ทวี สุรฤทธิกุล หลายคนสงสัยว่าทำไม “ลุงตู่” จึง “อึด” จังเลย สงสัยว่าจะมี “ของดี” อะไรหนอ? คำถามข้างต้นนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำถามอย่างเดียวกัน ที่บรรดาคนที่เคารพรักท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ถามท่านว่า ทำไมท่านจึงทนได้ในตอนที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่มีแต่เรื่องร้าย ๆ เข้ามาในชีวิต บ้านก็ถูกตำรวจบุกมาพัง เรื่องส่วนตัวก็ถูกนำมาชำแหละอย่างเสีย ๆ หาย ๆ เงินทองก็หมดไปมากมาย ทั้งยังต้องทุกข์ทรมานเหมือนตกนรกอยู่ทั้งเป็น ๆ ท่านตอบคำถามด้วยการย้อนอดีตให้ฟังว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่ท่านใฝ่ฝันมาตั้งแต่สมัยที่ลงเลือกตั้งครั้งแรก ใน พ.ศ. 2489 นั่นแล้ว แต่ก็ไม่ได้คิดที่จะเป็นโดยเร็ว แต่ต้องค่อย ๆ เติบโตไปตามเวลาและประสบการณ์ อย่างที่คนไทยเรียกว่า “ต้องสร้างสมบารมี” โดยหวังว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยจะเจริญก้าวหน้าแบบนานาอารยะประเทศ แล้วอาชีพนักการเมืองของท่านกับนักการเมืองไทยทั้งหลายก็คงจะเจริญรุ่งเรืองไปตามลำดับเช่นกัน แต่การเมืองไทยไม่ได้เป็นไปอย่างที่ท่านและหลาย ๆ คนคาดหวัง เพราะต้องล้มลุกคลุกคลาน มีการรัฐประหารสลับการเลือกตั้ง แล้วทหารก็ครองเมือง ส่วนนักการเมืองก็ไม่พัฒนาไปถึงไหน เพราะมัวแต่เกาะขาผู้มีอำนาจและกอบโกยโกงกิน ทำให้ผู้คนเอือมระอา ท่านเองก็เอือมระอามาก เพราะหลังจากที่ลาออกจากการเป็น ส.ส. ใน พ.ศ. 2492 ท่านก็คิดว่าการเมืองไทยคงจะต้องเป็นเผด็จการไปอีกนาน แต่พอเกิดเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ท่านก็ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกรอบแบบ “ฟ้าบันดาล” (ความจริงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์พูดถึงเรื่องราวในยุคนั้นอย่างชัดเจน แต่ด้วยความเคารพในทุก ๆ สิ่งที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ด้วยนั้น ผู้เขียนจึงต้องนำมาเล่าอย่างระมัดระวัง) กล่าวคือ ท่านต้องไปเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติในยุคนั้น ที่หลายคนเชื่อว่าเป็น “พระราชวินิจฉัย” (ภาษาชาวบ้านน่าจะเรียกว่า “ไอเดีย”) ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงอยากเห็นความรักความสามัคคีของคนในชาติ จึงให้มีการคัดสรรรายชื่อบุคคลจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ จำนวน 2,500 คน ให้มาคัดเลือกกันเองเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้วมาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้ง แล้วนำประเทศไทยเข้าสู่วิถีทางประชาธิปไตยโดยเร็วต่อไป ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เหมือนจะได้รับมอบหมายให้ดูแลสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาแต่ต้น เพราะได้รับการลงคะแนนจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ขึ้นเป็นประธานสภาโดยไม่ยากลำบากนัก ซึ่งท่านบอกว่าเป็นงานที่ยากลำบากมาก แม้ว่าจะเป็นสภาที่มาจากการควบคุมและจัดสรรมาตั้งแต่ต้น แต่ก็ต้องถือว่ามีสภาพเป็น “ร้อยพ่อพันแม่” ก็ว่าได้ เนื่องจากแต่ละคนก็พยายามที่จะสร้างตัวตนให้เป็นที่ยกย่องนับถือ เพราะหลายคนคิดที่จะเล่นการเมือง อย่างเช่นพรรคกิจสังคมก็เกิดขึ้นโดยมีกลุ่มคนที่เคารพนับถือในตัวท่านนั่นเอง มาปรึกษาหารือและขอให้ท่านเป็นหัวหน้าพรรค การเลือกตั้งในปี 2518 พรรคกิจสังคมได้ ส.