ณรงค์ ใจหาญ กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดขึ้นมาเพื่อใช้บังคับกับคนทุกคนเพื่อให้มีแบบแผนความประพฤติหรือแนวทางการดำเนินชีวิตเป็นไปในทางที่สอดคล้องกับวิถีทางของสังคมนั้น กฎหมายจึงเป็นทั้งเครื่องมือของรัฐในการวางแนวทางการดำเนินงานรวมถึงการจำกัดหรือห้ามการกระทำที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งที่สังคมต้องการคุ้มครองหรือปกป้อง ด้วยเหตุนี้เอง ลำพังเพียงตัวอักษรที่เขียนไว้ในตัวบทกฎหมายไม่อาจส่งผลก่อให้เกิดการบังคับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือข้อห้ามได้ จำเป็นต้องมีเจ้าพนักงานหรือความร่วมมือของประชาชนผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายเข้ามามีส่วนร่วมในการบังคับตามกฎหมายด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายและกำหนดรัฐมีหน้าที่บริหารกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพเพื่อทำให้กฎหมายสามารถบังคับใช้ได้ตามเจตนารมณ์และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กฎหมายต้องการเพราะกฎหมายที่ออกมามีพื้นฐานจากความเห็นร่วมของประชาชนจนเกิดการยอมรับและตราเป็นกฎหมาย การบังคับให้เป็นปตามกฎหมายจึงเปรียบเสมือนการบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนต้องการนั่นเอง ปรากฎการณ์ที่เกิดในทุกสังคม คือ การฝ่าฝืนกฎหมายหรือการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งมีสาเหตุต่างกัน แต่สาเหตุหลักๆ ที่พบบ่อยคือ การทำตามกฎหมายก่อให้เกิดความยุ่งยากหรือ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปทำให้ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่ลงไป และไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ สาเหตุเช่นนี้มักเกิดกับองค์กรธุรกิจที่ต้องแข่งขันทางการค้า แต่มีทุนน้อยหากต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดก็จะใช้ทุนสูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และผลผลิตที่ได้มีราคาแพงจนไม่อาจแข่งขันกับเขาได้ หรือในกรณีที่ต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องมีการกำจัดของเสียหรือบำบัดน้ำเสียด้วยตนเอง ทุนในการดำเนินการจะต้องบวกเข้าไปในราคาสินค้าทำให้มีราคาสูงขึ้น อันมีผลต่อการแข่งขันกับบริษัทอื่นโดยเฉพาะสินค้าที่มาจากต่างประเทศที่มีคุณภาพและราคาถูกกว่า อีกกรณีหนึ่งคือ ความตั้งใจที่จะหาผลประโยชน์จากการฝ่าฝืนกฎหมายเช่น การกระทำของอาชญากรรมข้ามชาติ องค์กรอาชญากรรม หรือกลุ่มอิทธิพลต่าง ที่แสวงหาประโยชน์จากการทำผิดกฎหมาย เป็นหลัก องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรที่มีศักยภาพทั้งกำลังเงิน กำลังคน เครื่องมือสื่อสาร และเครือข่ายพันธมิตรที่สามารถดำเนินกิจกรรมของตนที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อให้ได้ประโยชน์มาเป็นของตนโดยไม่คำนึงว่าประชาชนทั่วไปจะเดือดร้อนจากการกระทำของตนเพียงใด ลักษณะของการฝ่าฝืนกฎหมายอีกประการคือความไม่รู้ หรือความจำเป็นบังคับ ในกรณีนี้มักเกิดขึ้นกับชาวบ้านที่ไม่รู้กฎหมาย หรือไม่สนใจกฎหมาย เช่น การนำเอาซีดีที่ใช้แล้วมาวางขาย การเข้าไปในที่ป่าสงวนเพื่อทำกิน เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ดำเนินชีวิตตามครรลองที่ตนคุ้นเคย แต่เมื่อรัฐมีนโยบายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จึงประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ชาวบ้านจึงต้องเปลี่ยนพฤติกรรมไม่เข้าไปครอบครองหรือบุกรุกที่ป่าสงวนดังกล่าว ทั้งๆ ที่เคยเป็นการใช้วิถีชีวิตเดิมที่เคยปฏิบัติกันมา หรือในบางกรณีการที่ประชาชนไม่สนใจกฎหมาย เช่นไม่ไปแจ้งเกิด แจ้งตายตามเวลาที่กำหนด กฎหมายกำหนดความผิดไว้ หรือไม่สนใจว่าจะมีกฎหมายห้ามโฆษณา บุหรี่ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางการค้า จึงได้กระทำความผิดไป และผลคือมีคนที่ฝ่าฝืนกฎหมายโดยไม่ตั้งใจจำนวนมาก ตามที่ได้หยิบยกสาเหตุของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องตัดสินใจว่าแต่ละกลุ่มที่ฝ่าฝืนกฎหมายจะต้องถูกดำเนินการอย่างไร เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะในกลุ่มแรก การฝ่าฝืนดูเหมือนว่ากฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามสร้างภาระในการดำเนินงานของหน่วยงานนั้น