ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล ว่าไปแล้ว “ปัญหาสังคมยุคใหม่” เป็นปัญหาที่ทุกประเทศต่างมีปัญหาที่ค่อยๆ ผุดขึ้นมาใหม่แทบทั้งสิ้น โดยที่อาจไม่สนหรือไม่สนเลยว่า ประเทศจะปกครองโดย “ระบอบใด” แต่แน่นอนที่ ประชาชนนั้นต่าง “เคารพสิทธิตนเอง-เคารพกฎหมาย-เคารพสิทธิผู้อื่น-และปกป้องสิทธิตนเอง” และที่สำคัญที่สุด “เสรีภาพของตนเอง” นั่นอาจจะไม่ครอบคลุมทั้งหมดก็เป็นได้! ทั้งนี้ อาจจะไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ ตราบใดที่ไม่ได้ถูกล่วงล้ำหรือถูกเอาเปรียบ และแน่นอน “อิสรเสรีภาพ” คือ “ความต้องการของมนุษย์” นั้นอาจเป็น “ปรัชญาของมนุษย์” ใน “สังคมยุคใหม่” จนเด็กและเยาวชนยุคใหม่ไม่ค่อยอยากแต่งงานหรือมีลูกหลาน บางคนอยู่เป็นโสดจนอายุประมาณ 40 ปีหรือ 40 กว่าๆ หรือบางคนอาจไม่แต่งงานเลย ผิดกับยุคผมที่แต่งงานราวอายุ 25 ปีขึ้นไป โดยคิดว่าอายุมากแล้วที่จะมีบุตรธิดา อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่มักจะเป็นคนที่ใฝ่หา “ความเร็ว” กล่าวคือ การทำงานที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ถ้าไม่พอใจงานก็จะเปลี่ยนงานได้ง่าย เข้าข่าย “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ” หรือไม่ชอบก็ไม่ทำ เปลี่ยนงานไปเรื่อย หรือชอบทานอาหารนอกบ้าน เนื่องด้วยทำอาหารไม่เป็นเลย เพราะมีอาหารนอกบ้านให้ทานทุกระดับชั้น ตั้งแต่ริมถนนไปจนถึงภัตตาคารหรูหรา หรือไม่ก็ผ่อนรถเล็กๆ ราคา 4-5 แสนบาทไปจนถึงหลักล้าน แล้วแต่เงินเดือนของแต่ละคน ถามว่า คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในสังคมไทยที่เงินเดือนน้อย ก็จะต้องรอรถเมล์ชนิดรอยาวนานนับชั่วโมง บางคนกว่าจะกลับถึงบ้านได้เกือบ 22.00-23.00 น. กว่าจะเข้านอนได้เกือบสองยามหรือ 24.00 น. ตื่นนอนประมาณ 05.30 น. นอนเพียง 5 ชั่วโมงครึ่ง อาบน้ำแต่งตัว ออกจากบ้านประมาณ 06.30 น. ถึงที่ทำงานประมาณ 08.30 น. แล้วก็ทำงานตั้งแต่บัดนั้น จนไม่มีเวลาที่จะต้องทำอะไร ศึกษาหาข้อมูล อ่านหนังสือพิมพ์ ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง จึงทำให้คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้เรื่องความเป็นมาของสังคมเลย ทั้งนี้อาจเกิดกับคนทำงานระดับล่าง แต่พอไต่ระดับงานที่ค่อยๆ สูงขึ้นสู่ระดับกลางงานก็จะค่อยๆ มีเวลาได้อ่านหนังสือเก็บข้อมูลข่าวสาร คิดวางแผนได้บ้าง และที่สำคัญเงินเดือนจะมีเพิ่มมากขึ้น หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ก็หมายความว่า “งานระดับกลาง” ที่จะมีประสบการณ์มากขึ้นเพื่อที่จะได้ไต่สู่ระดับ “ผู้จัดการ-ผู้อำนวยการ” ในอนาคต ที่แน่นอนจะกลายเป็น “กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย-ผู้วางแผนสำหรับองค์การ” ทั้งนี้ ขอย้ำ “ประสบการณ์” เพียงแต่ว่า “สังคมบริบทยุคใหม่” ผู้คนจะไม่ค่อยมีเวลาให้กับครอบครัว หรือแม้กระทั่งตนเองที่จะหาเวลาหรือหามุมสงบที่จะทบทวนหรือ “หาหลักคิด” ที่จะค้นพบตนเองใน “เชิงปราชญ์-เชิงธรรมะ” หรือแม้กระทั่ง “พระเองก็ยังไม่มั่นใจเลยว่าเป็นพระจริงหรือพระปลอม” ดังนั้น “ความจริง-ความปลอม” ที่คนไทยมักแยกแยะไม่ออก