ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ผู้คนที่เดินทางมายังพื้นที่จัดงาน “60 ปีฮาลา การทวงคืนความเป็นธรรม” ณ โรงเรียนบ้านใหม่ (วันครู 2503) ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา เท่าที่ผู้เขียนสังเกตเห็นและสัมผัสได้ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นชาวบ้านสูงวัยทั้งหญิงชาย บ้างหอบลูกจูงหลานมาร่วมงานนัยอารมณ์เศร้าสร้อย หากทว่าแววตายังฉายโชนความเด็ดเดี่ยวและเปี่ยมหวัง เพราะผ่านมานับจากปี พ.ศ.2499 ที่ต้องถูกอพยพย้ายถิ่นฐานจากชุมชนที่เคยสงบสุขสมบูรณ์ในใจกลางป่าฮาลา ตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการปราบปรามอิทธิพลพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) ในห้วงเวลานั้น ถึงเวลานี้พวกเขาก็ยังไม่มีโอกาสได้หวนกลับสู่แผ่นดินเกิดซึ่งกลายเป็นเสมือน “ดินแดนที่สาบสูญ” อีกเลย ข้อมูลจาก สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นแกนนำจัดงานครั้งนี้ ให้ภาพเรื่องเล่าและร่องรอยในอดีตว่า ปัญหาข้อพิพาทและความขัดแย้งปัญหาที่ดิน เป็นปัญหาสำคัญที่มีการร้องเรียนเป็นจำนวนมาก ในขณะที่การแก้ไขปัญหาของรัฐเป็นเพียงบรรเทาปัญหาเพื่อยุติข้อขัดแย้งชั่วคราว ไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม ต.อัยเยอร์เวง หรือเส้นทางระหว่างทางก่อนถึงตัวอำเภอเบตง ซึ่งสองฝั่งเต็มไปด้วยป่าเขาที่สวยงามสลับกับชุมชนแออัดกลางป่าเขา เป็นของขวัญอันล้ำค่าที่รัฐบาลตอบแทนให้กับชุมชนที่มีคุณความดีกับประชาชนในการปราบโจรจีนคอมมิวนิสต์ในอดีต ผู้คนไม่กี่คนที่ยังหลงเหลืออยู่ได้เล่าเรื่องราวผ่านทางเอกสารร้องเรียน ถึงความเจ็บปวดที่รัฐบาลได้ทำลายชุมชนโบราณเหมือนกับปล้นที่ทำกิน โดยประกาศเป็นเขตสงวน รวมเป็นเอกสารนับร้อยฉบับ ผ่านไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแล “เหตุที่พวกเขาอพยพก็เพราะว่าในปี พ.ศ.2493 สมัยที่มีการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ตำบลฮาลานั้นเป็นตำบลที่ใหญ่ มีผู้คนอาศัยอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 400 คน มีเอกสารที่ดินทำกิน มีการเพาะปลูก ทั้งสิ้นสามารถดูได้จากหลักฐานเสียเงินบำรุงท้องที่ที่ให้กับทางราชการ ร่องรอยการทำมาหากินยังปรากฏให้เห็น มีสถานที่สำคัญมากมาย เช่น สถานีตำรวจ 1 หลัง มัสยิด 1 หลัง สถานที่สอนศาสนา 2 หลัง สุสานมุสลิม (กุโบร์) 2 แห่ง ซึ่งทุกวันนี้ร่องรอยของสถานียังคงอยู่” ข้อมูลในเอกสารให้รายละเอียดภาพของชุมชนฮาลาโบราณไว้อย่างชัดเจน สอดคล้องกับเรื่องราวที่ สะอารี ยูโซ๊ะ ปราชญ์ชาวบ้านฮาลา และรองนายก อบต.อัยเยอร์เวง บอกเล่าบนเวทีวันนั้นว่า เมื่อครั้งอดีตกาลนานมาแล้วสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีผู้คนจากเมืองปัตตานี ได้พาครอบครัวหาที่ทำกินโดยยึดถือแม่น้ำเป็นหลัก เดินทางไปเรื่อยตามแม่น้ำปัตตานีเพื่อหาที่ทำกินที่เหมาะสม กระทั่งถึงที่ราบหุบเขาแห่งหนึ่งที่มีแม่น้ำหลายสายมาบรรจบเหมาะแก่การเพาะปลูก และมีลักษณะภูมิประเทศที่พึงพอใจ จึงได้ตัดสินใจเลือกสถานที่แห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยอย่างถาวร พร้อมกับตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า “ฮาลา” หลายปีผ่านไป เมื่อสถานที่แห่งนี้กลับกลายเป็นที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแล้ว ก็มีญาติสนิทจากเมืองปัตตานีอพยพมาตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ความอุดมสมบูรณ์ที่มีอยู่ทำให้ผู้อยู่อาศัยอยู่เย็นเป็นสุข การจับจ่ายใช้สอยปัจจัยดำรงชีพอื่นๆ แทบไม่มี นอกจากเครื่องนุ่งห่ม เกลือ และกะปิ เท่านั้น เวลานั้นรัฐบาลได้จัดส่งขุนนางจากกรุงเทพมหานคร มาเป็นผู้นำที่หมู่บ้านฮาลา เป็นที่รู้จักกันในหมู่ชุมชนฮาลานามว่า “โต๊ะขุน” ส่วนผู้เป็นภรรยาเรียกว่า “แมะขุน” ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับชุมชนมีความสนิทสนมกลมเกลียวฉันญาติมิตร ต่อมา หลังโต๊ะขุนเสียชีวิตลง หมู่บ้านฮาลาถูกยกระดับจากหมู่บ้านฮาลาเป็น “ตำบลฮาลา” และมีการแต่งตั้งนายเจ๊ะโม๊ะ เป็นกำนัน ประกอบด้วยหมู่บ้าน 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 กำนันเจ๊ะโม๊ะ มีบ้านมาแฮ บ้านมอแตแตแก และกำปงปายอ หมู่ที่ 2 ผู้ใหญ่บ้านชื่อ ซาฮะ มีบ้านฮางุฮฺ บ้านจือฆานากอ และหมู่ที่ 3 ผู้ใหญ่บ้านชื่อ นูดิน มีบ้านนาแง บ้านราเง๊ะ บ้านคอลอแหร จวบจนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2490 โดยประมาณ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) ถูกรัฐบาลอังกฤษที่ปกครองมาเลเซียขณะนั้นทำการปราบปราม จึงได้หลบหนีการปราบปรามเข้ามาตั้งถิ่นฐานในตำบลฮาลา และได้สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนฮาลา ทำให้ชุมชนชาวฮาลาได้ทยอยอพยพออกไปพึ่งญาติมิตรในพื้นที่อำเภอต่างๆ ในจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส กระทั่งในที่สุดสมาชิกทั้งหมดในชุมชน ต้องอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ ต.อัยเยอร์เวง (กม.29 ตันหยงกาแม็ง กม.32 กม.36 และ กม.38) โดยการอพยพชาวฮาลาที่นำโดย ปลัดอำเภอเบตง (ปลัดประพาส สิทธิณรงค์) แบ่งชาวบ้านเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นคนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางไกลได้ ทางการอพยพโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ ลำเลียงจากชุมชนฮาลาไปลงที่อำเภอกือโระ (โกร๊ะ) ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากสมัยนั้นรัฐบาลมาเลเซียต้องการประชากร จึงเสนอที่จะรับอุปการะและดูแลชาวฮาลาทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่า ต้องเปลี่ยนสัญชาติเป็นประชากรของมาเลเซียอย่างถาวร แต่ข้อเสนอดังกล่าวนั้นชาวฮาลาได้ปฏิเสธไป เนื่องจากความรักและความผูกพันที่มีต่อหมู่บ้านฮาลา เพราะคนฮาลาเหล่านั้นเข้าใจว่าการอพยพครั้งนี้เป็นการอพยพเพียงชั่วคราว เพื่อหลีกทางให้ความสะดวกต่อเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปราม พคม. ส่วนกลุ่ม 2 สำหรับคนทั่วไป อพยพโดยการเดินเท้าจากหมู่บ้านฮาลาสู่หมู่บ้านตันหยงกาแม็ง สิ่งสำคัญและเป็นประเด็นปัญหา เนื่องจาก ณ ขณะเวลานั้น ทางการได้ให้สัญญาด้วยวาจาว่า เมื่อเหตุการณ์สงบเมื่อไร เมื่อนั้นชาวฮาลาก็จะได้กลับหมู่บ้านฮาลาเดิมตามปกติ หากทว่าจากวันนั้นถึงวันนี้ ตำบลฮาลาได้ถูกลบในแผ่นที่อำเภอเบตงโดยปริยาย เนื่องจากมีการประกาศของราชการทับที่ทำกินของชาวบ้านหลายประเภท เช่น ประกาศพื้นที่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในปี 2498 การเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างเขื่อนบางลาง ทำให้บางหมู่บ้านต้องจมอยู่ก้นเขื่อน การจัดสรรพื้นที่สร้างนิคมสร้างตนเองอำเภอเบตง ประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ในปี 2535 ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติบางลาง ในปี 2542 และราชการได้ประกาศยกเลิกการภาษีในพื้นที่เดิมที่เคยใช้ประโยชน์ ช่วงที่ผ่านมา ชาวบ้านจึงได้พยายามเคลื่อนไหวร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เพื่อขอกลับภูมิลำเนาเดิม แต่ไม่ได้รับการแก้ไขหรือได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเท่าที่ควร ทำให้ชาวบ้านฮาลาและลูกหลานประสบความเดือดร้อนต้องอาศัยอยู่อย่างแออัด ประสบปัญหาความยากจน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อความรู้สึกด้านจิตใจซึ่งถูกบั่นทอนเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในพื้นที่ฮาลาเดิมมีสุสาน (กุโบร์) หลงเหลืออยู่ 2 แห่ง กรณีการ “ทวงคืนความเป็นธรรม” ของชาวบ้านฮาลา เป็นหนึ่งในอีกประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งแม้จะมีการขับเคลื่อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ถึงกับมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดทำหน้าที่ศึกษาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทว่าข้อสรุปในเบื้องต้นทางจังหวัดยะลามีความเห็นว่า “เกินขีดความสามารถในระดับจังหวัด” ที่จะสามารถใช้ดุลยพินิจวินิจฉัย หรือตัดสินใจแก้ไขปัญหาตามความประสงค์ของชาวฮาลาได้ เมื่อเสร็จสิ้นจากงานสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านฮาลาที่มาร่วมงานต่างค่อยๆ ทยอยเดินทางกลับ พร้อมกับได้แต่หวังว่าสิ่งเรียกร้องของพวกตนจะได้รับการสนองตอบเสียทีจากทางรัฐบาล ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หลังจากที่ต้องทนตั้งตารอคอยยาวนานถึง 60 ปีมาแล้ว แม้จะเป็นความหวังอันแสนริบหรี่ภายใต้ “ความเงียบ” ก็ตามที