ทวี สุรฤทธิกุล มารยาทคือการปฏิบัติที่ดีงามต่อกัน อันนำมาซึ่งความสุขความสำเร็จระหว่างกัน ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกล่าวไว้ว่า การที่นักการเมืองไทยมีมารยาททางการเมืองที่ไม่ดี ก็เป็นเพราะ “ความไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ที่ต้องเริ่มจากความเคารพในผู้หลักผู้ใหญ่” ท่านเปรียบว่า นักการเมืองก็เหมือนดารา พวกดาวรุ่งรุ่นใหม่มักจะเติบโตมากลบดารารุ่นเก่าไปเรื่อย ๆ เพราะวงการดารานั้นอยู่กันด้วย “ความอยากเด่นอยากดัง” เว้นแต่ว่านักการเมืองประเภท “ดาวค้างฟ้า” ที่อาจจะยังคงความโดดเด่นอยู่ได้ ถ้ายังคงสามารถสร้างผลงานดี ๆ ออกมาได้เรื่อย ๆ ที่จะสร้างความนิยมและความประทับใจในหมู่ประชาชน ดังที่ได้กล่าวมาในบทความนี้ 2 ตอนก่อนหน้านี้ว่า “วัฒนธรรมไร้มารยาท” เป็นมรดกบาปที่กลุ่มคณะราษฎรได้ฝากฝังในสังคมไทยมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นแล้ว ด้วยความคิดที่จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ จากนั้นเมื่อยึดอำนาจได้แล้วก็ปลุกปั่นข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการรุ่นใหม่ ๆ ให้รู้สึกเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ก็ไม่สำเร็จ อีกทั้งกลุ่มทหารที่เคยร่วมกอดคอกันมา ก็แตกคอไม่เห็นด้วยกับผู้นำคณะราษฎรในฝ่ายพลเรือนมีแนวคิดอย่างนั้น จนท้ายที่สุดทหารก็พลิกฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาใหม่ กระทั่งได้กลายเป็น “ความสัมพันธ์ที่ทอดทิ้งกันไม่ได้” เพื่อค้ำจุนอำนาจซึ่งกันและกันเรื่อยมา กระนั้นมรดกบาปก็ไม่ได้อันตรธานไป กลับไปส่งผลอย่างรุนแรงในสถาบันรัฐสภา ที่น่าจะได้แบบอย่างมาจากวัฒนธรรม “ไม่เอาผู้ใหญ่” ตั้งแต่ครั้งที่คณะราษฎรครองเมืองนั่นเอง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าถึงการเมืองหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ว่า ช่างเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่บรรดาเยาวชนและคนรุ่นใหม่ใช้เสรีภาพในทางการเมืองไม่เป็น ความวุ่นวายในบ้านเมืองก็เป็นเพราะ “ความไร้มารยาท” ของคนรุ่นใหม่เหล่านั้นเช่นกัน ไม่ต่างกันกับที่เกิดขึ้นในรัฐสภา ตั้งแต่ที่เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีสมาชิกสภาจำนวนหนึ่งสมคบคิดกันที่จะ “เปลี่ยนแปลงระบอบ” ที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มที่จะพิทักษ์สถาบัน ซึ่งตอนนั้นมีชื่อว่า “กลุ่มดุสิต 99” (กลุ่มนี้ประกอบด้วยชนชั้นสูง นักธุรกิจที่มั่งคั่ง และบุคคลที่มีชื่อเสียงหลาย ๆ คน ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นพวก “อำมาตย์” นี้ก็ได้) ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ประกาศใช้ สมาชิกจำนวนมากในกลุ่มนี้ก็ออกมาตั้งพรรคการเมืองกันหลายพรรค ที่เป็นพรรคใหญ่ก็เช่น พรรคธรรมสังคม และพรรคกิจสังคม ซึ่งต่อมาภายหลังการเลือกตั้งในปี 2518 ก็ได้มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็อยู่กันได้ไม่ถึงปี เพราะตลอดเวลานั้นพรรคธรรมสังคมก็มีสมาชิกจำนวนหนึ่ง ได้แสดงความไร้มารยาททางการเมือง คอยก่อกวนเรียกร้องเอาตำแหน่งและผลประโยชน์ต่าง ๆ แต่มารยาทที่เลวร้ายที่สุดก็คือ มีสมาชิกบางคนไปสมคบคิดกับทหารที่จะโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อนายกฯคึกฤทธิ์ทราบเรื่องนี้ ท่านก็ให้คนไปช่วยเคลียร์ แต่ก็ไม่สามารถล้มเลิกความคิดของคนเหล่านั้นได้ ที่สุดท่านจึงประกาศยุบสภาในต้นปี 2519 นั่นเอง การเลือกตั้งในปี 2519 ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กลายเป็น ส.