ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล จากปัญหาที่มีการรายงานพร้อมอธิบายมาโดยตลอดหลายตอน ที่ต้องยอมรับว่า “ถ้าจะให้มีการเรียบเรียง” และ “ประมวลภาพรวมของปัญหาทั้งหมด” ต้องมีการดำเนินการเพื่อการศึกษาพื้นฐานอย่างเป็นระบบ และมีการประเมินอย่างเป็นโครงสร้างเพื่อที่จะได้มีการกำหนดที่เป็นทั้ง “โครงสร้าง-ระบบ” ของ “ปัญหาของประเทศชาติ” ได้ให้ทาง “สังคม-การเมือง-เศรษฐกิจ” ตลอดจน “สภาพแวดล้อม” และแน่นอนที่ในสังคมยุคใหม่ ยังไม่มี “การติดตาม” ถึงปัญหาของ “สภาวะ-บริบทของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” ที่ต้องคอยเฝ้าการเคลื่อนไหวของ “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ที่ต้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันด้านความสัมพันธ์และการค้าการลงทุน ประเด็นปัญหาของปัญหาของสังคมยุคใหม่นั้น ต้องยอมรับความจริงว่า “เด็กรุ่นใหม่” นั้น “ไม่ค่อยมีความรู้-ความเข้าใจ” ถึง “คุณค่าของเงินทอง-ทรัพย์สิน” ตลอดจน “ประวัติศาสตร์-ขนบธรรมเนียมประเพณี” จนเลยเถิดไปถึง “คุณธรรม-จริยธรรม-ศีลธรรม” ที่ได้เคยกล่าวอ้างมาแล้ว แต่ถามว่า “เด็กเยาวชนยุคใหม่” ที่มีแต่ “บริโภคนิยม (MATERIALISM)” ที่ไม่รู้ค่าของเงินทองเลย ทั้งนี้อาจจะไม่เหมารวมทั้งหมดก็เป็นได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ก็ต้องยอมรับว่า “เด็กไทยยุคใหม่ฟุ้งเฟ้อ!” เรามาลองอ่านนะครับว่า “ข้อมูลของบริษัทเครดิตแห่งชาติ” หรือ “เดรดิตบูโร” ที่พบข้อมูลดังนี้ครับ “กลุ่มคนเจนวาย (GEN Y)” เป็นช่วงที่เกิดในปี พ.ศ.2523-2538 หรืออายุประมาณ 22-35 ปี ซึ่งกลุ่มนี้เกิดมาในช่วงกระแสของ “การบริโภคนิยม” มีการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟื่อย ไม่มีการวางแผนทางการเงิน และสามารถเข้าถึงช่องทางการเงินได้ง่าย..และสิ่งที่ตามมาคือ “รายได้ไม่พอรายจ่าย” จนทำให้สถานการณ์กลุ่มหนี้ในปัจุจันกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตในอนาคต “ข้อมูลบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ” หรือ “เครดิตบูโร” พบว่า ในไตรมาส 1/2560 คนเจนวาย 5.24 ล้านคน มีหนี้รวมกันสูงถึง 2.13 ล้านล้านบาท (เยอะนะครับ!) พบประวัติผิดนัดชำระหนี้ 1.1 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุ 29 ปี พบว่ามีหนี้สินต่อคนอยู่ที่ 150,000 บาท ในจำนวนนี้ 20% เป็นหนี้เสีย! ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ นายสุรพล โอภาสเสถียร บอกว่า สาเหตุที่ทำให้คนเจนวาย มีหนี้เร็ว และยอดหนี้สูง เพราะ “ไลฟ์สไตล์” ที่เปลี่ยนไปตามการเติบโตของสังคมเมือง โดยเฉพาะพัฒนาของเทคโนโลยี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวเร่งพฤติกรรมการ ในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และช่องทางการเงินที่ง่ายที่สุดคือ “บัตรเครดิต” และ “สินเชื่อบุคคล” ที่แต่ละธนาคาร ต่างก็แข่งออกโปรโมชั่นมากมายเพื่อตอบสนองลูกค้าในยุคปัจจุบัน ตัวเลขล่าสุดของแบงก์ชาติ พบว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงถึง 80% ของ จีดีพี ประเทศ และช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยังพบว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจาก 3 สาเหตุหลักคือ หนึ่ง อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ สอง มาตรการโครงการภาครัฐที่ผ่านมาไม่ว่าจะเรื่องรถ หรือบ้าน เป็นการกระตุ้นคนที่ไม่พร้อมให้ก่อหนี้ และสาม การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ทำการตลาดเพื่อให้คนเข้าถึงง่าย