้านี้ทั้งจากเทคโนโลยีและโควิด ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ ชีวิตหลายคนถึงทางตัน กระนั้น ทางเลือกทางรอดของชาวบ้านชนบทไทยก็ยังพอมี บนฐานภูมิปัญญาชาวบ้านที่กำลังแพร่หลายเติบโต 1.น้ำ เรื่องใหญ่หัวใจของการเกษตร ที่แก้ไม่ได้สักที มีแต่คิดโครงการระดับภาคระดับชาติ เมกะโปรเจกต์ ขณะที่ชาวบ้านพัฒนาธนาคารน้ำใต้ดินมาหลายปี ที่แก้ปัญหาได้ในระดับครัวเรือนและชุมชนโดยไม่ต้องลงทุนมากมาย หลายอบต. ลงมือทำในพื้นที่ของตน แก้ปัญหาฝนแล้งน้ำท่วมได้ดี เมืองไทยไม่ได้ขาดฝน แต่ตกลงมาแล้วก็หาย ไม่ได้เก็บไว้บนดินใต้ดินอย่างเพียงพอ มีที่เขื่อน แม่น้ำ ห้วยหนองคลองบึง ก็ดึงเอาสูบเอาไปใช้หมด หน้าแล้งมาก็แห้ง เพราะมีแต่การใช้ไม่มีการเติมในรูปแบบอื่น ธนาคารน้ำใต้ดิน คือ การเติมน้ำฝนน้ำใช้ลงดินด้วยวิธีการที่เป็นวิชาการ ดูภูมินิเวศ ทางน้ำ และขุดบ่อ ขุดสระ ทั้งระบบเปิดระบบปิดอย่างเป็นเครือข่าย ได้ผลน่าพอใจ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อดีตอธิบดีกรมการปกครองท้องถิ่นให้การสนับสนุนโครงการนี้ และมีนโยบายให้อบต.ทั่วประเทศนำไปปฏิบัติ แต่อยู่ในตำแหน่งไม่นาน มีนโยบาย มีใจแต่ไม่มีปัจจัย ก็ทำยาก ยิ่งอบต.ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าใจเรื่องนี้ ไม่ได้สนใจเรียนรู้ด้วย ชาวบ้านต้องดิ้นรนหาทางเอาเอง ธนาคารน้ำใต้ดินไม่ได้ช่วยแต่เรื่องน้ำเพื่อการเกษตร แต่ช่วยป้องกันน้ำท่วมในเมือง ในชนบท ป้องกันน้ำขังทำให้เกิดเชื้อโรคยุงลาย เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ถ้าไม่ทำแบบบูรณาการระหว่างกระทรวงก็คงทำไม่ได้ เพราะต่างคนต่างก็มีโครงการของตนเอง ยิ่งธนาคารน้ำใต้ดินริเริ่มจากพระ จากครูบ้านนอก จากนายกอบต.เล็กๆ ยิ่งไม่มีใครคิดว่าจะแก้ปัญหาได้ โดยไม่ได้ไปดูของจริงว่าเขาทำอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร 2.เกริกโมเดล นาที่ดร.เกริก มีมุ่งกิจบอกว่า ทำ 1 ไร่ได้ข้าว 5 ตัน เคล็ดลับอยู่ที่การจัดการดิน เตรียมดินให้ดีก่อนเป็นเดือนและเพิ่มเติมอีก ปลูกเพียงไร่เดียวแต่ดูแลยิ่งกว่าลูก โดยการปลูกทีละต้น ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ดูแลหญ้าและให้น้ำแต่เพียงเล็กน้อย เป็นนาแห้ง วันนี้ชาวนาทำนาได้ข้าวไม่ถึงครึ่งตันต่อไร่ ใช้น้ำมาก ใช้พันธุ์ข้าวมาก ถ้ามีที่เพียง 5 ไร่ ทำนาไร่เดียว ที่เหลือทำเกษตรผสมผสานแบบโคกหนองนา ถ้ามีที่มากหน่อยก็ปลูกไม้หลายชนิดตามแนวคิดของกร.เกริก ผู้เชี่ยวชาญด้านวนเกษตรสผมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ยืนยันว่า ปลูกไม่ถึง 10 ปีมีความมั่นคงแน่นอน การทำเกษตรด้วยความรู้และปัญญาสามารถทำให้อยู่รอดและพอเพียงได้ ดร.เกริกพิสูจน์กับลูกศิษย์มากมายมาหลายปีทั่วประเทศ เคล็ดลับอยู่ที่การทำให้ดินอุดมสมบูรณ์แบบธรรมชาติ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ทรงเคยทำเป็นแบบอย่างมาทั่วประเทศแล้ว เมื่อทรงทำโครงการบนพื้นที่ดินเลวดินเสีย แต่ทำให้กลับฟื้นคืนมีชีวิตใหม่ได้ ไปดูที่ห้วยทราย ชะอำ เขาหินซ้อน ฉะเชิงเทรา โครงการช่างหัวมัน เพชรบุรี และที่อื่นๆ รวมไปถึงการจัดการต้นไม้อย่างมีวิชาและมีแบบแผน ที่ดร.