เสรี พงศ์พิศ www.phongphit. วันที่ 8 มีนาคมเป็นวันสตรีสากล ไม่มีวันผู้ชายสากล คงเป็นเพราะอีก 364 วันเป็นวันผู้ชายสากลทั้งหมด โลกวันนี้ยังเป็นโลกของผู้ชาย ผู้ชายยังเป็นใหญ่ แม้จะดูเหมือนมีความเท่าเทียม แต่ไม่จริง วันสตรีสากลเป็นวันที่กำหนดเพื่อฉลองความสำเร็จของสตรี และวันเรียกร้องสิทธิสตรี ความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งแปลว่า ไม่ว่าเพศใดทุกคนมีสิทธิ-สิทธิพิเศษเหมือนกัน และเข้าถึงโอกาสต่างๆ เท่าเทียมกัน ในประเทศแม่แบบประชาธิปไตยอย่างสหราชอาณาจักร กว่าสตรีจะมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ก็ใช้เวลากว่า 2,000 ปี ตั้งแต่มีสภาประชาชนในประชาธิปไตยกรีก ผู้หญิงอังกฤษมีสิทธิเลือกตั้งได้จริงๆเมื่อปี 1918 แต่ก็เพียงบางกลุ่ม จนถึงปี 1928 ที่เขาให้ผู้หญิงอายุเกิน 21 ปีทุกคนไปเลือกตั้งได้ แต่ก็ยังไม่สามารถเป็นผู้แทนเข้าสภาได้ หลายปีต่อมาจึงมีสิทธิ และเมื่อปี 1979 นี่เองที่มีนายกรัฐมนตรีสตรีคนแรกที่ชื่อมาร์กาเร็ต เททเชอร์ สตรีอเมริกันเพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งเมื่อปี 1920 ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ส่วนใหญ่สตรีมีสิทธิเลือกตั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศในตะวันออกกลางหลายประเทศเพิ่งให้สตรีไปเลือกตั้งได้เมื่อ 20 ปีมานี่เอง สิทธิสตรีมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนีและอีกบางประเทศ เพราะสตรีต้องต่อสู้เพื่อสิทธิมาตลอดประวัติศาสตร์ ไม่มีสิทธิต่างๆ อย่างที่ผู้ชายเขามีกัน ไม่มีสิทธbเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ไม่มีสิทธิขอหย่าร้าง ไม่มีอะไรที่สตรีมีทุกวันนี้ ที่คนยุคใหม่ไม่รู้ว่ามีการต่อสู้มาหลายร้อยปีกว่าสตรีจะมีสิทธิอย่างวันนี้ ประวัติศาสตร์โลกเป็นประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชาย เป็นโลกที่ผู้ชายมีอำนาจ ในตำนานต่างๆ พระเจ้าล้วนเป็นเพศชาย มีเทพที่เป็นเพศหญิง แต่ก็เป็นรองเทพผู้ชายเสมอ แม้มีวีนัส มีอะเธนาของโรมันของกรีกแต่ก็เทียบไม่ได้กับซุซ อะพอลโล โพไซดอน กับมาร์ซ เทพเจ้าแห่งสงคราม รวมไปถึงเทพปกรณัมในประเพณีอื่นๆ อย่างธอร์ในตำนานเยอรมานิกยุโรปเหนือ หรือบรรดาทวยเทพในประเพณีตะวันออกอย่างอินเดียและจีน ยิ่งกว่านั้น เทพีหรือสตรียังมีภาพลบ ภาพของกิเลส ของบาป ในพระคัมภีร์ไบเบิล อีฟ คือผู้ที่ยื่นแอปเปิลให้อาดัมกิน ทำให้รู้ดีรู้ชั่ว ละเมิดข้อห้าม ทำบาป สตรีเป็นเหมือนงู เป็นผู้ล่อลวงให้คนทำผิด เป็นสัญลักษณ์ของความใคร่ ของเรื่องทางเพศ ความเชื่อทางศาสนาและในตำนานต่างๆ สืบต่อกันมาหลายพันปียังมีผลต่อวิถีชีวิตในสังคมวันนี้ ที่สตรีในหลายประเทศยังไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ บางประเทศเพิ่งให้เรียนมหาวิทยาลัย ให้ขับรถได้เมื่อไม่นานมานี่เอง บางประเทศยังให้แต่งตัวปกปิดทุกส่วนของร่างกาย เปิดเพียงสองรูที่ตาเพื่อให้มองเห็นเท่านั้น แต่คงแปลกใจที่จากการประเมินขององค์การสหประชาชาติ 10 ประเทศยอดแย่ในเรื่องสิทธิสตรี มีประเทศติดอันดับที่หลายคนคาดไม่ถึงอย่างอินเดีย (4) เกาหลีใต้ (8) ศรีลังกา (9) อื่นๆ เป็นประเทศ “อาหรับ” ในตะวันออกกลาง ไม่นานมานี้ เกิดขบวนการ Maria 2.0 ในประเทศเยอรมนี เป็นขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีและการแก้ไขปัญหาการละเมิดทางเพศและการกดขี่ทางเพศในแวดวงศาสนจักรคาทอลิก ขบวนการนี้ได้ทำหนังสือถึงพระสันตะปาปาฟรันซิส และนำการเรียกร้องไปติดตามประตูโบสถ์ เหมือนกับที่มาร์ติน ลูเธอร์ ได้ทำเมื่อ 504 ปีก่อน (1517) ที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปศาสนา เกิดนิกายโปรเตสแตนท์ หนึ่งในข้อเรียกร้องของขบวนการนี้ คือ ให้สิทธิสตรีในการเป็นผู้นำศาสนา เป็นนักบวช บวชเป็นบาทหลวงได้ เช่นเดียวกับนิกายโปรเตสแตนท์หลายนิกายที่มีทั้ง “ศาสนาจารย์” และ “บิชอบ” ผู้หญิง คงไม่ง่ายที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ที่เยอรมันวันนี้เกิดสำนึกใหม่ เพราะขบวนการนี้ใช้โซเชียลมีเดีย ขยายวงกว้าง ทำกิจกรรมต่อเนื่อง ประท้วงโดยจัดพิธีกรรมนอกโบสถ์ บอยคอตไม่เข้าไปร่วมพิธีกรรมในโบสถ์ ไม่ไปทำงานเป็นจิตอาสา บอกว่า “ไม่ใช่ขี้ข้า” ที่ต้องไปรับใช้บาทหลวง บิชอป ขบวนการนี้ขยายข้ามชาติไปออสเตรีย สวิส สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ ซึ่งต่างก็เห็นว่า สตรีควรมีบทบาทเท่าเทียมกันในทางศาสนา มีความรับผิดชอบอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เป็นแต่ผู้ตาม ผู้รับใช้ การปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องสตรีคงต้องเกิดขึ้นในทุกระดับ สังคมไทยยังมีความรุนแรงในครอบครัว ผู้ชายยังทำร้ายสตรี กดขี่ข่มเหง เอาเปรียบสารพัดรูปแบบ ต่อต้านการเรียกร้องสิทธิสตรี ยังให้ค่าตอบแทนแรงงานผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย ทั้งๆ ที่งานเดียวกันเท่ากัน กลับบ้านยังมีงานบ้าน ดูแลลูก สามี พ่อแม่แก่เฒ่าอีก เมื่อประมาณปี 1970 มีการประชุมสตรีสากลที่เม็กซิโก คุณหญิงอัมพร มีสุข เป็นผู้แทนไทย ท่านให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศที่ถามว่า สิทธิสตรีในไทยเป็นอย่างไร ท่านตอบว่า “ประเทศดิฉันผู้หญิงเขาปลดปล่อยเป็นอิสระแล้ว ยังเหลือแต่ผู้ชายเท่านั้น” (ใช้คำว่า emancipation) อีกทั้งยังต้องปรับเปลี่ยนภาษา ซึ่งสะท้อนความคิดและทัศนคติทางเพศ ในภาษาและวัฒนธรรมต่างๆ มีการพูดที่เหมารวมที่สะท้อนแนวคิดทางลบต่อสตรี ฝรั่งบอกว่า “เด็กผู้ชายต้องไม่ร้องไห้” แปลว่าเด็กผู้หญิงเท่านั้นที่ร้องไห้ เพราะเด็กหญิง สตรี ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของความอ่อนแอ ในภาษาไทยก็ด่าว่ากันว่า “ไอ้หน้าตัวเมีย” หมายถึงขี้ขลาด อ่อนแอ ไล่ให้ไป “นุ่งกระโปรง” ไม่แมน ไม่ใช่ผู้ชายที่ต้องเข้มแข็ง ต้องใจสู้ ไม่กลัว ไม่ขี้ขลาด แม้แต่ในสภาที่ว่า “ทรงเกียรติ” ก็มีการพูดกันแบบนี้ คิดถึงสตรี ให้คิดถึงแม่ แม่ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความอ่อนแอ แต่เป็นความเข้มแข็ง อ่อนโยนแต่แกร่งกล้า อดทนสู้ทนให้ลูกเกิดมา เลี้ยงดูจนเติบโต ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่ คิดถึงสตรี คิดถึงวีรสตรีอย่างแม่เรา