เสรี พงศ์พิศ Fb Seri Phongphit สนธยาประชาธิปไตย (Twilight of Democracy) เป็นชื่อหนังสือเกี่ยวกับประชาธิปไตยขายดีระดับเบสท์เซลเลอร์ในปี 2020 โดย Anne Applebaum หลังๆ นี้มีเรื่องเดียวกันนี้ที่อีกหลายเล่มระดับเบสท์เซลเลอร์ อย่าง “ประชาธิปไตยตายอย่างไร” (How Democracies Die) โดย Steven Levitsky และ Daniel Ziblatt, “ความตายของประชาธิปไตย” (The Death of Democracy) โดย Benjamin Carter Hett และ Fascism โดย Madeleine Albright หนังสือเหล่านี้มีเนื้อใหญ่ใจความคล้ายกัน คือ วิเคราะห์แนวโน้มสังคมโลก โดยเฉพาะที่ยุโรปและอเมริกาที่ “สวิงขวา” ไปหาอำนาจ ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จปกครองควบคุมประชาชน การเติบโตของขบวนการชาตินิยมขวาจัดและลัทธิอำนาจนิยม พร้อมกับการเกิดขึ้นของข่าวปลอม ทฤษฎีสมคบคิดและการปลุกระดมฟื้นแนวคิดต่อต้านยิว รวมไปถึงต้านคนผิวสีที่อเมริกา ทั้งผิวดำและเหลือง การรังเกียจผู้อพยพ ภายใต้การนำของคนที่มีบุคลิกภาพเผด็จการอย่างที่สหรัฐฯ รัสเซีย ฮังการี เบลารุส โปแลนด์ ที่ผู้เขียนหนังสือเรียกว่า soft dictatorship หรือเผด็จการอย่างอ่อน ผ่านการเลือกตั้ง ในนามของประชาธิปไตย ไม่ว่าจะชนะมาด้วยกลยุทธ์แบบใด โดยไม่มองข้ามลักษณะเดียวกันในประเทศกำลังพัฒนาอย่างในละตินอเมริกาและเอเชีย เวเนซุเอลา ฟิลิปปินส์ กัมพูชา พม่า ไทย ขณะเดียวกัน ขบวนการขวาจัดก็ดูเหมือนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศต่างๆ อย่างที่เยอรมนีที่พรรคการเมืองขวาจัดอย่าง AfD กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่สุด รวมทั้งที่อิตาลี สเปน และฝรั่งเศส ขบวนการขวาจัด ผู้นำและรัฐบาลอำนาจนิยม ไม่ได้ใช้ “ปืน” มากเท่ากับใช้ระบอบประชาธิปไตยเองเพื่อสร้างความชอบธรรมการใช้อำนาจของตนเอง ผ่านการเลือกตั้ง ผ่านรัฐธรรมนูญที่ร่างเอง ทั้งแบบ “ยัดไส้”และเปิดเผยอย่างรัฐธรรมนูญของไทยและพม่า ที่สำคัญกว่านั้น คือ การครอบงำประชาชนด้วย “อำนาจนำ” (hegemony) ใช้วัฒนธรรม ระบบคุณค่า และกลไกสื่อสมัยใหม่ (IO) ทำให้ประชาชนเห็นดีเห็นงามยอมรับอำนาจเผด็จการโดยไม่ต่อต้าน ไม่มีพลังพอที่จะโค่นล้มได้ ให้ฟังเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” นานถึง 7 ปีแบบไม่มีกำหนด การปลุกระดมด้วยทวิตเตอร์ โซเชียลมีเดียรายวันของนายทรัมป์มีพลังมหาศาล สามารถทำให้คนนิยมชมชอบแนวคิดสุดขั้วของเขาและลงคะแนนให้กว่า 74 ล้านคน เมื่อเขาแพ้ และประกาศทุกวันว่าถูกโกง เขาสามารถทำให้คนนับหมื่นบุกรัฐสภา “วิหารแห่งเสรีภาพ” ของสหรัฐฯได้ ผลของประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยมที่บรรดาผู้เขียนหนังสือเหล่านั้นได้เตือนไว้ไม่ผิด นักวิชาการรัฐศาสตร์ก็ยังท่องคาถาเดิมว่า เสรีนิยมประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบดีที่สุด แต่เลวน้อยที่สุด เพราะดูเหมือนว่า ระบอบอื่นๆ เลวกว่านี้อีก แล้วทำไมสังคมโลกวันนี้จึงมีแนวโน้มสวิงไปหา “อำนาจนิยม” และดูเหมือนว่า