ทวี สุรฤทธิกุล “ผู้ปกครองที่ปลิ้นปล้อนน่ากลัวยิ่งกว่าที่ทำทุจริต นักการเมืองที่ขลาดกลัวน่าอายยิ่งกว่าที่ทำเป็นโง่เง่า” รัฐบาล “สามป๋า” (ฟังดูคล้ายพวกคณะตลกสามช่า) กับรัฐสภา “ศรีธนญเชียร์” (เหมือนนิทานตลกของไทย) ได้ร่วมกันประกอบ “วีรเวร” ที่น่ารังเกียจและไม่น่าให้อภัย ด้วยการ “สร้างความเละเทะ” ให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ดูเหมือนว่ารัฐธรรมนูญไม่มีความสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือการไม่เห็นหัวประชาชน ด้วยการแสดงที่อำนาจบาตรใหญ่ คิดจะทำอะไรก็ทำได้ โดยไม่สนใจว่ากำลังทำให้ระบอบรัฐสภากำลัง “ตกต่ำลง ๆ” รัฐบาลนี้ได้ประกาศเป็นนโยบายว่า จะสนับสนุนกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกันรัฐสภานี้ที่คุมเสียงข้างมากอยู่ในฟากของรัฐบาล ก็ย่อมจะต้องดำเนินบทบาทเพื่อร่วมสนับสนุนไปด้วยกัน แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะประกาศนโยบายนั้นด้วยความไม่เต็มใจ ซึ่งดูได้จากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่เฝ้าสอบถามตลอดมา ถึงบทบาทของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ตอบแต่เพียงว่า “แล้วแต่สภา” นี่ก็แสดงถึงความที่ “ปากกับใจไม่ตรงกัน” เพราะในการแถลงนโยบายที่บอกว่าจะสนับสนุนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จากที่แสดงออกในภายหลังกลับแสดงบทบาทหลีกเลี่ยงหลบหนี ในขณะที่สมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภานั้น แสดงทีท่าที่ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด นั่นก็แสดงถึงการแสดงบทบาท “ตีสองหน้า” ของรัฐบาลอีกด้วย คือในขณะที่ประกาศว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้ตำหนิติติงอะไรกับสมาชิกรัฐสภาที่เป็นลิ่วล้อบริวารของรัฐบาล เหมือนกับว่า “รู้เห็นเป็นใจ” ที่จะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ “เลอะเทอะเหลวแหลก” ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีความสามารถในการ “ล่อหลอก” ก็จะได้รับความชื่นชมจากฝ่ายผู้มีอำนาจ รวมถึงผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลในแนวทางนี้ด้วย ที่ผู้เขียนรู้สึกไม่พอใจ(และอาจจะมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้สึกคล้าย ๆ กัน)ก็เพราะการกระทำของรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาในฟากฝ่ายของรัฐบาล เป็นการกระทำที่กำลังจะสร้างภัยอันตรายให้กับระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ซึ่งถ้าหากจะอธิบายด้วยแนวคิดทางวิชาการที่ผู้เขียนได้ศึกษาร่ำเรียนมาและใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินสั่งสอนลูกศิษย์มากว่า 30 ปีนี้ เขียนไว้อย่างชัดเจนว่าระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภานี้มีรัฐสภาเป็นใหญ่ รัฐสภาเป็นที่มีของอำนาจในฝ่ายบริหาร คือเป็นผู้แต่งตั้งคณะผู้ปกครองและควบคุมกลไกในการบริหารประเทศ ทั้งยังเป็นผู้กำหนดนโยบาย จัดสรรงบประมาณ ตรวจสอบและประเมินรัฐบาล เพื่อที่จะให้รัฐบาลนั้นได้ทำงานต่อไปหรือต้องเปลี่ยนแปลงรัฐบาล นั้นด้วย แต่ในกรณีของประเทศไทยน่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มี “เสนา” (ในพจนานุกรมหมายถึง “ทหาร”) เป็นใหญ่ โดยมีรัฐสภาเป็นลูกมือหรือ “ลูกไล่” ที่ทั้งรัฐบาลและรัฐสภาต้องยอมก้มหัวให้ และทำตามที่เสนาสั่งการหรือ “บงการ” ดังนั้นระบอบของเราจึงน่าจะเรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยในระบบเสนา” นั้นมากกว่า เล่ห์เหลี่ยมของเสนาที่ต้องการจะครอบงำการเมืองไทย เป็นไปดังที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ได้ให้สัมภาษณ์ในวันรุ่งขึ้นภายหลังจากที่มีการล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้วว่า น่าเห็นใจผู้อยากแก้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ “เขา” อยากให้แก้ยาก ซึ่งคำว่า “เขา” ในความคิดของคนทั่วไปคงจะหมายถึงคณะกรรมการที่ร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน แต่ในความคิดของคุณชวนและคนที่ติดตามการเมืองไทยมาตลอด คงจะเป็นอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากคนที่มีอำนาจเหนือคณะกรรมการชุดนั้น (พูดตรง ๆ ก็คือคนที่แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งก็คือ “คสช.” ที่ทหารมีอำนาจกำกับควบคุมนั่นเอง) ดังนั้นถ้าจะตีความจากคำพูดของคุณชวน ก็พอจะแปลความไปได้ว่า เหล่าเสนาใหญ่ ๆ นี่เองที่ควบคุมกลไกทางการเมืองของประเทศไทยเรานี้ทั้งหมด ที่แม้แต่สมาชิกรัฐสภาที่ได้รับอำนาจจากประชาชน(ตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้)ก็ยังต้องยอมให้ “เขา” มาจูงจมูก โดยเหยียบข้ามศีรษะประชาชนไปอย่างไม่แยแส ตราบใดที่ “รัฐสภาในกำกับเสนา” ยังเป็นอยู่กันอย่างนี้ ก็อย่าหวังเลยว่าเราจะได้เห็นอนาคตที่ดีขึ้นของระบอบประชาธิปไตย แต่เท่าที่ดูก็เห็นนักการเมืองไม่ได้เดือดร้อนอะไรมากนัก อย่างที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ได้ให้สัมภาษณ์ในวันรุ่งขึ้นภายหลังการวอล์กเอาต์ไม่ร่วมโหวตล้มร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวถามนายอนุทินว่าถ้ารัฐสภายังวุ่นวายกันอยู่อย่างนี้ แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้เมื่อไร นายอนุทินใช้คำตอบที่ฟังดูเหมือนว่าจะตีวัวกระทบคราด ว่าคงต้องรอให้พ้นห้าปีนี้ไปก่อน เพื่อให้พวก “ไดโนเสาร์” หมดไปก่อน ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกกำกับไว้ด้วยบทเฉพาะกาลที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูก “พันธนาการ” ด้วยพวกความคิดเก่า ๆ ซึ่งถ้าผู้เขียนเดาใจนายอนุทินไม่ผิด ก็น่าจะหมายถึง “เสนา” ทั้งหลายนั่นแหละ แต่ก็แปลกใจมากที่พรรคภูมิใจไทยก็ยังยอมอยู่ใต้ “อุ้งเท้า” ไดโนเสาร์เหล่านั้น และรับรองการใช้อำนาจคุกคามประชาธิปไตยของเสนาเหล่านั้นอยู่ต่อไป