ส.สอบตก แต่ท่านก็ออกมานั่งเขียนบทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐและทำการต่อสู้ทางการเมืองอยู่ดังเดิม ท่านทำนายว่ารัฐบาลใน พ.ศ. นั้นจะอยู่ได้ไม่นาน ด้วยเหตุที่ท่านได้มองเห็นปรากฏการณ์ที่ร้ายแรงอย่างหนึ่งในพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคแกนนำของรัฐบาลผสมชุดนั้น นั่นก็คือความโอหังของ ส.ส.รุ่นใหม่ในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า “ฤาษีเลี้ยงลิง” แล้วการณ์ก็เป็นจริงตามนั้น เพราะภายในรัฐบาลก็มีปัญหาที่คุมกันไม่อยู่แย่เอามาก ๆ อยู่แล้ว แต่นอกรัฐบาลก็ยิ่งแย่มากกว่า เพราะการเดินขบวนและการประท้วงที่ไม่หยุดหย่อนจากกลุ่มเยาวชนทั้งหลาย ที่สุดในการชุมในมหาวิทยาลัยธรมศาสตร์ก็นำมาซึ่งการัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นอันปิดฉากของระบอบรัฐสภานี้อีกครั้ง สิ่งที่ผู้เขียนนำข้อคิดของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เกี่ยวกับมารยาททางการเมืองมานำเสนอนี้ ก็มีเหตุผลเพียงประการเดียวที่จะนำมาเป็น “คติเตือนใจ” แก่คนรุ่นใหม่ที่กำลังคิดจะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองที่ดีคือการเปลี่ยนแปลงด้วย “มารยาทที่ดี” นั่นเอง เราลองมาไล่เรียงเหตุการณ์ดูว่าทำไมม็อบเยาวชนในสมัยนี้จึง “ปลุกไม่ขึ้น” ถ้าจะมองด้วยสายตาของคนรุ่นเก่าอย่างผู้เขียน ก็น่าจะอธิบายได้ 2-3 อย่างคือ อย่างแรก ความเข้าใจ “บริบท” ของสังคมไทยผิด ๆ ที่คนรุ่นใหม่ในสมัยนี้คิดเอาเองว่า คงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ๆ ตามกระแสโลกาภิวัฒน์ ซึ่งก็คือโลกที่โอบล้อมประเทศไทยอยู่ กำลังบีบให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย แต่สังคมไทยไม่ได้อ่อนไหวถึงขนาดนั้น อันเป็นเหตุผลอย่างที่สอง ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้ประเมินสถาบันเก่า ๆ ได้แก่ พระมหากษัตริย์และทหารนั้นผิดไป ด้วยคิดว่าคงจะผุกร่อนไปตามกาลเวลา และสิ้นคุณค่าหมดไปแล้วจากสังคมไทย จึงกล้าที่จะพากันออกมาระดมประณามสถาบันทั้งสองแห่งนี้ และด้วยเหตุผลอย่างสุดท้าย ผู้คนจำนวนมากในสังคมไทย “ยังไม่พร้อม” ที่เดินทางไปสู่อนาคตในแบบที่คนรุ่นใหม่เหล่านี้กำลัง “ขายฝัน” แต่ถ้าหากจะมองด้วยสายตาของคนรุ่นที่เก่าไปกว่าคนรุ่นเก่าในยุคนี้ อย่างคนในสมัยของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็ต้องบอกว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้ “ไร้มารยาททางการเมือง” และกำลังแสดงบทบาทที่คนไทยจำนวนมาก “รับไม่ได้” แม้ว่าอาจจะมีคนไทยหลาย ๆ คนที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ดังนั้นถ้าคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะลอง “ปรับเปลี่ยนบทบาทและวิธีการต่อสู้” ด้วย “มารยาทแบบไทย ๆ” ก็น่าจะพอมีหนทางที่จะประสบความสำเร็จได้บ้าง ที่บอกมานี้ไม่ได้ชี้โพรงให้กระรอก เพียงแค่อยากจะสอนจระเข้ให้ว่ายน้ำเท่านั้น