ณรงค์ ใจหาญ การค้ามนุษย์ถือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างร้ายแรง ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้หญิงและเด็ก และไม่ได้จำกัดเฉพาะการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเท่านั้น แต่รวมถึงการบังคับใช้แรงงานผู้ชาย การจับคนลงเป็นทาส และการตัดอวัยวะ ซึ่งนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน สำหรับประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญอย่างมากในการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจังในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ถึงสองครั้ง และเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิดเพิ่มขึ้นรวมถึงให้ความสำคัญกับการปราบปรามกระบวนการค้ามนุษย์ซึ่งเจ้าพนักงานมีส่วนในการสนับสนุนกระบวนการดังกล่าวอย่างจริงจัง อีกทั้งเพิ่มมาตรการทางปกครองที่จะใช้ในการปิดสถานประกอบการ หรือการห้ามนำเรือออกหากมีการค้ามนุษย์ขึ้นในสถานประกอบการ หรือยานพาหนะนั้น นอกจากนี้ กระบวนการในการพิจารณาคดีค้ามนุษย์ในศาลได้กำหนดขึ้นมาใหม่ โดยใช้มาตรการในการไต่สวนคดี ซึ่งให้ศาลมีอำนาจในการค้นหาความจริงในคดีในเชิง Active และสามารถค้นหาความจริง โดยเรียกพยานหลักฐานเพิ่มเติมมากกว่าในการดำเนินคดีอาญาทั่วไปในปัจจุบัน อันทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และให้ศาลมีบทบาทในการควบคุมคดีมากขึ้น โดยความประสงค์ที่จะให้การดำเนินคดีให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในด้านการชดเชยหรือเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย เห็นได้ว่า ผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ได้รับการดูแลในด้านการเรียกร้องค่าเสียหายดีกว่าผู้เสียหายในคดีอาญาโดยทั่วไป เพราะในคดีอาญาทั่วไป ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายในคำฟ้องของพนักงานอัยการ ในขณะที่คดีค้ามนุษย์ กฎหมายกำหนดให้พนักงานอัยการเรียกร้องค่าเสียหายแทนผู้เสียหายได้ ในคำฟ้องของพนักงานอัยการ ซึ่งหมายความว่า พนักงานอัยการ จะต้องบรรยายรายละเอียดที่เกี่ยวกับความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายทางกาย จิตใจ ความเจ็บปวด และผลกระทบหลังจากที่ถูกทำร้าย หรือทรมานเพื่อให้ต้องค้าประเวณีหรือบังคับใช้แรงงาน อีกทั้งความเสียหายจากการที่สูญเสียโอกาสในการได้รายได้ระหว่างที่ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง หรือหากเป็นกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ทายาทมีสิทธิที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะ อีกด้วย การเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ รวมถึง การที่ผู้เสียหายจะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยระหว่างที่รอการเบิกความหรือการรอการส่งกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งบางคดีใช้เวลานาน หรือบางคดีผู้เสียหายไม่อาจกลับสู่ภูมิลำเนาได้เพราะประเทศต้นทางไม่ยอมรับ การอยู่ในประเทศไทยจึงใช้เวลานาน และเกิดสภาพกดดันจิตใจแก่ผู้เสียหายที่ไม่อาจเดินทางไปยังประเทศที่ต้องการได้ กรณีเหล่านี้ ทางแก้ที่รัฐบาลพยายามผ่อนคลายคือ การให้สิทธิในการทำงานในฐานะคนต่างด้าวเพื่อให้มีรายได้ในระหว่างที่อยู่ในประเทศไทยอันเป็นการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายระดับหนึ่ง หลักการที่ควรพิจารณาต่อไป คือ หลักการของการเยียวยาผู้เสียหายในปัจจุบัน รัฐมีกองทุนป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในการดำเนินการช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่า กองทุนดังกล่าวเป็นงบประมาณที่จัดสรรจากรัฐอันมาจากภาษีของประชาชน ที่เข้ามาช่วยเหลือเยียวยา แต่ในหลักสากลนั้น เงินที่นำมาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายนั้น