เสรี พงศ์พิศ www.phongphit. ฝรั่งในตะวันตกใช้เวลากว่าสองร้อยปีต่อสู้รณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพ เริ่มจากยุคที่เรียกกันว่าโรแมนติก (1770-1850) ที่มีการปฏิวัติที่อเมริกา (1776) ปฏิวัติที่ฝรั่งเศส (1789) ปฏิวัติอุตสาหกรรมและปฏิวัติโรแมนติก ซึ่งเป็นเรื่องทางสังคม ชีวิตและจิตวิญญาณด้านศิลปะ วรรณกรรมและปรัชญา นักคิดนักเขียน นักปรัชญา กวี ศิลปินในยุคโรแมนติกทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันต่างก็มองเห็นสังคมถูกคุกคามจากความทันสมัย อุตสาหกรรม ทุนนิยม การเอาเปรียบแรงงาน คนจน สิ่งแวดล้อม จึงต่างก็ใช้งานของตนเองเตือนสติ ต่อต้าน และสะท้อนคุณค่าอันดีงามของธรรมชาติ ของคน ของสัตว์และสรรพสิ่ง สิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันของคนไม่ว่าชายหรือหญิง ไม่ว่าเจ้าหรือไพร่ นายหรือบ่าว ต่างก็มีเท่ากัน สัตว์ก็มี ธรรมชาติก็มี ที่มิอาจล่วงละเมิดได้ นั่นคือรากฐานที่นำไปสู่การปฏิวัติทางการเมือง ในนามของเสรีภาพ เสมอภาพและภราดรภาพ แต่กว่าที่ผู้หญิงจะมีสิทธิเลือกตั้ง กว่าที่ทาสจะได้รับการปลดปล่อยก็ใช้เวลานานในแต่ละประเทศ รวมไปถึงอเมริกา มิต้องพูดถึงสิทธิของคนสีผิว สิทธิสัตว์ สิทธิธรรมชาติ ที่ยาวมาจนถึงยุคนี้ที่ต้องรณรงค์กันต่อไป ยุคที่วันนี้ไม่ได้ต่างจากเมื่อ 200 ปีก่อนในยุโรปที่คนยุคโรแมนติดต้องขบถและปฏิเสธยุคก่อนนั้นที่เรียกกันว่ายุคสว่างทางปัญญาที่บูชาเหตุผล แต่ล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น ยังมีบ่าวไพร่เจ้าขุนมูลนายซึ่งเรียกคนที่ต่อต้านพวกตนว่า “พวกโรแมนติก” “พวกคิดน้อย รู้สึกมาก” แต่ได้รับคำตอบว่า “เราใช้หัวใจคิด” แนวคิดของโรแมนติกนี่เองที่เป็นพื้นฐานของการปฏิวัติ เพราะโรแมนติกไม่ใช่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ แต่เป็นเรื่องของคนที่รู้สึกนึกคิด มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เรื่องของการกลับสู่ธรรมชาติที่คนกำลังทำลาย ขณะที่ประชาธิปไตยในยุโรปพัฒนามาหลายร้อยปีในลักษณะแตกต่างกันในแต่ละประเทศ บ้านเราเพิ่งเริ่มกันเมื่อปี 2475 และน่าจะมาเกิดสำนึกในภาคประชาชนจริงๆ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ด้วยเหตุนี้ จิตสำนึกเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค อันเป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตยจึงดูเหมือนยังไม่สุก ไม่ตกผลึก ยังแกว่งไปมา หาจุดลงตัวไม่ได้ เหตุการณ์บ้านเมืองในแต่ละวันจึงมีแต่ข่าวการล่วงละเมิดกันในรูปแบบต่างๆ การทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน ตีกัน ฆ่ากัน ระหว่างประชาชนด้วยกัน การโกหก โกงบ้านกินเมืองในหมู่นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ การทำผิดกฎหมายในรูปแบบต่างๆ การหลีกเลี่ยงกฎหมายด้วยกฎหมู่ ด้วยอำนาจพิเศษ ด้วยความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ ทำให้เกิดหลายมาตรฐานในเรื่องกฎหมาย ซึ่งเป็นกรอบการอยู่ร่วมกัน การเคารพสิทธิเสรีภาพของกันและกันในสังคม วันนี้เราอาจเห็นว่า ในยุโรปอเมริกายังมีปัญหาการละเมิดสิทธิของคนผิวสี การเหยียดผิว