ทวี สุรฤทธิกุล การพัฒนาตำรวจไทยต้องเริ่มจากการพัฒนา “ทัศนคติ” ของผู้คนในหลาย ๆ ส่วน ดังที่ได้ “ชำแหละ” ไว้ในบทความนี้ตลอดทั้งเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ความล้มเหลวของการปฏิรูปตำรวจเป็นผลจากโครงสร้างสังคมไทยที่ “โอบอุ้ม” ตำรวจเลว ๆ เอาไว้ โดยเฉพาะบรรดาตำรวจผู้ใหญ่ที่แม้ตัวเองจะไม่ได้เลวมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อมาอยู่ในระบบที่มีอดีตตำรวจในยุคก่อน ๆ สร้างไว้ ก็ไม่ได้คิดที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ยังคงรักษาไว้และยิ่งพัฒนาให้ “ระบบเลว” นั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้มาจากการการสืบทอดระบบเลว ๆ นั้น ทั้งยังได้สร้างความเลวขึ้นเป็นวงจรและขยายเครือข่ายออกไปเรื่อย ๆ โดยลุกลามไปถึงนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ ที่ทำมาหากินร่วมกับตำรวจจำพวกนี้ ที่ต่างฝ่ายก็พึ่งพิงซึ่งกันและกัน ส่งผลเป็น “เครือข่ายความเลว” ที่สร้างความเสียหายแก่สังคมไทยเป็นอย่างมาก เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้เขียนขับรถอยู่ในช่องทางด่วนบนถนนวิภาวดีรังสิต ก็เช่นเคยกับหลาย ๆ ครั้งที่ขับรถบนถนนนี้ คือต้องคอยระวังรถมอเตอร์ไซค์ที่เข้ามาวิ่งในช่องทางด่วนนี้อย่างสนุกสนาน กำลังคิดอยู่พอดีว่าทำไมตำรวจจึงปล่อยให้มอเตอร์ไซค์เหล่านี้วิ่งอย่างผิดกฎหมายอยู่ได้ทุกวัน ก็พอดีขับมาถึงตรงแยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้เห็นตำรวจกว่าสิบนายกำลังเรียกจับกุมมอเตอร์ไซค์เหล่านั้นอยู่ จึงยกนิ้วให้แล้วคิดในใจว่า เออ นาน ๆ ทำสักทีก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่พอผ่านมาที่แยกลาดพร้าวก็เจอมอเตอร์ไซค์เข้ามาวิ่งในช่องทางด่วนอีก ก็ได้แต่สงสารตำรวจว่า คงต้องเล่นเอาล่อเอาเถิดกับพวกนักบิดนิสัยเลว ๆ นี้ไปอีกนาน เพราะถ้าตำรวจไม่ปรับระบบในการเอาผิดกับคนเหล่านี้เสียใหม่ ตำรวจก็คงต้องทำงานแบบ “โรดโชว์” (คือแค่โชว์ให้ประชาชนเห็นว่าทำอะไรบ้าง)ไปเรื่อย ๆ เว้นแต่เป็นนโยบายของตำรวจเองที่ไม่อยากพัฒนาอะไรไปมากกว่านี้ หลายปีก่อนคนกรุงเทพฯเคยจะเคยได้ยินถึงมาตรการ “ปะ ฉะ ดะ” ที่ตำรวจใหญ่ของนครบาลประกาศว่าจะทำให้กรุงเทพฯน่าอยู่ แต่พอตำรวจใหญ่คนนั้นพ้นหน้าที่ไป โครงการนั้นก็ไม่ได้รับการสานต่อ รวมถึงหลาย ๆ โครงการที่ดู ๆ จะสลายไปตามกาลเวลา เช่น โรงพักของเรา หรือตำรวจเรารักชาวบ้าน ก็ดูจะเป็นเพียง “โลโก” ให้กับนายตำรวจบางคนเท่านั้น แต่ที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือโครงการที่จะนำเทคโนโลยีและเครื่องมือสมัยใหม่มาใช้ ที่เป็นเพียงแค่การสร้างกระแสแล้วก็ไม่ได้พัฒนากันอย่างต่อเนื่องจริงจัง อย่างเช่น ระบบจราจรอีเล็คโทรนิค และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่ได้กลายเป็นแค่ “แฟชั่น” ปล่อยข่าวฮือฮาออกสื่อในช่วงหนึ่ง แต่พอระยะต่อมาก็เงียบหายไป หรือกลายเป็นว่าเป็นแค่การทดลองทำ ไม่ได้จริงจังอะไร เรื่องโครงการต่าง ๆ และการใช้เทคโนโลยีที่ล้มเหลวที่บ่น ๆ มานี้ ก็ต้องการที่จะสะท้อนว่านายตำรวจใหญ่ ๆ ทั้งหลายไม่ได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบงานของตำรวจอย่างจริงจัง อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับ “ทัศนคติ” อย่างที่โปรยหัวไว้ โดยนายตำรวจใหญ่ ๆ เหล่านี้น่าจะมองการพัฒนาว่าเป็นแค่ “น้ำจิ้ม” ที่จะสร้างสีสันให้กับชีวิตราชการของตนในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ได้มองถึงการพัฒนาตำรวจในภาพรวมและในระยะยาว หรือถ้าจะมองตำรวจที่คิดทำโครงการต่าง ๆ ด้วยความคิดแง่ลบ ก็อาจจะมองไปได้ถึงเจตนาของนายตำรวจเหล่านี้ที่ต้องการทำมาหากินกับการทำโครงการต่าง ๆ รวมถึงที่ต้องการจะเอาใจหรือหาเสียงกับผู้ใต้บังคับบัญชา (ถ้าใครนึกไม่ออกก็ให้นึกถึงเรื่องการซื้อมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อที่ไม่มีคนซื้อมาแจกตำรวจเมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้น) จึงทำให้มองไปได้ว่านายตำรวจเหล่านี้คิดได้แต่โครงการที่จะพัฒนาความมั่งคั่งและอำนาจอิทธิพลให้กับตนเอง มากกว่าที่จะส่งเสริมให้การทำงานของตำรวจมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน มีข่าวเล็ก ๆ อีกข่าวหนึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อนอีกเช่นกัน แจ้งว่าในปี 2563 ตำรวจจราจรมีการออกใบสั่งให้กับผู้กระทำผิดกฎหมายกว่า 15 ล้านใบ แต่มีคนไปจ่ายค่าปรับแค่ 2 ล้านกว่าใบ อีกกว่า 13 ล้านใบต้องกลายเป็น “ใบสั่งไม่ได้” คือไม่มีใครไปจ่ายค่าปรับ โดยตำรวจให้เหตุผลว่ากำลังตำรวจที่จะติดตามดูแลเรื่องนี้มีน้อย รวมถึงชี้แจงเป็นนัย ๆ ด้วยว่าเป็นความผิดของคนไทยเองนั่นแหละที่ชอบหลีกเลี่ยงกฎหมาย และ “รู้สึกดี” ที่สามารถอยู่เหนือกฎหมายหรือทำให้ตัวให้กฎหมายเอาผิดไม่ได้ นี่ก็แสดงถึง “ทัศนคติที่ผิด” ของเจ้าหน้าที่ที่ตนเองเป็นผู้ใช้กฎหมาย ที่ควรจะต้องคิดพัฒนาระบบงานของตำรวจ และบังคับใช้กฎหมายให้จริงจัง นี่ก็คงเป็นเพราะทัศนคติแบบ “ลูบหน้าปะจมูก” ที่ปลูกฝังมาในวัฒนธรรมตำรวจ ทำให้เกิดความเกรงอกเกรงใจ เลยยกความผิดทั้งหมดมาให้แก่คนไทยและสังคมไทยว่า “เป็นอย่างนี้มานานแล้วหละลุง” ผู้เขียนเคยเสนอความคิดที่จะต่อสู้กับทัศนคติที่ “โยนอุจาระ” ให้กับสังคมไทยของตำรวจบางกลุ่มมาตั้งแต่ครั้งที่เป็นกรรมการปฏิรูปตำรวจในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ (พ.ศ. 2549 - 2551) โดยได้นำผลงานวิจัยของนักวิชาการด้านรัฐประศาสนศาสตร์ที่เขาได้ศึกษาเปรียบเทียบการพัฒนาตำรวจในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีผลการวิจัยเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจพบว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจับกุมผู้กระทำผิดมีผลต่อการปรับเปลี่ยนของทัศนคติของตำรวจได้เป็นอย่างมาก โดยกล่าวถึงการศึกษาตำรวจในเกาหลีใต้ ที่แต่ก่อนก็มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นมาก แต่พอนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น โครงการ Smart City ที่จับกุมผู้ทำความผิดด้านการจราจร และการเชื่อมโยงประวัติอาชญากรต่าง ๆ (ที่เกาหลีใต้เขาถือว่าคนที่ทำผิดกฎหมายบ่อย ๆ อย่างคนที่ทำผิดกฎหมายจราจรนี้ก็ถือว่าเป็น “อาชญากร” อีกแบบหนึ่งด้วย) สามารถลดจำนวนผู้กระทำผิดกฎหมายได้เป็นอย่างดี แต่ที่สำคัญคือป้องกันการทุจริตของของเจ้าหน้าที่ได้เป็นอย่างดี เพราะในการป้อนข้อมูลจะมีการบันทึกและมีการจัดทำรายงานอย่างโปร่งใส สามารถจับผิดคนที่มาแก้ไขข้อมูลต่าง ๆ ได้ แต่ดูเหมือนว่านายตำรวจใหญ่ ๆ ที่มาร่วมประชุมในคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดนั้นทำหน้าเลิ่กลั่ก “ไม่เข้าใจ” จึงทำให้ตำรวจไทยยังเป็น “แมลงสาบผสมไดโนเสาร์” มาจนถึงทุกวันนี้ ทราบไหมว่าประเทศไทยมีบริการรับแก้ไขข้อมูลในการทำผิดกฎหมายต่าง ๆ ด้วย