ทวี สุรฤทธิกุล ตำรวจเลวอยู่ได้ก็เพราะนายเลวคอยเกื้อหนุน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า “ความกร่าง” ของตำรวจเป็นผลจากการอุปถัมภ์ของ “เจ้านาย” ยิ่งตำรวจคนไหนใกล้ชิดเจ้านายมาก ๆ ก็จะยิ่งเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ไปอย่างรวดเร็ว โดยที่ตำรวจคนนั้นก็ต้อง “อุปถัมภ์” เจ้านายด้วยเช่นเดียวกัน ด้วยการ “ส่งส่วย” คือคอยหาทรัพย์สินเงินทองให้แก่เจ้านาย เพื่อที่ตนจะได้เป็นที่จดจำหรือ “เข้าหูเข้าตา” เจ้านายอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อถึงฤดูกาลแต่งตั้งโยกย้ายก็จะได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรียกกรมตำรวจ(ก่อนที่จะมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเวลาต่อมา)ว่า “กรมทศกรีฑา” ตามที่มีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นที่ตำรวจมาโอดครวญกับท่านว่า ในเวลาที่แต่งตั้งโยกย้ายแต่ละครั้งนั้น ช่างเป็นช่วงเวลาที่ทุกข์ทรมานและเหนื่อยยากแสนสาหัสมาก เพราะจะต้อง “วิ่งเต้น” ไปหานายคนโน้นคนนี้ เพื่อแข่งขันกับตำรวจคนอื่น ๆ อีกจำนวนมาก เหมือนว่าต้องแข่งขันถึงกีฬาสิบประเภทที่ต้องชนะให้มากที่สุดจึงจะได้แชมป์ ที่เรียกว่า “ทศกรีฑา” ดังกล่าว ส่วนตำรวจที่มีเส้นสายได้เจ้านายสนับสนุนด้วยดี ก็เหมือนเล่นแค่กีฬา “ค้ำถ่อ” คือมีไม้สปริงมาช่วยส่งแรงให้กระโดดข้ามคานสูง ๆ ได้อย่างง่ายดาย ในสมัยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ปกครองประเทศช่วง พ.ศ. 2549 - 2551 ผู้เขียนจับพลัดจับผลูได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ที่มีพลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธานกรรมการ โดยคณะกรรมการชุดนี้เน้นการทำงานไปที่การ “ศึกษาวิจัย” ถึงปัญหาและแนวทางที่จะปฏิรูปตำรวจเป็นหลัก จนสามารถผลิตเป็นเอกสารได้กว่าสิบเล่ม แต่เพียงแค่ในช่วงเวลาไม่ถึงปีนั้นก็สามารถผลักดันผลการวิจัยนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อการพัฒนาระบบงานตำรวจในตอนปลายปี 2550 อย่างไรก็ตามก็ได้มีอดีตนายตำรวจกลุ่มหนึ่งทำหนังสือยื่นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ทำการศึกษาใหม่ พอดีกับที่สภาได้สิ้นวาระลงในต้นปี 2551 จึงทำให้พระราชบัญญัตินี้ตกไป สิ่งที่ทำให้อดีตนายตำรวจกลุ่มดังกล่าวได้ยื่นเรื่องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติยืดเวลาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเพื่อการพัฒนาระบบงานตำรวจจนทำให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตกไปก็คือ การตัดวงจรอุปถัมภ์ของตำรวจในส่วนกลาง ซึ่งนายตำรวจเหล่านี้เคยได้อาศัยอยู่กินอย่าง “อิ่มหมีพีมัน” กล่าวคือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ การพิจารณาทุกขั้นตอนจะเอามาทำกันในส่วนกลาง โดยบรรดาเจ้านายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติแทบทั้งหมด และอย่างที่ทราบกันตำรวจของไทยไม่ได้มีเจ้านายแค่ผู้บัญชาการตำรวจในระดับต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังมีเจ้านายที่เป็นนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ อยู่ด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้ล้วนแต่มารวมศูนย์กันอยู่ในรัฐบาลและทหารตำรวจ “ใหญ่ ๆ” ทั้งหลายนั่นเอง แล้วคนกลุ่มนี้ก็มีบทบาทในการ “ชี้เป็นชี้ตาย” ต่ออนาคตของนายตำรวจที่จะได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายในแต่ละครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่งด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อแต่งตั้งเอานายตำรวจ “ไปใช้งาน” ตามที่เจ้านายเหล่านั้นจะบงการต่อไป ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติใน พ.