พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ มีเพื่อนๆ และผู้อ่านถามเรื่องระบบการจัดการสุขาภิบาลในอเมริกาเรื่องขยะมูลฝอยมาจำนวนหนึ่งครับ ว่าการจัดการเรื่องความสะอาดของเมืองนอกเป็นอย่างไร เมืองของเขาถึงดูดี สะอาด สะอ้าน เจริญหูเจริญตา พอดีผมได้อ่านรายงานเชิงวิชาการ (วิจัย) ของคุณ วัชรวิชย์ สุขวัฒนาภิรมย์ ท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่พอนำมาสนับสนุนเพื่อให้เห็นภาพระบบการปฏิบัติงานของฝรั่งได้ส่วนหนึ่ง แม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม ผมใคร่ขอนำเสนองานเขียนเชิงวิจัยของคุณวัชรวิทย์ที่ดูจะสอดคล้องกับบริบทของเมืองไทยเพื่อพิจารณาก็แล้วกันนะครับ ขณะที่ระบบการกำจัดขยะแบบไทยเราที่ผ่านมายังมีปัญหาอยู่มากดังที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่า เรามีปัญหาขยะล้นเมือง ปัญหาสุขภาวะ มลภาวะที่เกิดจากขยะหรือสิ่งปฏิกูลสั่งสมถมทับมายาวนาน คุณวัชรวิทย์บอกตอนต้นของรายงานว่า ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวข้องการกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการมูลฝอยอยู่แล้ว ดังต่อไปนี้ พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ภายใต้กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีหน้าที่คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตรา 45 (7) พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 กำหนดอำนาจและหน้าที่เทศบาลทุกประเภท ให้มีหน้าที่รักษาความสะอาดของถนนหรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล มาตรา 50 (3) มาตรา 53 (1) มาตรา 56 (1) พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ภายใต้กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบล มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและรักษาทางระบายน้ำ และรักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดิน และที่สาธารณะรวมทั้งการกำจัดมูลฝอย และสิ่งปฏิกูล และคุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตรา 23 (3) (4) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 กำหนดให้เมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ดำเนินการในเขตเมืองพัทยา ในการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล และการบำบัดน้ำเสีย มาตรา 62 (7) และ (8) พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งมีบทบัญญัติในมาตรา 17 (10) (12) ให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีหน้าที่จัดทำระบบบำบัดน้ำเสียรวมถึงการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลในภาพรวม การจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆและเทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย และน้ำเสีย มาตรา 16 (17) และ (18) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดอำนาจหน้าที่กรุงเทพมหานคร ในการดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองในเขตกรุงเทพมหานคร การดูแลรักษาที่สาธารณะ การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการกำจัด สิ่งปฏิกูลและมูลฝอย และน้ำเสีย มาตรา 89 (4) (10) (14) และ (27) การกำจัดมูลฝอยที่เกิดจากชุมชนซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และก่อปัญหากับการกำจัดในรูปแบบเดิมๆ การฝังกลบเป็นหลัก ดังนั้น การกำจัดมูลฝอยในอนาคตต้องดำเนินการแปรรูปมูลฝอยให้เป็นพลังงานเป็นหลัก จึงต้องพัฒนาการกำจัดหรือเทคโนโลยีการกำจัดในการแปรรูป ให้เกิดพลังงานจากมูลฝอย และจะได้ไม่ต้องกำจัดทิ้งเหมือนที่กำจัดอยู่ในปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปัญหาอุปสรรค และแนวทางแก้ไขปัญหามูลฝอยของเมืองไทย ได้แก่ 1. ปัญหาด้านงบประมาณ มีข้อจำกัดในการจัดสรรงบประมาณ สำหรับก่อสร้างระบบกำจัดมูลฝอยอย่างถูกหลักวิชาการ และการจัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์ และพื้นที่บางพื้นที่ก่อสร้างแล้วไม่สามารถดำเนินการได้บางพื้นที่ได้รับการต่อต้านจากประชาชน 2. ปัญหาหน่วยงานผู้ปฏิบัติงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีข้อจำกัดในด้านศักยภาพและขีดความสามารถขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่แตกต่างกันรวมถึงอุปกรณ์และบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขนาดใหญ่ดำเนินการมีประสิทธิภาพ แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กการดำเนินการยังขาดประสิทธิภาพในการดำเนินการรวมต้นทุนในการดำเนินการ 3. ปัญหาด้านการออกกฎหมาย มีปัญหาเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ถูกสุขลักษณะ และการเก็บค่าธรรมเนียมที่สะท้อนต้นทุนหรือบางแห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม 4. ปัญหาด้านสถานที่ สถานที่การกำจัดมูลฝอยมีอย่างจำกัด และยังขาดมาตรการในการตรวจติดตามเฝ้าระวังและบางพื้นที่ถูกต่อต้านจากประชาชน