พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีเหตุให้ต้องไปเมืองจีนด้านตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณมณฑลกว่างตง(หรือกวางตุ้ง) และแน่นอน การไปเมืองจีนในในโซนนี้ย่อมต้องผ่านฮ่องกง ซึ่งถือเป็นปราการด่านแรก ก่อนที่จะเข้าไปสู่เมืองเซินเจิ้น และเมืองอื่นๆ อีกหลายเมืองบนฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ หรับคนเดินทางไปทางอเมริกาบ่อยครั้ง ย่อมทราบกันดีว่า ฮ่องกง เป็นสนามบินสำหรับแวะจอดของเครื่องบินที่จะผ่านไปยังสนามบินนานาชาติต่างๆในอเมริกา โดยเฉพาะสายการบินสัญชาติฮ่องกงอย่าง คาเธ่ย์ แปซิฟิก แอร์ไลน์ต้องแวะลงจอดเพื่อ ขนต่อผู้โดยสารไปยังเป้าหมาย คือเมืองต่างๆ ในอเมริกา นอกเหนือจากฮ่องกง ผมไม่เคยที่จะเลยข้ามไปแผ่นดินใหญ่ทางด่านนี้ เมืองเซินเจิ้น นับว่าผิดกว่าคาดมาก ไม่เหมือนที่เคยรับรู้ข้อมูลจากเพื่อนหลายคนที่ให้ภาพเมืองจีนไปอีกแบบ สิ่งที่เห็นในเบื้องแรกที่นี่ คือองค์ประกอบของความเป็นเมืองสำหรับเซินเจิ้น มีพร้อม เหมือนดังเช่นประเทศตะวันตกที่เจริญแล้วทั้งหลาย จากแค่ช่วงราว 30 ปีของการพัฒนาและถูกกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อครั้งอดีตผู้นำ เติ้ง เสี่ยว ผิง เริ่มเปิดโอกาสให้ “ทุน”ได้ขับเคลื่อนภายในจีนได้อย่างค่อนข้างเสรี กอรปกับจีนเองหันมาเปิดประตูการค้ามากขึ้น ซึ่งจากการกำกับการพัฒนาอย่างเข้มงวดโดยพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนกลางดังกล่าว ทำให้เมืองหลายเมืองทางด้านตะวันออกเฉียงใต้หรือด้านใต้ของจีนโตวันโตคืน จากสภาพภูมิประเทศที่สามารถเชื่อมต่อกับฮ่องกงได้สะดวก ทำให้มณฑลกว่างตง ที่มีเมืองหลวง คือกว่างโจว และเมืองรอบๆ กลายเป็นฐานสำคัญของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของจีน ในทุกประเภท รวมไปถึงสินค้าแฟชั่นชั้นนำที่สามารถเชื่อมไปขายถึงตลาดใหญ่แห่งแฟชั่น คือเมืองซ่างไห่หรือเชี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น เมืองเดียวประชากรก็ปาเข้าไปราวกว่า 3 ล้านคน (ขณะที่ประชากรฮ่องกงราว 8 ล้านคน) ส่วนใหญ่อพยพมาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่ตามแถวชานเมือง คนในเมืองนี้จึงมีที่มาหลากหลาย จากทั่วประเทศ รวมถึงพวกนักลงทุนจากฮ่องกงและประเทศอื่นๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น มีนักลงทุนเชื้อสายจีนจากฮ่องกงไปลงทุนจำนวนไม่น้อยและเป็นจุดเด่นของการลงทุน เมื่อมองในแง่เชื้อชาติ สินค้าที่ผลิตขึ้นนี้ถูกจำหน่ายจ่ายแจกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ณ ท่าเรือฮ่องกง ที่อยู่ไม่ไกลนัก แน่นอนว่ามันเป็น่าเรือที่แออัดคับคั่งตลอดเวลา ทำนองว่า จีนเป็นผู้ผลิต ฮ่องกงทำการตลาดหรือบริการจำหน่าย กระจายสินค้า ฮ่องกง ยังเป็นประเทศ จีนก็เป็นอีกประเทศ การผ่านเข้าผ่านออกทางด่านหรือตม. เซินเจิ้น ต้องใช้ระบบวีซ่า ที่กำหนดระยะเวลาการเข้าไปอยู่หรือการทำงาน แม้แต่กับคนจีนที่ถือว่าอยู่ในประเทศเดียวกันก็ตาม ชาวฮ่องกงนั้นเสมือนอยู่ในระดับที่สูงกว่า