ศ. 2550 ได้ตัดอำนาจของบรรดาเจ้านายในส่วนกลางออกไปส่วนหนึ่ง โดยไปเพิ่มอำนาจในส่วนภูมิภาคคือกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 นั้นให้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนในการประเมินผลและตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละโรงพัก พร้อมกับตั้งสำนักงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ขึ้นเป็นระดับกองบัญชาการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ประชาชนรวมทั้งตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถร้องเรียนและให้ข้อมูลเพื่อขอความเป็นธรรมหรือความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ รวมถึงวางมาตรการป้องกันการแทรกแซงจากนักการเมือง ทั้งในการแต่งตั้งโยกย้ายและร่วมกันแสวงหาประโยชน์ ถ้าผู้เขียนจำไม่ผิด ขนาดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติในตอนนั้น ถึงกับบ่นว่า(อดีตนายตำรวจที่มาคัดค้าน)จะเอายังไงกัน รวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลายคนก็ออกมาให้ความเห็นทำนองว่า งานนี้(การล้มร่างพระราชบัญญัติพัฒนาระบบงานตำรวจ)ต้องมี “ขาใหญ่” คุมเกมอยู่แน่ ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือตำรวจใหญ่ ๆ ที่ยังหวงอำนาจอยู่นั่นเอง สำหรับส่วนตัวของผู้เขียนที่รู้สึกผิดหวังกับการเข้ามาขัดขวางของบรรดาอดีตนายตำรวจผู้ใหญ่เหล่านั้นเป็นอย่างมาก ก็ไม่ได้สิ้นหวังอะไรเท่าไรนัก เพราะทำใจมาแต่แรกแล้วว่างานนี้จะต้อง “ชนกำแพง” แน่นอน แต่ก็ตั้งความหวังว่าถ้ามีโอกาสอีกครั้งจะขอ “จัดหนัก” และทำให้สำเร็จให้จงได้ ถัดมาอีก 1 ปี ในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีเรื่องร้องเรียนถึงการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมของนายตำรวจระดับสารวัตรและรองผู้กำกับเข้ามาจำนวนมาก จนเกือบจะสิ้นเดือนธันวาคม 2551 แล้วก็ยังแต่งตั้งโยกย้ายไม่เสร็จ นายกรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยให้พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธาน ซึ่งผู้เขียนได้รับการทาบทามจากพลตำรวจเอกวสิษฐให้เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย ในฐานะที่เคยร่วมทำงานกับท่านในคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจเมื่อก่อนหน้านี้ จำได้ว่าคนที่มีบทบาทในเรื่องการสอบสวนในครั้งนั้นเป็นอย่างมากอีกท่านหนึ่งก็คือ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ที่เป็นนายกสภาทนายความแห่งประเทศไทยอยู่ในตอนนั้น คณะกรรมการชุดนี้ประชุมกันเกือบทุกวัน เพราะมีสำนวนเรื่องร้องเรียนนับร้อยเรื่อง แต่ก็สามารถสะสางให้เสร็จได้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน จนการแต่งตั้งโยกย้ายสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ แต่ที่นับว่าเป็นผลพลอยได้ที่มีคุณค่ามาก ๆ ก็คือ คณะกรรมการชุดนี้ได้วางระเบียบในการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรมไว้สำหรับให้ผู้บังคับบัญชาตำรวจได้ใช้ในการแต่งตั้งในครั้งต่อ ๆ มาด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็น “ไล่รื้อ” ระบบความโสโครกในการแต่งตั้งโยกย้ายของตำรวจได้มากพอสมควร (แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าระเบียบนี้ได้ถูก “ปรับแปลง” ในอีกไม่กี่ปีต่อมา จนทำให้ตำรวจกลับไปสู่วงจรอุบาทว์ดั้งเดิม) ว่ากันว่ายิ่งมีความคิดที่จะปฏิรูปตำรวจ ตำรวจก็ยิ่งมีวิธีเอาตัวรอดได้อยู่เสมอ