เพราะการกำจัดไม่ถูกสุขลักษณะ 5. ปัญหาด้านการสร้างการรับรู้ การรณรงค์และประชาสัมพันธ์การสร้างการรับรู้ยังขาดความต่อเนื่องทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการมูลฝอยโดยเฉพาะการคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิด การลดใช้การใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ในมูลฝอยที่เกิดจากชุมชนยังไม่ชัดเจนในกระบวนการดังกล่าว จึงยังมีผู้ให้ความร่วมมือน้อยและยังไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ชุมชน และผู้ประกอบการ สำหรับแนวทางการแก้ไข จากการศึกษาของคุณวัชรวิทย์ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในด้านการจัดทำกฎหมายการจัดการมูลฝอยของชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีดังนี้ครับ 1) การส่งเสริมและสนับสนุนให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดระบบการจัดการรวมทั้งมูลฝอยชุมชนแบบครบวงจร ตั้งแต่การคัดแยก การเก็บขน การกำจัดและการนำมาเป็นพลังงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำปุ๋ย การผลิตพลังงาน เป็นต้น ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการรวมกลุ่มขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการมูลฝอยที่เกิดจากชุมชนร่วมกัน รวมถึงการสร้างการรับรู้กับประชาชนชุมชน ให้มีการคัดแยกที่ต้นทาง หรือครัวเรือน รวมถึงการคัดแยกของเสียอันตรายที่เกิดจากชุมชนเพื่อให้มูลฝอยสู่ที่กำจัดน้อยที่สุด 2)ภาครัฐ ควรจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการจัดให้มีระบบกำจัดมูลฝอย ทุกประเภทอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมถึงการส่งเสริมให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน 3)ส่งเสริมและสนับสนุน ให้ประชนลดปริมาณการเกิดมูลฝอยจากบ้านเรือน ใช้หลัก 3ช.คือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ 4)ส่งเสริมธุรกิจรีไซเคิล หรือการแปรรูปนำมาใช้ใหม่ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบจากวัสดุรีไซเคิลเพิ่มมากขึ้น และการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงรูปแบบวัสดุที่หลากหลายที่ส่งเสริมและสนับสนุนการกำจัดซากจากของเสียอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว เช่น หลอดไฟ แบตเตอรี่ มือถือซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงน้ำมันที่ใช้แล้ว น้ำมันปรุงอาหารและน้ำมันเหลือ เสีย เป็นต้น 5) เร่งรัดการกำหนดหลักเกณฑ์โดยการออกกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงมหาดไทยตาม พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 6) การสร้างการรับรู้ ความเข้าใจของประชาชนให้ตระหนักถึงปัญหาและความจำเป็นในการดำเนินการจัดให้มีระบบหรือสถานีกำจัดมูลฝอย มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายต่อชุมชน ให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการกำหนดสถานที่กำจัดของชุมชน เนื่องจากประชาชนหรือชุมชนเป็นผู้ก่อรวมทั้งให้มีการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง เมื่อพิจารณาจากหลักการและนโยบายการแก้ไขปัญหามูลฝอยชุมชน ของประเทศนั้น หลักการจัดการมูลฝอยชุมชนคือการทำให้มูลฝอยเหลือศูนย์(Zero waste) คือการจัดการมูลฝอยให้เหลือมูลฝอยไปสู่สภาพที่กำจัดเหลือน้อยที่สุดไม่มีเลยโดยจากการมีความสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการใช้วัสดุใช้ใหม่ในกระบวนการการผลิตที่สามารถนำกลับมาแปรรูปใช้ใหม่ให้มากที่สุด การบริโภคสินค้าที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ การลดปริมาณมูลฝอยด้วยการคัดแยกให้เหลือมูลฝอยที่ต้องกำจัดน้อยที่สุด การรณรงค์ให้ผู้ประกอบการหรือการบังคับด้วยกฎหมายให้การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การผลิตสินค้าจากวัสดุจากการผลิตนำกลับมาใช้ใหม่ผสมผสาน การรณรงค์ใช้สินค้าที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ การพัฒนาการนำมูลฝอยกลับมาใช้ใหม่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่การเก็บภาษีรวมในราคาสินค้าที่คิดจากต้นทุน แล้วนำกลับมาจัดสรรให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดำเนินการบริหารจัดการมูลฝอย การกำจัดมูลฝอยที่เหลือด้วยเทคโนโลยีที่มีมาตรฐาน คือ การกำหนดข้อกฎหมายและหลักเกณฑ์ให้มีการบูรณาการและมีเอกภาพในการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชน โดยการกำหนดให้มีการลด การคัดแยก และการนำกลับมาใช้ใหม่ ให้กฎหมายครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิตสินค้า การบริโภค การนำกลับมาใช้ใหม่ การจัดหาประโยชน์และการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและภาษี ตลอดจนการกำจัดเศษซากที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ถูกต้องตามหลักวิชาการและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม