ชัยวัฒน์ สุรวิชัย - สิทธิการเรียกร้องคืนอำนาจการปกครองประเทศของประชาชนไม่ใช่กบฏ โดย ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ 29 กันยายน 2551 - บทความทางวิชาการนี้ ผู้เขียนมีจุดประสงค์ที่จะให้สังคมได้ทราบถึงอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญและตามการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยนั้นมีความหมายอย่างไร? รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกตามมติมหาชน 1. ประชาชนชาวไทยได้มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการธำรงรักษาไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติ ทำนุบำรุงรักษาทุกศาสนา เทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นมิ่งขวัญของชาติ ยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและ ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม กำหนดกลไกสถาบันทางการเมือง ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีทางปกครองแบบรัฐสภา รวมทั้งให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและเที่ยงธรรม 2. ผู้อาสาเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจในทางฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหาร จะต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ รวมทั้งให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม 3. ให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนรวมในการปกครอง และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรมฯลฯ โดยการใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายรธน. หรือการตีความในบทบัญญัติแห่งรธน.นั้น จะต้องสอดคล้องกับ “หลักรัฐธรรมนูญ”ดังกล่าว เพราะ “หลักรัฐธรรมนูญ”เป็นเจตนารมณ์และเป็นวัตถุประสงค์ร่วมกันแห่งมหาชน 4. จาก “หลักรัฐธรรมนูญ” กฎหมายรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติยืนยัน 4.1 อำนาจการปกครองประเทศ หรืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยไว้ตาม ม. 3 4.2 รับรองสิทธิให้ประชาชนตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม ม .69 4.3 ทั้งยังได้บัญญัติให้ประชาชนมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 4.4 บัญญัติให้ประชาชนมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาชาติ มาตรา 70 มาตรา 71 4.5 รัฐธรรมนูญได้บัญญัติห้ามมิให้ “บุคคล”หรือ “พรรคการเมือง”ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งห้ามไม่ให้ “บุคคล”หรือ “พรรคการเมือง”กระทำการใดๆเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยบัญญัติไว้ใน มาตรา 68 รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 จึงเป็นบทบัญญัติที่ใช้กับบุคคลหรือผู้ใช้อำนาจปกครอง โดยกำจัดสิทธิซึ่งห้ามไม่ให้ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรธน. เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และห้ามบุคคลหรือผู้ใช้อำนาจปกครองมิให้ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรธน.เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในทางปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 5. เหตุการณ์ที่ได้เกิดการชุมนุมของประชาชนปี 2551 เป็นเวลาอันยาวนานเกินกว่า 3 เดือน 5.1 โดยมีสาเหตุที่ปรากฏต่อสาธารณชนและต่อประชาคมโลกจนเป็นที่รู้กันทั่วไปถึง ความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.237 และม. 309 เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้พรรคการเมืองบางพรรคต้องถูกยุบ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะอยู่ในระหว่างการรอส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญของอัยการสูงสุด และ การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะมีผลทำให้การดำเนินคดีกับอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้มีการสอบสวนไปแล้ว หรือกำลังดำเนินคดีในศาล จะมีผลเป็นการยกเลิกหรือไร้ผลไป อันเป็นการแก้ไขรธน.โดยมีจุดประสงค์ที่จะไม่ให้สถาบันศาลสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม ซึ่งขัดต่อหลักรธน. อันเป็นการใช้อำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางใน รธน. 5.2 ในระหว่างการชุมนุม รัฐบาลได้ทำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก อันเป็นการทำสนธิสัญญาโดยไม่ผ่านรัฐสภา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่า เป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 มาตรา 119 และมาตรา 120 5.3 การชุมนุมต่อต้านที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีคำตอบจากผู้ใช้อำนาจปกครองประเทศ จนมีการเรียกร้องให้รัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศลาออกนั้น เป็นการแสดงบทบาทของการมีส่วนร่วมในทางปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และ ป้องกันการกระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเป็นหน้าที่ที่ป้องกันประเทศรักษาผลประโยชน์ของชาติ โดยได้ใช้วิธีการต่อต้านโดยสันติวิธี ( NON VIOLENCE) 5.4 การชุมนุมโดยเหตุปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจการปกครองประเทศ หรืออำนาจอธิปไตยตามหลักรัฐธรรมนูญและตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนมีสิทธิที่จะต่อต้านโดยสันติวิธี เพื่อให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองหรือคืนอำนาจอธิปไตย กลับสู่ประชาชน อันเป็นสิทธิสูงสุด ( PARAMOUNT) ตามรัฐธรรมนูญของประชาชนที่กระทำได้ การกระทำดังกล่าวที่มีเจตนาที่จะแสดงออกเพื่อเรียกคืนอำนาจการปกครองจากผู้ใช้อำนาจการปกครองนั้น เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เป็นการกระทำความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาใดๆทั้งสิ้น 5.5 การชุมนุมของประชาชนโดยสันติวิธีตามหลักรัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยในสากลนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องของการเอาชนะกันระหว่างประชาชนกับรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่มีสิทธิ ไม่มีอำนาจ หรือไม่มีหลักความชอบธรรมใดๆที่จะต่อสู้กับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้เลย เพราะอำนาจรัฐบาลที่มีอยู่หรือใช้อำนาจนั้น เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนทั้งสิ้น แต่เมื่อประชาชนไม่ต้องการให้รัฐบาลใช้อำนาจในการปกครองประเทศหรือใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนแล้ว อำนาจการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยนั้นต้องคืนสู่ประชาชนทันที 5.6 ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือรัฐบาลหรือผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติใดๆไม่มีอำนาจที่จะชักจูง หรือใช้ จ้าง วาน ยุยง ให้ประชาชนที่ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิเรียกร้องอำนาจอธิปไตยคืนจากผู้ใช้อำนาจการปกครองหรือรัฐบาล มาต่อต้านหรือทำร้ายประชาชนที่มาใช้สิทธิเรียกร้องอำนาจอธิปไตยคืนจากผู้ใช้อำนาจปกครองนั้นหาได้ไม่ เพราะการกระทำดังกล่าวมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรได้ และเป็นการกระทำเพื่อมุ่งหมายให้เกิดการจลาจลได้และการกระทำดังกล่าวไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการปกครองประเทศโดยอำนาจของกลุ่มคนที่ยังคงมีโอกาสยึดครองการใช้อำนาจการปกครองไว้เท่านั้น 5.6 การกล่าวหาผู้ชุมนุมที่ได้กระทำการต่อต้านโดยสันติวิธี โดยกล่าวหาว่าเป็นกบฏนั้น ย่อมเป็นการกล่าวหาโดยที่ไม่มีมูลคดีอาญาในความผิดที่กล่าวหา ( NON PRIMA FACIE ) 5.7 การดำเนินการของพนักงานสอบสวนในการรับแจ้งข้อกล่าวหาหรือการดำเนินการสอบสวน จะต้องมีความระมัดระวังอย่างยิ่ง ( 1. ) เพราะมิใช่เป็นกรณีปกติธรรมดาที่จะรับแจ้งและทำการสอบสวนได้เช่นคดีอาญาโดยทั่วไป เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏได้ตัดสิทธิการกระทำหน้าที่ทั้งของพนักงานสอบสวนและพนักงานตำรวจแล้ว ( 2. ) ในการปฏิบัติหน้าที่และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนนั้น พนักงานสอบสวนและพนักงานตำรวจจะต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมืองตามรธน. มาตรา 74 ซึ่งพนักงานสอบสวนจะรับคดีและทำการสอบสวนอย่างคดีอาญาธรรมดาหาได้ไม่ จะต้องทำการสอบสวนจุดประสงค์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่ามีเจตนาและจุดประสงค์อย่างไร และ ถ้าปรากฏว่าเป็นปัญหาการต่อต้านการใช้อำนาจปกครองประเทศของรัฐบาลแล้ว สิทธิในการทำหน้าที่ของการเป็นพนักงานสอบสวนจะหมดสิทธิในทันที โดยพนักงานสอบสวนจะต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง โดยจะรับเรื่องและทำการสอบสวนเป็นคดีอาญาในข้อหากบฏหาได้ไม่ เพราะการปฏิบัติหน้าที่ในการสอบสวนนั้นเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน พนักงานสอบสวนจะใช้อำนาจของประชาชนเพื่อกล่าวหาผู้ชุมนุมเรียกร้องอำนาจอธิปไตยคืน จากผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือจากฝ่ายบริหาร หรือจากรัฐบาลไม่ได้เลย การดำเนินการใดๆของพนักงานสอบสวน เพื่อให้เกิดผลตามการสอบสวนที่ได้กระทำไปนั้น เช่นการไปขอให้ศาลออกหมายจับ จึงเป็นการกระทำไปโดยที่ไม่มีอำนาจในการสอบสวน และไม่มีมูลความผิดอาญาที่จะทำการสอบสวนได้ ผลของการกระทำดังกล่าวย่อมไม่มีผลในทางกฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับประชาชนได้เลย เพราะเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนเพื่อทำลาย หรือก่อให้เกิดโทษแก่ประชาชนนั้นขัดต่อหลักการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 74 วรรคสอง คือต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง มิใช่เป็นเครื่องมือทางการเมือง