ซึ่งดูเหมือนรุนแรง แต่โดยภาพรวมสังคมเหล่านั้นก็ก้าวไปไกลมากแล้ว โดยเฉพาะการเคารพกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของผู้คนในสังคมไม่ให้ถูกละเมิด จึงไมใช่เพราะมีการละเมิดมากขึ้น แต่น้อยอย่างไรคนทั่วไปก็รับไม่ได้ อย่างการเหยียดผิวนักฟุตบอลทางโซเชียลมีเดียในยุโรปอเมริกา แค่คนเดียวก็มากแล้ว นับวันมีการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม มลภาวะ ภูมิอากาศจนเป็นข้อตกลงระดับนานาชาติตั้งแต่เกียวโตถึงปารีส การรณรงค์การเลิกใช้สารเคมีอันตรายไปทำเกษตรอินทรีย์ มีการณรงค์เรื่องสิทธิสัตว์ นับแต่การเลี้ยงในคอกที่แคบ ไปจนถึงเมื่อฆ่าสัตว์แล้วก็บรรจุหีบห่อที่แออัด รวมไปถึงการใช้คำสบถ คำด่าว่าคนอื่นด้วยชื่อสัตว์ โดยเฉพาะตัวเงินตัวทอง หรือหมูหมา กาไก่ วัวควาย ลิงค่าง เป็นต้น ฟังดูก็อาจจะน่าขบขัน แต่พื้นฐานจริงๆ เป็นเรื่องของวิธีคิดของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติและสรรพสิ่ง ที่ควรอยู่บนฐานของ “สิทธิ” ที่ทำให้เราเคารพคนอื่น เคารพธรรมชาติ เคารพสัตว์ ไม่คิดว่าตนเป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นคนวิเศษกว่า ดีกว่า เก่งกว่า รวยกว่า จนไปดูถูกเหยียดหยามคนอื่นเพราะสีผิว (ว่าไม่สวย) เพราะความเชื่อ (ว่างมงาย) เพราะการศึกษา (ว่าโง่) เพราะฐานะทางเศรษฐกิจ (ว่าจน) เพราะสภาพไม่สมบูรณ์ของร่างกาย (ว่าเจ็บ) บ้านเรามีกฎหมาย มีกฎจราจร แต่ปีหนึ่งคนตาย 15,000 คน บาดเจ็บพิการอีก 5,000 คน เป็นภาระให้ครอบครัว สร้างความสูญเสียมหาศาล เพราะการละเมิดกฎจราจร เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว พักผ่อนไม่พอ ล้วนแต่เกิดจากความประมาทและการไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น มีสถิติอุบัติเหตุเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพื่อนบ้านทะเลาะกัน ลงไม้ลงมือ ขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะปัญหาที่จอดรถหน้าบ้าน ปัญหาหมาขี้หน้าบ้าน หมาเห่าส่งเสียงรบกวนกลางวันกลางคืน ล้วนแต่เป็นเรื่องการละเมิดสิทธิของผู้อื่น คนไม่มีเสรีภาพไปทำให้คนอื่นมีปัญหา ไปรบกวนความสงบสุขของคนอื่น แต่คนไทยจำนวนมาก็ยังทำ สังคมก็ยังแก้ไขไม่ได้ เรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสังคมโดยรวม เรื่องการออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย เรื่องการเมือง เรื่องครอบครัว เรื่องการศึกษา เรื่องขบวนการประชาสังคม เรื่องที่ทุกฝ่ายต้องลุกขึ้นมารณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในเรื่องสิทธิเสรีภาพ คงไม่มีปาฏิหาริย์ที่จะเกิดสังคมที่เคารพสิทธิเสรีภาพกันในวันนี้พรุ่งนี้ แม้แต่สหรัฐฯเองปฏิวัติมาจะ 250 ปี วันนี้ยังมีขบวนการอย่าง Black Lives Matter เพราะการเหยียดผิวก็ไม่ได้หมดไป ออกมารณรงค์จนได้รับรางวัลจากองค์กรระหว่างประเทศไปไม่นาน อันเป็นการตอกย้ำว่า ศักดิ์ศรีสิทธิเสรีภาพของคนละเมิดมิได้ บ้านเราคงต้องผ่านเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพไปอีกนาน ไม่ว่าจะแบบสันติวิธีหรือความรุนแรง เพราะถ้าไม่เรียนรู้ ประวัติศาสตร์ก็เกิดซ้ำได้เสมอ