ทางแก้ไขเพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวเคารพกฎหมายคงต้องลดภาระที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อให้หน่วยงานเหล่านั้นสามารถปฏิบัติ ความตั้งใจของผู้บริหารหน่วยงานที่จะดำเนินการตามกฎหมายก็จะเพิ่มมากขึ้น แทนที่รัฐจะเน้นการตรวจจับ ปราบปรามการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งยากต่อการตรวจสอบติดตาม และเป็นภาระกับเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่มีคดีที่ฟ้องร้องเป็นจำนวนมาก ส่วนการบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่สองนี้มีความแตกต่างจากกรณีแรกเพราะ เป็นการฝ่าฝืนโดยตั้งใจและเป็นองค์กรที่มีอิทธิพล รวมถึงมีเครื่องมือต่างๆ สนับสนุน การบังคับใช้กฎหมายจึงต้องเน้นการปราบปรามเป็นหลัก และเพิ่มกลไกของงบประมาณ บุคลากร เทคโนโลยี ตลอดจนการมีหน่วยงานพิเศษเขามาดูแลหรือบริหารจัดการเป็นการเฉพาะ เพื่อให้สามารถปราบปรามองค์กรเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น รัฐจึงต้องทุ่มเทกำลังคน กำลังเงิน รวมถึงฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความชำนาญและสามารถติตาม จับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษรวมถึงริบเอาผลประโยชน์ที่ได้จากการกระทำผิดมาเป็นของรัฐ หรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย ดังเช่นมาตรการยึดทรัพย์คดีฟอกเงิน หรือริบทรัพย์คดียาเสพติด หรือคดีทุจริต เป็นต้น นอกจากนี้ จะต้องสร้างความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่จะประสานความร่วมมือในการปราบปรามและแจ้งเบาะแสความผิด ในกรณีที่สาม ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้าไปแก้ไขเหตุแห่งความจำเป็นอันก่อให้เกิดแรงผลักดันให้กระทำผิดกฎหมาย เพราะคนกระทความผิดในกลุ่มสามนี้จะเป็นคนชายขอบ หรือเป็นคนต่างด้าว หนือชาวชนบทที่ขาดความรู้ทางกฎหมาย และขาดโอกาสในการเข้าถึงความเป็นธรรม จึงตกอยู่ในฐานะเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมาย ทางแก้ไขปัญหา เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรให้ความรู้ความเข้าใจในกฎหมายใหม่หรือผ่านทางหน่วยงานทางการศึกษาทั้งในและนอกระบบ รวมถึงการเผยแพร่กฎหมายแก่ประชาชนในทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน โลกโซเชียลมีเดียร์ และการกระจายข่าวผ่านทางหมู่บ้านในภาษาถิ่นที่ประชาชนนั้นเข้าใจ การดำเนินการเช่นนี้ควรทำควบคู่กับการเตือนให้ปฏิบัติตามกฎหมายในภาพรวมซึ่งทำต่อบุคคลทั่วไป และด้วยการตักเตือนแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนโดยฉพาะ รวมถึงการแก้ไขเหตุแห่งความจำเป็นอันนำมาสู่การฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น ชาวบ้านบุกรุกเพราะไม่มีที่ดินทำกิน แม้จะจับมาลงโทษก็ต้องกลับไปบุกรุกอยู่ดีเมื่อพ้นโทษ เพราะยังมีความจำเป็นอยู่ จึงต้องแก้ไขโดยการจัดสรรที่ทำกินให้ภายในขอบเขตกำหนด เป็นต้น หน้าที่บังคับให้เป็นไปตามกฎหมายที่เข้มงวดและเป็นธรรมจึงไม่ใช่การดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาทบทวนด้วยว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่มีการสร้างภาระหรือก่อให้เกิดต้นทุนโดยไม่จำเป็นหรือไม่และควรต้องลดภาระในแต่ละเรื่องอย่างไร หรือสร้างแรงจูงใจโดยให้ผลประโยชน์ในทางเศรษฐศาสตร์อย่างไร เพื่อให้องค์กรเอกชนหันหน้ามาสนับสนุนและให้ความร่วมมือ ในขณะที่การบังคับใช้กฎหมายแก่องค์กรอาชญากรรมหรืออาชญากรรมร้ายแรงต้องเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยป้องกันและปราบปรามให้เฝ้าระวังและดำเนินคดีอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพไม่ให้หลบหนีคดีไปได้อย่างลอยนวล ส่วนในกรณีคนชายขอบการบังคับใช้กฎหมายจึงควรเน้นการให้การศึกษาตักเตือนมากกว่าการดำเนินคดี และสร้างทางเลือกให้แก่คนเหล่านี้เพื่อไม่ต้องฝ่าฝืนกฎหมาย และสามารถดำรงชีพได้อย่างพอแก่อัตภาพต่อไป. โดยสรุป การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและเป็นธรรมที่รัฐจะต้องดำเนินการตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญจึงต้องคำนึงถึงสาเหตุ ลักษณะของการฝ่าฝืนรวมถึงปรับปรุงกลไกที่เหมาะกับการแก้ไขปัญหาการฝ่าฝืนในแต่ละเรื่องแต่ละกลุ่มด้วยวิธีการที่แตกต่างกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของความเป็นธรรมและความสุขที่เกิดขึ้นร่วมกันต่อไป