และสะดวกมากขึ้น ขณะเดียวกันการอนุมัติบัตรเครดิตใหม่ให้กับลูกค้าในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านใบ ในจำนวนนี้ มี 1 ล้านใบหรือ 50% ออกให้คนเจนวาย เพื่อเป็นเครื่องมือในการจับจ่ายใช้สอย โดยตัวเลขหนี้สินต่อคนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2554 ประชาชนมีหนี้ต่อคนเฉลี่ย 70,000 บาท และในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 150,000 บาท และยังพบว่าในระบบเครดิตบูโรมีลูกหนี้ค้างชำระหนี้ 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของประชากร 60 ล้านคน ผู้จัดการใหญ่ “บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ” บอกว่า “คนอายุน้อยไม่ใช่ร้อยล้าน แต่คนอายุน้อยมีหนี้เป็นล้าน หรือคนอายุน้อยเริ่มเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้เสียเร็วภาพต่อไปคือ คนอายุ 55 ปี อีก 5 ปีเกษียณรายได้จะต้องหายไปอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเขาควรจะมีหนี้ลดลง แต่กลับพบว่าหนี้ยังเยอะอยู่ดังนั้นชีวิตหลังเกษียณเรียกว่าถึงวาระสุดท้ายของชีวิตก็ยังมีหนี้ ซึ่งเราไม่อยากเห็นภาพนั้น” ขณะที่ ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ข้อมูลว่า “คนเจนวายเป็นวัยที่เติบโตมากับกระแสการบริโภคนิยมกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายโดยขาดความระมัดระวัง ซึ่งส่วนใหญ่การก่อหนี้ของคนกลุ่มนี้นอกจากหนี้จากการบริโภค อุปโภคแล้ว ยังพบว่าความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟน ก็ทำให้การตัดสินใจเป็นหนี้เร็วและง่ายขึ้นด้วย!” ดังนั้นคนเจนวาย จึงถือเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับความรู้ในเรื่องวินัยทางการเงินมากที่สุดเพื่อเตรียมการเข้าสู่วัยเกษียณมิเช่นนั้นจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในวัยชราที่ต้องแบกรับทั้งภาระหนี้สินและการดูแลตนเองหลังเกษียณจากงานประจำ ถ้าวันนี้ไม่เริ่มแก้ไขอย่างจริงจัง สิ่งที่จะเห็นในอนาคตคือ หนี้สินที่ตามไปถึงวัยเกษียณทำให้ภาวะ “แก่ไม่มีกิน” รุนแรงมากขึ้น! ถามว่า เมื่ออ่านข้อมูลดูแล้ว ก็เกิดความกังวลจนเกิดความวิตกว่า มันอาจจะเป็นจริงก็ได้ ที่น่าจะมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ฟุ้งเฟ้อไม่มีการวางแผนการใช้ชีวิตแต่ประการใด คิดว่าเมื่อมีบัตรเครดิตก็ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟื่อยแล้วผ่อนชำระจ่ายไปเรื่อยๆ จน “หนี้ท่วมหัว!” แล้วเมื่อดำเนินชีวิตแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะเกิดความเคยชิน ผ่อนหมดทุกอย่างจนเกินอายุไปเรื่อยๆ แล้วเมื่อเกินอายุ 55-60 ขึ้นไปจนเข้าสู่วัยเกษียณ ทีนี้ล่ะจะทำอย่างไรเมื่อไม่มีงานทำ ต้องหาอาชีพเสริม ปรับวิถีใหม่ ถ้าทำได้ก็ดี ถ้าทำไม่ได้ก็ยุ่ง! อีกกรณีหนึ่งที่น่ากลัวมากคือ ข่าวคราวปัจจุบันที่แทบเป็นข่าวทุกสัปดาห์ คือข่าว “พ่อฆ่าลูก-ลูกฆ่าพ่อแม่-หลานฆ่าปู่-ฆ่าลุง-ฯลฯ” อะไรทำนองนั้น พอได้ยินมันน่ากลัวจริงๆ ว่า “สังคมเกิดอะไรขึ้น?” เราคงต้องฉุกคิดว่า จะทำอย่างไรดีกับ “การปฏิรูปสังคมไทยทั้งระบบ” เริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัว สื่อมวลชน สภาพแวดล้อมในสังคม ซึ่งจะหวังแต่เพียง “รัฐบาล” คงไม่ได้ ผมเชื่อว่า “คนไทยเรานี่เองแหละครับต้องพิจารณาตัวเอง อย่าเห็นแก่ตัวกันมากนัก-ศึกษาพิจารณาอยู่กันอย่างพอเพียง-อาศัยธรรมชาติหลักธรรมะบ้าง แล้วทุกอย่างจะค่อยพัฒนาดีขึ้น!” แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา! ………………………