จะต้องมาจากจำเลยหรือผู้ที่ค้ามนุษย์เป็นหลักเพราะถือว่าเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการค้ามนุษย์ บุคคลเหล่านี้จึงต้องรับผิดชอบต่อการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย แต่ในปัจจุบัน ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาจากเงินของรัฐบาลมากกว่าผู้เสียหาย แนวทางที่จะนำเงินของผู้ค้ามนุษย์มาใช้ในการเยียวยาความเสียหาย ทำได้ทางเดียวคือ การนำค่าปรับบางส่วนจากคดีค้ามนุษย์ที่ศาลมีคำพิพากษาปรับให้ส่งเข้ากองทุนป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งกฎหมายในปัจจุบันได้กำหนดให้แบ่งค่าปรับไว้แล้ว แต่ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ริบหรือมีการยึดทรัพย์โดยอาศัยกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งความผิดฐานค้ามนุษย์เป็นความผิดมูลฐานในคดีฟอกเงิน กรณีนี้ กฎหมายฟอกเงินนำเงินที่ได้จากการยึดทรัพย์ครึ่งหนึ่งเข้ากองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และอีกครึ่งหนึ่งสั่งเข้าคลัง เป็นรายได้แผ่นดิน เพราะกฎหมายกำหนดไว้เช่นนั้น ทั้งนี้ ทรัพย์สินของผู้ค้ามนุษย์ เมื่อถูกยึดทรัพย์ในคดีฟอกเงินแล้ว คงไม่มีเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ผู้ค้ามนุษย์จะมีให้ยึดเพื่อชดเชยค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายอีกต่อไป การบังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยในคดีค้ามนุษย์ จึงอาจจะทำไม่ได้ทำให้จำเลยไม่ได้ชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายอยู่นั่นเอง ทางแก้ไขในเรื่องนี้จึงเห็นว่าควรแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถแบ่งเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการยึดทรัพย์ในคดีฟอกเงินที่ถือว่าเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ได้มาจากการค้ามนุษย์เข้าสู่กองทุนป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วย ซึ่งจำนวนทรัพย์สินครึ่งหนึ่งของการยึดทรัพย์ที่จะต้องส่งคลังนั้น หากมีการแก้ไขกฎหมายควรนำเข้ากองทุนดังกล่าวก็จะสอดคล้องกับหลักที่ว่า จำเลยจะต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการที่ตนได้กระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้แก่ผู้เสียหาย นอกจากนี้ หากศาลมีหลักการริบทรัพย์ในแนวคิดใหม่เรื่องการริบทรัพย์ตามมูลค่าที่ดำเนินการริบทรัพย์ควบคู่กับการริบทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด การริบทรัพย์ตามมูลค่าที่ประมาณการจากรายได้ที่ผู้นั้นจะได้รับจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ก็จะทำให้รัฐเรียกคืนรายได้จากผู้กระทำความผิดคืนแก่ผู้เสียหายหรือสังคมได้ อันเป็นการป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดได้ประโยชน์จากการค้ามนุษย์อีกด้านหนึ่ง อย่างไรก็ดี ปัญหาในทางปฏิบัติพบว่า ผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์มักจะไม่ค่อยเรียกร้องค่าเสียหาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่ต้องการให้คดีล่าช้า อีกส่วนหนึ่งเพราะไม่รู้ว่ามีสิทธิโดยเฉพาะผู้เสียหายที่เป็นคนต่างด้าว และการเรียกค่าเสียหายในแต่ละคดีไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ในการเรียกค่าเสียหายที่เป็นรายการหรืออัตราที่ตายตัว ด้วยเหตุนี้ จึงควรมีกระบวนการสร้างแนวปฏิบัติที่ดีในการรวบรวบพยานหลักฐาน การเรียกจำนวนค่าเสียหาย และการแจ้งสิทธิให้ผู้เสียหายทราบ เพื่อทำให้กระบวนการยื่นคำร้องให้แก่ผู้เสียหายเพื่อให้จำเลยชดเชยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และตอบสนองความเสียหายแก่ผู้เสียหายได้ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้ หากทำได้สำเร็จผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ก็จะได้รับการชดเชยความเสียหายได้ตรงกับที่เสียหายจริงโดยจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบในการชดใช้ตามหลักสากลต่อไป