ทวี สุรฤทธิกุล คนรุ่นใหม่สมัยก่อน “กลัว” ทหาร แต่คนรุ่นใหม่สมัยนี้ “เกลียด” ทหาร ความกลัวและความเกลียดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ สัตว์ที่คนว่าน่าเกลียดมักจะเกิดขึ้นจากความกลัวนั้นก่อน เช่น เราเกลียดงู เกลียดแมลงสาบ ก็เพราะคิดว่างูนั้นมีพิษร้าย หรือแมลงสาบมีเชื้อโรค ทั้งที่ความจริงงูไม่ได้พิษไปเสียทั้งหมด หรืองูบางชนิดก็มีนิสัยไม่ได้ดุร้าย และแมลงสาบก็ไม่ได้มีเชื้อโรคในตัวของมันเอง เพียงแต่เรามักจะพบมันอยู่ในที่ที่สกปรก ซึ่งก็คือที่ที่มนุษย์ทำให้สกปรกนั่นเอง ทำนองเดียวกันกับการที่คนรุ่นใหม่ในทุกวันนี้ ความเกลียดชังทหารที่คนยุคนี้มีต่อทหารก็ก่อตัวมาจากความกลัวที่สั่งสมกันมาเป็นทอด ๆ โดยคนรุ่นใหม่ยุคนี้ได้เติบโตมาภายใต้ระบอบการเมืองที่มีทหารเข้ามาครอบงำอยู่ตลอดเวลา ดังเช่นคนที่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี ซึ่งก็จะเกิดในช่วง พ.ศ. 2535 - 2545 พอถึงปี 2549 ที่คนเหล่านี้พอจะจำความได้ ก็จะได้สัมผัสรับรู้ถึงการปกครองโดยทหารในยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)นั้นบ้าง แต่ก็คงจะยังไม่มีความเกลียดกลัวมากนัก เพราะยังไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับทหารมากนัก แต่พอคนเหล่านี้เริ่มเป็นวัยรุ่น โดยเข้าศึกษาในชั้นมัธยม โดยเฉพาะชั้นมัธยมตอนปลายที่ต้องเรียนรักษาดินแดน (ร.ด.) ด้วยมายาคติที่มีคนรุ่นก่อนพูดถึงความทุกข์ทรมานในการฝึกทหาร และการควบคุมการฝึกอย่างกระโชกโฮกฮากของครูฝึก ก็จะเริ่มเกิดความกลัวนั้นขึ้นก่อน ครั้นได้ไปฝึกและเรียน ร.ด.แม้จะไม่ได้หนักหนาสาหัสอย่างที่มีการร่ำลือกัน แต่ด้วยความรู้สึกที่ “ตั้งป้อม” คือเตรียมตัวมาเพื่อต่อต้านทหาร โดยเฉพาะความรู้สึกว่าทหารนั้นมา “พราก” เสรีภาพหรือความสะดวกสบายของชีวิตวัยรุ่น ก็ทำให้คนเหล่านี้แสดงความรังเกียจทหารในที่สุด แล้วยิ่งถึงอายุที่ต้องไปรับการเกณฑ์ทหาร ก็ยิ่งจะโหมความรู้สึกที่เกลียดกลัวทหารนี้มากขึ้น แม้ในหมู่ผู้หญิงที่ไม่ได้ถูกเกณฑ์ก็ยังแสดงท่าทีรังเกียจตามเพื่อน ๆ ผู้ชายนั่นไปด้วย ดังนั้นภายใต้ “โลกทัศน์” หรือการอบรมกล่อมเกลาที่คนเหล่านี้ถูกสังคมบ่มเพาะมา จึงมีสภาพการณ์ที่ไม่ยอมรับทหารดังกล่าว ที่ผู้เขียนว่ามานี้ไม่ได้มีทฤษฎีหรือการวิจัยอะไรมายืนยัน เพียงแต่อาศัยประสบการณ์และข้อมูลส่วนตัวที่ได้รับมาจากการเติบโตมาในสังคมไทยและเคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน รวมถึงที่เคยเกลียดทหารในลักษณะนั้นมาเช่นเดียวกัน เคยเดินขบวนต่อต้านทหารมาตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ครั้นมาสอนวิชารัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ก็ได้สัมผัสถึงข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับทหารมากมาย รวมถึงที่ได้เคยไปร่วมทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติในสมัยที่ “ทหารครองเมือง” อยู่ช่วงหนึ่งนั้นด้วย แต่ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อความเห็นที่ผู้เขียนมาอธิบายนี้ก็คือ การได้ติดตามสภาพสังคมวัยรุ่นผ่านการเฝ้ามองการเติบโตของลูกหลานและผองเพื่อนของลูกหลานเหล่านี้ ที่ทำให้ผู้เขียน “พอจะเชื่อได้ว่า” ความเกลียดทหารที่มาจากความกลัวทหารในเบื้องต้นนั้น ยังคงเป็นความจริงมาทุกยุคทุกสมัย