เกริกสอนให้ในยูทูบทั้งหมดว่าทำอย่างไร เพียงเข้าไปดู ไปศึกษาด้วยตนเองด้วยการลงมือทำ เชื่อว่า มีน้ำ มีดิน มีข้าวปลาอาหารเลี้ยงตนเอง มีเหลือขายได้เงินใช้ด้วย ชีวิตก็มีความมั่นคงวันนี้และวันหน้าแบบพึ่งพาตนเอง 3.วิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ เป็นเครื่องมือเพื่อการรวมกลุ่มที่ช่วยชาวบ้านให้แก้ปัญหาเรื่องการผลิต การแปรรูป การตลาดได้ดีกว่าการทำคนเดียว ในประเทศพัฒนาเขามีสหกรณ์เป็นกลไกสำคัญมากของเกษตรกร สามารถตัดพ่อค้าคนกลางออกไป มีกำลังต่อรองกับผู้บริโภค กับตลาด กับรัฐ ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย วันนี้มีวิสาหกิจชุมชนอยู่กว่า 70,000 แห่ง แต่ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจริงจังจากภาครัฐ ส่วนใหญ่ตั้งกันขึ้นมาเพราะเจ้าหน้าที่ไปขอร้องหรือไปบอกว่า จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ โดยไม่ได้มีความช่วยเหลืออะไรอื่น โดยเฉพาะกระบวนการผลิต การแปรรูป การตลาด วันนี้ โลกเปลี่ยนไปแล้ว โอกาสน่าจะเป็นของชาวบ้านมากขึ้น ผู้ผลิตสามารถขายตรงส่งถึงผู้บริโภคออนไลน์ได้ ถ้าเกษตรกรรวมตัวกันทางวิสาหกิจชุมชนได้หนักแน่น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ดี ติดต่อกับผู้บริโภคโดยตรง การแก้ปัญหาต่างๆ น่าจะดีขึ้น มีตัวอย่างวิสาหกิจชุมชนประเภทก้าวหน้าที่ทำได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังน้อยมาก ทั้งๆ ที่มีศักยภาพสูงมาก 4.หมู่บ้านออนไลน์ การพัฒนาใช้สมาร์ทโฟนเพื่อค้าขายทำได้หมดแล้ว มีแพลตฟอร์ม มีแอพที่มีคนใช้เป็น นำมาบริหารจัดการกระบวนการผลิต การแปรรูป การตลาด ประสานกับผู้บริโภค สถาบันการศึกษาเพื่อขอความรู้การวิจัย ภาคธุรกิจเพื่อขอความร่วมมือเรื่องการตลาด เทคโนโลยีก็ให้ลูกหลานที่มีความรู้ช่วยกันทำ โควิดมา โอกาสดีที่ชาวบ้านจะพัฒนานิวนอร์มอล สังคมคนเมืองจะตามชาวบ้านมากขึ้น จะไปเที่ยวหมู่บ้าน ไปชมทุ่งนาป่าเขา พักโฮมสเตย์ ไปกินอาหารพื้นบ้านอร่อยๆ และดีต่อสุขภาพ ไปซื้อข้าวของที่ผลิตในหมู่บ้านมากขึ้น ชาวบ้านทำได้ทั้งผลิตแล้วไปหาตลาด และให้ตลาดมาหา เห็นสารคดีและรายการดีๆ วันนี้พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงในชทบทไปไม่น้อยแล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ดีใจที่ได้เห็นตามที่ฝันไว้เมื่อได้เริ่มทำงานกับชุมชนชนบทมาสี่สิบกว่าปีก่อน จนตั้งชื่อมูลนิธิว่า “มูลนิธิหมู่บ้าน” เพราะเชื่อว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ดังที่ท่านมหาตมะคานธีได้บอกไว้ วันนี้เรื่องราวดีๆ ที่เป็นจิ๊กซอว์กำลังมาต่อกันให้เห็นภาพที่น่าดูมากยิ่งขึ้นแล้ว เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ชาวบ้านส่วนใหญ่คงตามไม่ทัน แต่ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นปัญญาญาณมาหลายชั่วอายุคน ส่งต่อสิ่งดีๆ เป็นมรดกมาให้เรา ถ้าได้รับการส่งเสริมสนับสนุนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาอย่างเหมาะสม ภูมิปัญญาชาวบ้านจะมีคุณค่าและมูลค่ามหาศาลช่วยสังคมโดยรวมได้