เสรี พงศ์พิศ www.phongphit. ไอทีเป็นดาบสองคม ใช้ดีก็ดี ใช้ไม่ดีก็มีปัญหา อย่างเรื่องการสืบค้นข้อมูลที่ทำได้ง่าย และการก๊อบปี้ก็ง่ายด้วย โรคที่มากับไอทีที่ระบาดไปทั่วโลก คือ โรค CP หรือ copy paste แต่เดิมมาก็มีการลอกข้อมูล ข้อคิดข้อเขียนของคนอื่นโดยไม่อ้างอิงหรือให้เครดิตเจ้าของที่เรียกกันว่า plagiarism โดยเฉพาะในงานวิจัย งานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ซึ่งก็มีการจับได้ไล่ทันและไล่ออกจากหน้าที่ โดยเฉพาะนักการเมือง หรือผู้บริหารองค์กร ซึ่งมีอยู่ทั่วโลก ในความเป็นจริงมีมากกรณีที่ไม่เป็นข่าว ส่วนหนึ่งเพราะสถาบันการศึกษาเองก็กลัวเสียชื่อเสียงที่ปล่อยให้ “หลุด” ไป อีกส่วนหนึ่งก็เพราะการลอกมีวิธีการที่แนบเนียนจนยากจะจับผิดได้ แม้จะมีเครื่องมือทันสมัยที่อ้างว่าสามารถจับผิดการลอก คล้ายกับการจับเท็จการสอบสวนคดี แต่ก็มีมืออาชีพที่เก่งกว่า ที่ทำกันแยบยลกว่านี้ก็มี อย่างการจ้างคนทำวิทยานิพนธ์ ทำกันเป็นขบวนการ กล้าหาญจนเคยโฆษณาในโซเชียลมีเดีย หรือถ้าไม่อยากให้จับได้ไล่ทันและเป็นข่าวก็ให้ “ลูกน้อง” ซึ่งมีมากมายทำให้ แล้วปูนบำเน็จให้อย่างงาม ซึ่งไม่ได้มีแต่นักการเมือง ข้าราชการ หรือนักธุรกิจ แต่ผู้ดีตีนแดง คนมีเงินมีอิทธิพลก็จ้างได้ อีกวิธีหนึ่ง ก็สมัครเรียนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศบางแห่งที่มีวิธี “ศรีธนญชัย” ให้ปริญญาโทเอกได้แบบพิสดาร ไปที่นั่นครั้งสองหนก็พอ บางแห่งไม่ต้องไปก็มี บางแห่งเป็นเพียงห้องแถว แต่จ่ายครบจบแน่ มีคนจัดการวิทยานิพนธ์ให้เสร็จ รอรับปริญญาเท่านั้น ดังกรณีที่เป็นข่าวฝ่ายค้านเปิดโปงปริญญาเอกนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ทั้งๆ ที่ดร.เต็มสภาทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน บางคนไม่กล้าเขียน ดร.นำหน้า กลัวคนจะถามว่าจบจากไหน เอาไว้เขียนในนามบัตรและใช้ตอนไปหาเสียง ไปพบชาวบ้าน ไปงานที่คนไม่ต้องถาม แต่จะชื่นชมที่เรียนจบดอกเตอร์ แม้เรื่องการลอกเป็นเรื่องของมนุษย์ทั่วโลก แต่มโนสำนึกเรื่องการลอกบ้านเราน่าจะมีข้อแตกต่างด้วยวัฒธรรมที่คิดว่า ไม่ใช่ความผิดอะไร (ร้ายแรง) เพราะลอกการบ้านเพื่อนมาตั้งแต่ประถมแล้ว ขโมยยางลบเพื่อน หรือมะม่วงชาวบ้านล้นออกมานอกรั้วริมทางก็เก็บไปกินได้ เมื่อไอทีก้าวหน้า การหาข้อมูลง่ายเข้า การก๊อบปี้เพสท์จึงทำได้ง่าย เอามาแปะ มาตัดต่อแล้วส่งครู ทำกันตั้งแต่ประถมมัธยมแล้ว ไปถึงมหาวิทยาลัยจึงไม่ต้องพูดถึง แล้วปริญญาโทเอกจะเหลืออะไร จึงเคยมีนักศึกษาที่ลอกงานเขียนผมเป็นหน้าๆ ในวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ผมถามตอนสอบว่า ทำไมถึงลอกยาวขนาดนั้นโดยไม่บอกที่มา เขาตอบว่า เพราะอาจารย์เขียนดีมากครับ เป็นปัญหาคุณภาพการศึกษาของบ้านเราที่ไม่ได้สอนให้คิดเป็นตั้งแต่เกิด ตั้งแต่ชั้นประถมมัธยม ไม่สอนให้ใช้ “ความคิดรวบยอด” (concepts) จึงไม่มีเครื่องมือในการคิด ซึ่งคือการวิเคราะห์ สังเคราะห์ การคิดแบบนิรนัย คิดแบบอุปนัย ซึ่งก็ใช้กันในวิชาการต่างๆ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ บ้านเราสอนแต่ “facts” ข้อเท็จจริง ข้อมูลดิบๆ บอกว่าอะไรเป็นอะไร มีรายละเอียดมากมายให้นักเรียนนักศึกษาท่องจำ แต่มักไม่สอนว่า “ทำไม” ซึ่งต้องอาศัยคอนแซปต์ หรือแนวคิดนามธรรม ด้วยเหตุนี้ โตขึ้นมาจึงคิดไม่เป็น เพราะได้แต่ท่องจำมาตลอด พูดอะไรก็เรียกร้องให้พูดแบบกินได้ ประชาธิปไตยจึงเป็นนามธรรม ไปเรียนปริญญาโทเอก ทำวิทยานิพนธ์จึงมีจุดอ่อนที่ขาด “กรอบคิด” (conceptual framework) ที่ชัดเจน เหมือนคนจะสร้างบ้าน ไม่มีแบบแปลนที่ดี คิดเอาเองว่าอยากทำนั่นนี่ ไม่ค่อยมีเครื่องมืออะไร แล้วจะสร้างบ้านใหญ่ได้อย่างไร อย่างมากก็แค่กระต๊อบหรือเพิงหมาแหงน ส่วนเรื่องวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่เป็นประเด็นทางสื่อระยะนี้ อาจไม่ใช่ plagiarism หรือการลอกอย่างผิดระเบียบ แต่ถูกทักท้วงเรื่อง “การสรุป” เรื่องบทบาทของ “เจ้า” กับเหตุการณ์ทางการเมือง จนเรื่องนี้กลายเป็น “การเมือง” ไปแล้ว ถ้าเป็นเรื่อง “การตีความ” ก็เป็นประเด็น “เสรีภาพทางวิชาการ” ที่สู้กันได้ด้วยเหตุด้วยผล แต่ถ้าผสมอคติทางการเมืองเข้าไปด้วยก็คงคุยกันไม่ได้แล้ว ทั้ง “ฝ่ายตั้ง” และ “ฝ่ายต้าน” เพราะถ้าเช่นนั้น คงไม่ใช่มีแต่กรณีวิทยานิพนธ์ฉบับนั้นที่เป็นปัญหา น่าจะมีอีกมากมาย รวมไปถึงการที่มีนักคิดนักเขียนอีกจำนวนมากที่อาจจะ “ด่วนสรุป” ไม่ว่าซ้ายหรือขวา อย่างมีคนเชิดชูคณะราษฎร และมีคนบอกว่าเป็นโจร เพราะเส้นแบ่งนั้นดูบางมากระหว่างเหตุผลกับความเชื่อ ประวัติศาสตร์กับตำนาน (myth) ลองคิดถึงกรณีหลายปีก่อนเรื่องคุณหญิงโมที่มีนักวิชาการเกือบถูกรุมประชาทัณฑ์เพราะไปแย้ง “ประวัติศาสตร์” หรือกรณีพระนเรศวรที่ทำให้นักคิดนักประวัติศาสตร์ถูกฟ้องหมิ่นฯ เพราะแสดงความเห็นที่ขัด “ความเชื่อ” นักวิชาการบางคนก็แก่กล้าและเคร่งครัดในวิธีวิทยาของวิชาการต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีวิธีเดียว การตีความก็ทำได้ด้วยทฤษฎีที่ต่างกัน ไม่เช่นนั้นคงไม่มีมาร์กซ์ขึ้นมาแย้งเฮเกลกับอาดัมสมิธ ไม่มีหลายแนวคิดทฤษฎีว่าด้วยวาระสุดท้ายของพระเจ้าตากสิน หรือจะสรุปแบบกำปั้นทุบดินว่า “ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่เราเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง” (นิธิ เอียวศรีวงศ์) สุดท้ายแปลว่าแล้วแต่ใครจะเชื่อ แล้วแต่ตรรกะไหน ทฤษฎีอะไร เข้าฝันก็เชื่อได้ ที่จริง สิ่งที่เราคิดเราเขียน ไม่ว่าบทความหรืองานวิจัยวิทยานิพนธ์ไม่มีอะไรที่ “original” แบบมาจากความคิดของเราเองทั้งหมด ล้วนแต่เป็นการผสมผสาน การสังเคราะห์ข้อมูลความรู้จากคนอื่น แต่ก็ควรจะมี “อะไรใหม่” บ้าง แม้ไม่ใช่ “ทั้งแท่ง” โดยเฉพาะระดับปริญญาเอก รวมทั้งควรให้เครดิตแนวคิดที่เป็นของผู้อื่น เป็นเพราะไม่ค่อยมี “อะไรใหม่” ในงานวิจัยปริญญาโทเอก รวมทั้งงานวิจัยซึ่งมีทุนน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในทางธุรกิจ เราจึงไม่มีสตาร์ตอัพในระดับยูริคอร์น (พันล้านเหรียญ) และขาด “พลังปัญญา” ในการพัฒนาบ้านเมืองให้มีเสรีภาพและประชาธิปไตย