มีค่ามากกว่าชาวจีนแผ่นใหญ่อย่างคนกว่างตง นี้หากวัดกันที่ความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจ แน่นอน มันทำให้คนจีนจากแผ่นดินใหญ่ จำนวนไม่น้อยต่างหวังที่จะไปปักหลักทำมาหากินบนฮ่องกง ซึ่งเป็นประเทศ(เมือง)ที่ค่าครองชีพสูงมากแทบจะเทียบเท่า โตเกียว ญี่ปุ่น ภายหลังที่อังกฤษคืนฮ่องกงให้กับจีนเมื่อปี 1997 จึงเป็นเหตุให้คนบนฝั่งฮ่องกงเองหวาดระแวง ต่อการขยายเขตประชากรของคนจีนจากแผ่นดินใหญ่เข้าไปทำงานในฮ่องกง ด้วยสัดส่วนรายได้ที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการคืบคลานเข้ามาด้วยระบบกฎหมายการแต่งงานระหว่างผู้ชายฮ่องกง กับผู้หญิงจีน ที่ทำให้คู่สมรสจากจากต่างแดนได้สิทธิเสมอเหมือนเป็นพลเมืองฮ่องกง ใจความสำคัญย่อมหมายถึง สวัสดิการต่างๆ ที่พวกเธอและลูกๆ ที่จะมีตามมาได้รับจากรัฐบาลฮ่องกง เป็นความหวาดระแวงต่อหนึ่งประเทศ สองระบบ ระบบสวัสดิการสังคมของชาวฮ่องกง ซึ่งเซ็ตไว้ โดยผู้ปกครองเก่าอย่างอังกฤษนั้น ถูกยกให้อยู่ในระดับเยี่ยมมากเทียบเท่าหรือดีกว่าประเทศตะวันตกเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะระบบประกันสังคมในส่วนของรีไทร์เม้นท์หรือเกษียณอายุ ชาวฮ่องกงจำนวนมาก กำลังหวั่นวิตก ต่อการเข้ามามากขึ้นของชาวจีนในเกาะแห่งนี้ กลัวว่าชาวจีนแผ่นดินใหญ่จะแย่งเงินสวัสดิการของพวกเขา เหมือนที่อเมริกันกลัวคนเชื้อสายต่างด้าวในอเมริกา แย่งใช้สวัสดิการของพวกเขา เช่นใดก็เช่นนั้น เหมือนกัน กลับไปที่เซินเจิ้น เมืองที่เกลื่อนไปด้วยสินค้า “แบรนด์เนม”ระดับโลก แรงบีบของรัฐบาลอเมริกันในประเด็นลิขสิทธิ์ นับว่าได้ผลบ้าง เพราะร้านจำหน่ายสินค้าจำพวกนี้ เปิดให้ลูกค้าเข้าร้านก่อน ต่อจากนั้นก็จะล็อคประตูไว้แน่นหนา กันเจ้าหน้าที่มาเห็นเข้า แต่จริงๆแล้ว ผมคิดว่าน่าจะเป็นที่รู้ๆกันซะมากกว่า ระหว่างเจ้าของร้านกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานลิขสิทธิ์ ครั้นพอตกกลางคืน เมืองเศรษฐกิจของจีนแห่งนี้ ก็คราคร่ำไปด้วยผู้คนจำนวนมหาศาล เดินไปมาขวั่กไขว่ ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน ร้านรวงคึกคัก อย่างไรก็ตามผมเห็นนักเที่ยวฝรั่งตะวันตกค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่มาจากประเทศแถบเอเชีย อย่างเพื่อนบ้านของไทยเรา เสียมากกว่า เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย นี่ก็มาก ผมถามเรื่องระบอบการปกครองของจีน คอมมิวนิสต์ กับประชาธิปไตย สถานการณ์มีแนวโน้มเป็นอย่างไร ไกด์ท้องถิ่น ซึ่งพื้นเพเป็นคนกว่างตง อธิบายว่า แม้ไม่ถึงกับต้องพูด แต่คนจีนส่วนใหญ่ก็รู้อยู่แก่ใจ ว่าระบอบการปกครองแบบไหนเหมาะสมกับพวกเขา ประเทศที่มีขนาดประชากร 1,300 ล้านคน การให้คนจำนวนขนาดเท่านี้เดินไปในแนวเดียวกันไม่ใช่เรื่องง่าย ไกด์ว่าอย่างนี้ ชาวจีนไม่ติดใจในระบบกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ อันไร้ซึ่งกรรมสิทธิ์ เป็นสักแต่ส่งต่อสินทรัพย์เหล่านี้ กันรุ่นต่อรุ่น เพียงไม่กี่รุ่น พวกเขาทำใจปล่อยวางได้เลยว่าไม่ใช่ของของเขาอย่างถาวร ในปัจจุบัน