ส.มาเพียง 18 คน โดยพรรคที่ได้อันดับ 1 ก็คือพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ ส.ส.เข้ามา 72 คน พรรคประชาธิปัตย์จึงได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่พอเข้าแถลงนโยบายต่อสภาก็ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ (ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ก่อนที่รัฐบาลจะเข้าบริหารประเทศจะต้องแถลงนโยบายและผ่านการลงคะแนนเสียงรับรองจากสภาด้วยเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวที่มีข้อบัญญัตินี้ เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มากลัวว่าจะมีผู้ใช้กลไกตรงนี้ไปโค่นล้มรัฐบาลที่มีมาจากฝ่ายเสียงข้างมาก โดยควรจะให้โอกาสในการบริหารประเทศไปก่อน แล้วถ้ามีข้อบกพร่องบริหารประเทศไม่เป็นไปตามนโยบายก็ให้เสนออภิปรายไม่ไว้วางใจเอาภายหลัง) จึงต้องให้สมาชิกสภามารวมขั้วกันใหม่ ซึ่งก็มีผู้เสนอให้พรรคกิจสังคมเป็นแกนนำ ด้วยเหตุผลอย่างหนึ่งว่า “เป็นผู้ที่มีบารมีมาก” ถ้าจะว่าไปแล้ว การขึ้นสู่ตำแหน่งต่าง ๆ ทางการเมืองของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในตอนนั้น เหมือนว่าจะเป็น “ไฟต์บังคับ” คือถูกกำหนดโดยคนรอบข้าง ตั้งแต่ข้างบนจนถึงคนรอบ ๆ ตัว นี่เองที่เป็นสาเหตุให้ท่าน “ต้องทนต้องถึก” เพื่อประคับประคองหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างให้คงอยู่ไว้ต่อไป เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้เขียนยังจำภาพตอนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ออกไปช่วยลูกพรรคหาเสียงที่จังหวัดในภาคใต้ในครั้งหนึ่ง แล้วก็มีชาวบ้านมาขอดูพระเครื่องที่ท่านห้อยคอ ท่านถามชาวบ้านคนนั้นว่าจะดูไปทำไม ชาวบ้านจึงบอกว่าอยากรู้ว่าทำไมท่านจึงมีความรอดพ้นภัยต่าง ๆ มาได้อย่างเหลือเชื่อ ซึ่งชาวบ้านคนนี้คงจะติดตามการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเขาเล่าว่าเขาเคยดูข่าวว่าตอนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น มีคนด่าท่านมากมาย จนถึงขั้นที่มีตำรวจมาพังบ้าน “ท่านทนอยู่ได้อย่างไร?” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์แกะกระดุมที่อกเสื้อแล้วล้วงเอาสร้อยที่แขวนพระไว้นั้นยกขึ้น เอามือตบที่เสื้อกล้ามตรงหน้าอกแล้วพูดขึ้นว่า “มันอยู่ที่ใจพี่เอ๋ย (ท่านมักจะเรียกทุก ๆ คนว่า “พี่” เสมอ ๆ ไม่ว่าจะมีอายุรุ่นราวคราวใด) ถ้าเรามีสิ่งที่เคารพสูงสุดอยู่ในใจแล้ว สิบพระเครื่อง ร้อยพระอรหันต์ ก็สู้ไม่ได้” แล้วท่านก็พูดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ว่าคือ “สิ่งที่เคารพสูงสุด” นั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมี “ของดี” แบบที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคารพบูชานี้หรือไม่ ผู้เขียนก็ไม่กล้าที่จะไปล่วงรู้อะไรได้ แต่เท่าที่ติดตามดู “ความอดทน” ของท่านนายกฯประยุทธ์ ก็ดูเหมือนว่าน่าจะต้องเป็น “สิ่งที่มีพลังมหาศาล” ที่สามารถทำให้คน ๆ หนึ่งยืนหยัดต่อสู้และฝ่าฟัน “ภัยนรก” ต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน หวังว่าจะมีคนที่กล้าไปถามลุงตู่เหมือนกับที่ชาวบ้านภาคใต้เคยถามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เมื่อหลายสิบปีก่อน ประเทศไทยมี “ของดี” มากมาย ถ้าไม่เชื่อ(หรือไม่เคารพ)ก็อย่าลบหลู่ !