ระบอบ “ไฮบริด” ลูกผสมอย่างจีนที่ยังเป็นสังคมนิยม แต่ใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมจะแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้านได้ดี ดูคน 1,400 ล้านคนที่ไม่มีใครอดตาย มีกินมีใช้ ไปจนถึงร่ำรวยเป็นเศรษฐีกันก็มาก ขณะที่อินเดียที่มีประชากรเท่ากับจีน ประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดในโลกกลับยังมีคนจนเต็มบ้านเต็มเมือง มีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจนสูง เช่นเดียวกับรัสเซียตั้งแต่เปลี่ยนจากสังคมนิยมมาเป็นประชาธิปไตยแบบใช้อำนาจ แต่ก็ควรมองให้รอบด้าน มีประเทศประชาธิปไตยมากมายที่เจริญพัฒนา และไม่มีปัญหาการใช้อำนาจ อย่างประเทศในสแกนดิเนเวีย สวิส เยอรมนี แคนาดา รวมไปถึงญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้แต่สิงคโปร์ที่มีคำถามเรื่องเสรีภาพ ซึ่งสิงคโปร์บอกว่า ให้ดูผลลัพธ์ดีกว่า ว่าระบอบแบบเขาทำให้บ้านเมืองเจริญพัฒนาอย่างไร อ่านหนังสือเหล่านั้น มองสถานการณ์โลกวันนี้น่าจะมีบทเรียนว่า วิภาษวิธีทางประวัติศาสตร์คงดำเนินต่อไป หลังปฏิวัติอเมริกา (1776) ปฏิวัติฝรั่งเศส (1789) เกิดประชาธิปไตยก็จริง แต่ก็มีแรงต้านจากอำนาจนิยม กลับไปมาหลายครั้ง รุนแรงสุด คือ นาซีกับฟัสซิสม์ และคอมมิวนิสต์แบบสตาลิน เหมา พอลพต เขมรแดง น่าจะมี 4 ปัจจัยที่สำคัญ คือ ผู้นำ รัฐบาล ระบอบ และพลเมือง ขณะที่สหรัฐฯมีผู้นำอย่างนายทรัมป์ จีนมีผู้นำอย่างสี จิ้นผิง เยอรมนีมีผู้นำอย่างนางอังเกลา แมร์เกล พร้อมกับรัฐบาลที่ผู้นำเหล่านี้เลือกมาร่วมงาน ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหาจุดลงตัวไม่ได้ ผลัดกันทำรัฐประหาร หรือรวบอำนาจเผด็จการผ่านการเลือกตั้ง อ้างว่ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคม แก้ปัญหาคอร์รัปชัน ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ พลเมืองในประเทศเหล่านี้ ทั้งในระบอบทั้งสังคมนิยม และประชาธิปไตย ถ้าคุณภาพชีวิต การศึกษา ระบบเศรษฐกิจและสังคมไม่ดี ประเทศก็แบ่งแยก ระส่ำระสาย ที่สุดก็เรียกหาอำนาจมาแก้ไขปัญหาต่างๆ คนมีปืนหรือมีอำนาจจากการเลือกตั้งก็จะอาสาแก้ปัญหาที่ประชาชนพลเมืองก็เชื่อ แต่เมื่อไม่เห็นผลงานว่าทำได้จริงก็เริ่มเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง ดังกรณีประเทศไทย และหลายประเทศที่กำลังพัฒนา คุณภาพของประชาธิปไตยอยู่ที่คุณภาพของประชาชนที่กลายเป็น “พลเมือง” ที่มีจิตสำนึกในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ที่จะไม่ปล่อยให้คนคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งมายึดอำนาจอธิปไตยไปในนามประชาธิปไตย ประเทศที่พัฒนา ที่พลเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้แสดงให้เห็นว่า กว่าจะได้สิทธิเสรีภาพพลเมืองมาเช่นนั้น ต้องต่อสู้มายาวนาน และการรักษาไว้ก็ยากไม่น้อยไปกว่า เพราะว่าลัทธิอำนาจนิยมยังคงเสนอหน้ามาแก้ปัญหาที่อ้างว่า ประชาธิปไตย (เพียวๆ) แก้ไขไม่ได้