แผนแม่บทพัฒนาเมืองต่างๆของจีน แม้แต่ในรายละเอียด ยังถูกกำหนดจากรัฐบาลปักกิ่ง ทำให้การเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายประสานการพัฒนาเป็นไปในรูปแบบองค์รวมทั้งประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม ระบบไฟฟ้า และการสื่อสารทั้งหมด เซินเจิ้น และฮ่องกงอาศัยไฟฟ้า จากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งตั้งห่างจากเกาลูน (ฮ่องกง) ไม่ไกลนัก แค่ราวๆ 27 ไมล์ พร้อมๆ กับที่ก่อนหน้านี้ มีข่าวโรงไฟฟ้าแห่งนี้รั่ว จนรัฐบาลฮ่องกงออกมาโวยวาย แต่หน่วยงานต้นทางที่รับผิดชอบกลับปิดเรื่องเงียบ บนความเป็นเมืองอุตสาหกรรมและการค้าของเซินเจิ้น ทำให้ปริมาณรถยนต์บนท้องถนน(ที่ก่อสร้างไว้อย่างดีและอย่างมีผังเมืองที่ค่อนข้างเป็นระเบียบเรียบร้อย) มีมาก ยกเว้นแต่มอเตอร์ไซด์ ซึ่งทางการท้องถิ่นไม่อนุญาตให้จดทะเบียน เนื่องจากเกรงความวุ่นวายบนท้องถนน ระบบขนส่งมวลชนจึงเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งมุดลงดินและบนดิน เชื่อมไปถึงเมืองกว่างโจวในระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร ที่สำคัญ คือ รถมอเตอร์ไซด์ในเมืองนี้ถูกผลิตเพื่อการส่งออกเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกับการออกแบบผังเมือง ที่ถูกทำให้สองคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสภาพภูมิศาสตร์ คอนโดมิเนียมที่ผุดขึ้นอย่างกับดอกเห็ดหน้าฝน ตามแบบฉบับฮ่องกง ขนาดเลนถนน จึงค่อนข้างเหมาะเจาะ การดูแลรักษา ในเรื่องความสะอาดก็เข้าขั้นดีทีเดียว สายไฟ(ฟ้า)ถูกเดินไว้ในท่อใต้ดิน ทำให้เมืองดูสบายตา ไม่รกรุงรัง เหมือนหลายๆเมืองในบางประเทศ ที่ปล่อยตามสภาพ หรือบางทีอาจเป็นไปตามหลักวิชาซินแส หรือหลักฮวงจุ้ย? แม่น้ำเซินเจิ้น ที่ไหลเลื้อยอยู่ใกล้ๆ ตัวเมือง แลดูเหมือนกับนิ่ง ไม่ไหล ตลิ่งสองฝั่งถูกเททับไว้ด้วยคอนกรีตอย่างดี แทบไม่เหลือสภาพธรรมชาติเดิม ตกค่ำ สีสันแห่งราตรีก็อุบัติขึ้นบนฝั่งแผ่นดินใหญ่ เฉกเช่นเดียวกับถนนนาธาน บนเกาะฮ่องกง เซินเจิ้น หลอหวู่และที่อื่นๆ ก็คราคร่ำไปด้วยผู้คนที่เดินเบียดไหล่กันและกัน ว่าไปแล้วแฟชั่นตะวันออก ก็เป็นสิ่งสะดุดตาและปรับสภาพให้เหมาะกับขนาดสรีระและวัฒนธรรมของตะวันออกเองได้มาก คิมหันต์ 2017 ร่วมยุคสมัย โลกแห่งจักวรรดิตะวันออก คร่ำไปด้วยรองเท้าบูทคู่มินิ สเกิร์ต เต็มท้องถนนและริมฟุตบาท ในด้านแฟชั่นเอเชีย เข้าใจว่า จีนจะเป็นรองก็แค่ญี่ปุ่น แต่โอกาสแซงนำหน้าก็มีสูงทีเดียว เพราะนี่คือ เมืองที่เป็นฐานการผลิตใหญ่ ทางภาคใต้ของจีน เชื่อมฝั่งฮ่องกง มาเก๊า ประเทศในปกครองของจีน ก่อนกระจายสินค้าออกไปทั่วโลก ในด้านการโปรโมทประเทศ ในเมื่ออเมริกันมี ซีเอ็นเอ็น ญี่ปุ่นมี เอ็นเอชเค อาหรับมีอัลซาซีร่า จีนมีสื่อทีวีอย่าง ซีซีทีวีนิวส์ (CCTVnews) กับเขาด้วยแช่นกัน ทีวีช่องนี้ถูกทำให้กลายเป็นช่องทีวีอินเตอร์ฯไปแล้ว ด้วยระบบการทำงานข่าวและระบบการส่งสัญญาณแพร่ภาพและเสียง ที่ซันออน คืนนั้น ผมนอนดูข่าว “ครม.สัญจร รถไฟความเร็วสูง และวิเคราะห์เลือกตั้งในไทย” อย่างสบายใจเฉิบ…