ดังที่เคยกล่าวมาแล้วว่า คนไทยมักแยกแยะไม่ออกว่า “เนื้อหาสาระ” กับ “ความปลอม” คืออะไรหรือ “SUBSTANCE-เนื้อหาสาระ” กับ “กระพี้-SUPERFICIALITY” คืออะไร ถ้าใครสามารถแยกแยะและเข้าใจได้ว่า “ของจริง-ของปลอม” เส้นแบ่งอยู่ตรงไหน และแบ่งแยกได้นั่นล่ะ นับว่าคนๆ นั้นสามารถที่จะบรรลุได้มากพอสมควร และถ้าได้ศึกษาลึกซึ้งว่า “อะไรผิด ชอบ ชั่ว ดี” ด้วยแล้ว จะทำให้คนๆ นั้นสังเคราะห์ได้ถูก จนวิเคราะห์ได้ถูกว่า “สมควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยหรือไม่อย่างไรกับชีวิตแบบไหนอย่างไร” ประเด็นสำคัญ ก็คือว่า สังคมรุ่นใหม่จะหาคนที่คิดและสอนได้แบบนี้ยากมาก ถามว่าผมได้กล่าวมาโดยตลอดเสมือน “แผ่นเสียงตกร่อง” ว่าคนรุ่นใหม่ ไม่เข้าใจเลยว่าอะไรเป็นอะไร ว่ามีเวลาหรือไม่ในการทบทวนหรือ “อยู่นิ่งๆ สักพัก” เพื่อ “สะท้อน-ทบทวน” หรือ “REFLECTION!” โดยถ้าใครมีเวลาที่สามารถปลีกเวลาได้อ่านหนังสือหรือ “เสวนา” กับ “คนมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมะ-หลักของชีวิต” หรือ “พระสงฆ์องค์เจ้า” น่าจะดี เพียงแต่ถามว่า “คนยุคใหม่อาจไม่สนเลยก็ได้!” ความจริงของชีวิตคนยุคใหม่ ที่เราต้องยอมรับว่า “ไม่มีเวลา” หรือ “มักอ้างว่าไม่มีเวลา” จริงๆ แล้วถ้าเราฉุกคิดสักนิดว่า ถ้าเอาเวลาไว้คิดเพื่อ “ออกกำลังกายเพียง 15 นาที” และ “เอาเวลาไว้อยู่คนเดียวเพียง 10-20 นาที” เพื่อ “หามุมสงบ” และตั้งสติเพื่อมีสมาธิให้ได้ รับรองได้เลยว่า “น่าจะพัฒนาภูมิปัญญาได้บ้าง!” หรือ “หาความจริงของชีวิต (FACTS OF LIFE)” จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง! ปัญหาที่สังคมยุคใหม่นั้น นอกเหนือจากที่คนยุคใหม่ไม่ได้สนใจหาข้อมูลข่าวสารแล้ว ยังไม่รู้จักประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม แต่ที่เลวร้ายมากไปกว่านั้น บางคนยังทอดทิ้งบุพการี ญาติพี่น้องที่โดนปล่อยไว้อยู่คนเดียว ทำมาหากินจนแก่เฒ่า หรือไม่ก็เอาไปปล่อยไว้ที่บ้านพักคนชรา ผมเคยประสพพบเห็นด้วยตนเองที่บ้านพักคนชรา พอผมเอาเงินไปให้พร้อมของรับประทาน คุณยายร้องไห้โฮคิดถึงลูกหลานพร้อมบ่นว่า “ทำไมลูกหลานเอายายมาทิ้งแบบนี้ไม่เคยมาหาเลย!” เล่นเอาผมน้ำตาซึมเลยครับ! ถามว่า จะให้คนไทยกลับสู่สังคมยุคเดิมหรือ ก็คงไม่จำเป็นต้องเป็นขนาดนั้น เพียงแต่ว่า “เราจะทำอย่างไรให้ผสมผสานความดีงามของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และโอบอ้อมอารีของคนไทย ที่ไม่ทิ้งพ่อแม่ไปมาหาสู่กันบ้าง” และในขณะเดียวกัน “ผู้เฒ่าผู้แก่ก็อย่าเรียกร้องมากมายนัก อย่าบ่นมากพยายามช่วยเหลือลูกหลาน และอย่าทำตัวเป็นภาระให้แก่ลูกหลาน” เรียกว่า “อยู่ร่วมกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” เพียงแต่ว่า “จะสามารถหาครอบครัวแบบนี้ได้หรือไม่?” สังคมยุคใหม่ย่อมเปลี่ยนแปลงเป็นกรณีปกติธรรมดา แต่ไม่ควรเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกินเหตุ โดยทิ้ง “คุณค่า-คุณงามความดี” ของ “ความเป็นไทย” และ “ความมีเสน่ห์ของคนไทย!” มิเช่นนั้น “ความแตกแยก” ของสังคมไทยจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนเราอาจหนีไม่พ้นครับ!