แต่สิ่งที่คนรุ่นใหม่ในยุคนี้มีความแตกต่างจากคนรุ่นใหม่ในยุคก่อนก็คือ พวกเขาเติบโตมาในช่วงที่โลกอยู่ในภาวะ “สงครามข้อมูลข่าวสาร” ทั้งยังเป็นข้อมูลข่าวสารที่ถูก “ปั้นประดิษฐ์” หรือสร้างขึ้นเพื่อหวังผลต่าง ๆ ทางการเมือง เช่น การโฆษณาชวนเชื่อ การล้างสมอง และการสร้างกระแสสังคม เป็นต้น ร่วมกับอิทธิพลของโลกยุคดิจิทัล ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันให้คนสัมพันธ์กันเป็นเครือข่าย ภายใต้ชีวิตของคนสมัยใหม่ที่ค่อนข้างจะเป็นอิสระ แต่ครั้นถูกกำหนดให้เข้ารวมกลุ่ม โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็ทำให้หลาย ๆ คนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง เพียงเพื่อให้เกิดการยอมรับของกลุ่มและสามารถรับข่าวสารและติดต่อสัมพันธ์กันในกลุ่มนั้นได้ ที่สุดโซเชียลมีเดียทั้งหลายก็เป็นเหมือน “โรงบ่มเพาะความคิด” ให้ทุกคนต้องเชื่อหรือต้องคิดเหมือน ๆ กัน จึงทำให้ผู้คนในสมัยนี้เป็น “เหยื่ออันโอชะ” ของบรรดาผู้หวังประโยชน์จากการสร้างกลุ่มสังคมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองนั้นด้วย ในกรณีการสร้างความเกลียดชังทหารก็เช่นเดียวกัน นอกจากการอบรมกล่อมเกลาผ่าน “คำร่ำลือ” ของคนรุ่นเก่า ๆ นั้นแล้ว คนในยุคนี้ยังร่ำเรียนด้วยตำราที่ถูกบิดเบือนมากบ้างมากน้อยบ้าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งผู้เขียนได้เข้าไปดูสื่อที่กลุ่มวัยรุ่นติดตามและสนทนากัน ในเรื่องราวในอดีตเช่น เรื่องของคณะราษฎร และเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ โดยถ้าเป็นเรื่องของคณะราษฎรแล้ว ก็จะมีการ “อวย” กันอย่างเอิกเกริก และลามไปถึงการใส่ร้ายบทบาทของทหารกับการเมืองไทยให้ดูน่าเกลียดน่ากลัวร่วมไปโดยตลอด ส่วนในเรื่องเหตุการณ์ทางการเมือง เช่น การรัฐประหารในครั้งต่าง ๆ ก็จะบรรยายถึงความโหดเหี้ยมของทหารให้ดูน่ากลัวจนเกินจริง รวมถึง “ความบ้าอำนาจ” ที่คิดจะยึดครองประเทศไทยไว้ใต้ท็อปบูตไปตลอดชั่วนิรันดร์นั้นด้วย ที่น่ากลัวมาก ๆ ของสงครามข่าวสารในโลกยุคดิจิทัลนี้ก็คือ การเชื่อมโยงว่าทหารกับสถาบันพระมหากษัตริย์มีการเชื่อมโยงและ “เอื้อประโยชน์” กันและกัน ซึ่งในส่วนที่ผู้เขียนพอจะเล่าให้ฟังได้ก็คือ ทหารให้ความคุ้มครองราชบัลลังก์และสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ช่วยปกป้องคุ้มครองทหาร โดยในรัชสมัยที่ผ่านมาเรื่องนี้แม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ด้วยความที่คนรุ่นใหม่มักจะได้ฟังแต่เรื่องดี ๆ ของรัชกาลก่อน ทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบกับรัชกาลปัจจุบัน และเกิดความวิตกกังวลว่าประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จนถึงขั้นที่คนในรุ่นพวกเขาอาจจะ “หมดอนาคต” ถ้ามีการปกครองกันไปแบบนี้ ข้อสันนิษฐานของผู้เขียนที่เกิดจากการเฝ้าติดตามปรากฏการณ์ทางการไทยมาช่วงชีวิตที่ผ่านมา อาจจะยังไม่น่าเชื่อถือและมีความหนักแน่นพอ ที่จะทำให้มองไปได้ว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นไปในแนวนั้นทั้งหมดหรือไม่ บางทีผู้เขียนเองก็อาจจะถูกสื่อของคนรุ่นใหม่นี้ “ครอบงำ” อยู่บ้างเหมือนกัน เพราะบางวันถ้าไม่ได้เสพข้อมูลของกลุ่มคนเหล่านี้แล้วก็คล้ายกับว่ากำลัง “ลงแดง” อยู่เหมือนกัน บอกแล้วไง สื่อสมัยใหม่นี้มันมีพลังมากจริง ๆ ทหารแก่ ๆ จะเอาอะไรมาสู้กับเขาได้