พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ผมได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนคนไทยทางแคลิฟอร์เนีย ที่รู้จักกันมานานบางคน ทำให้เห็นถึงแนวคิดหลายอย่างเกี่ยวกับการวิวัฒน์พัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงของชุมชนไทยในอเมริกา โดยที่เพื่อนๆ เหล่านี้ทำมาหากินอยู่ที่นี่มานานเกิน 30 ปี กันเป็นส่วนใหญ่ เพื่อนบางคนอยู่ในวัยกำลังใกล้เกษียณ บางคนก็เกษียณไปแล้ว แต่เนื้อใหญ่ใจความที่พวกเขาสื่อถึงผมคือ ความปริวิตกเกี่ยวกับการจัดการชุมชนไทยในอเมริกา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อลูกหลานในอนาคต ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดการชุมชนไทย (ซึ่งก็เหมือนกับชุมชนชาติพันธุ์อื่นๆที่ไปปักหลักอยู่ในอเมริกาและขยายเติบโต) ออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายประชาชนหรือคนในชุมชน ฝ่ายหน่วยงานของรัฐไทยและฝ่ายหน่วยงานของรัฐอเมริกัน การพัฒนาใดๆ ก็ตาม หากว่า 3 ฝ่ายไม่ประกอบกันอย่างบริบูรณ์หรือครบองค์สามแล้ว ก็เป็นเหตุทำให้เชื่อได้ว่า จะไม่ประสบผลสำเร็จ กล่าวคือ ทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างเชื่องช้า เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของคนไทยในชุมชนไทย แม้เราจะมี “ไทยทาวน์”ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม แต่มีคำถามเกิดขึ้นว่า ไทยทาวน์ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และส่งเสริมภาพลักษณ์ของคนไทย ประเทศไทยได้มากน้อยขนาดไหน ทั้งเวลาพูดอธิบาย ถึงองคาพยพแห่งวิถีชีวิต คนไทยในอเมริกา ที่มีทั้งภาพเล็กและภาพใหญ่ ก็เป็นเหตุให้ได้ข้อเท็จจริงไปอีกแบบหนึ่ง การแยกแยะการคำกล่าวในการอธิบายจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะคนไทยในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐไทยในอเมริกาไม่เข้าใจและไม่พยายามทำความเข้าใจชุมชนไทยที่นี่ ทั้งๆ ที่หากมีความพยายามและให้ความสำคัญเสียหน่อยก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก การใช้จ่ายงบประมาณที่มาจากเงินภาษีของพี่น้องคนไทยในประเทศก็จะเป็นไปอย่างคุ้มค่ามากกว่าเดิม หน่วยงานรัฐไทย สมควรที่จะต้องทำความเข้าใจเพื่อพัฒนาการที่ดีงามและงานบูรณาการชุมชนไทยในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการโปรโมทภาพลักษณ์ของประเทศไทยและคนไทยโดยทั่วไป หรือเพื่อวิถีความเป็นอยู่ของที่นี่ให้ดีขึ้น รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศก็ตาม น่าสนใจว่า เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐไทย ที่ปกติแล้วย้ายไปย้ายมา เพื่อกินตำแหน่ง ชั่วครั้งชั่วคราว แค่ไม่กี่ชั่วข้ามปี ได้ใส่ใจทำการศึกษาค้นคว้าหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชุมชนไทยในอเมริกากันมากน้อยขนาดไหน อย่างเช่น การสำรวจและวิจัยด้านประชากรคนไทย งานศึกษาและวิจัยด้านประวัติศาตร์และวัฒนธรรมของชุมชนไทยในอเมริกา ซึ่งจะเป็นฐานนำไปสู่การ “การเข้าถึงให้ตรงจุด” ต่อการพัฒนาชุมชนไทย การโปรโมทประเทศไทย ตลอดถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศอเมริกาในภาพรวมใหญ่ ส่วนใหญ่ที่ทำกันอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะการกำหนดทิศทางหรือนโยบายมาจากรัฐบาลไทยที่กรุงเทพ ส่งผ่านหน่วยงานในต่างแดนเสมือนเป็นแขนขา หน่วยงานของรัฐไทย อย่างสถานทูต สถานกงสุล เป็นหน่วยงานปลายทาง ขณะที่รัฐบาลเป็นส่วนหัวบัญชาการ น่าเป็นห่วงว่า ก็ในเมื่อส่วนหัวไม่ให้ความสนใจที่จะทำความเข้าใจองคาพยพทั้งหมดของชุมชนไทยและคนไทยในอเมริกาแล้ว ส่วนหางก็สักแต่ทำแบบขอไปที ตามหน้าที่ พอย้ายไปรับตำแหน่งที่อื่นก็เป็นอันจบกันไป ไม่ต่อเนื่อง ไฟไหม้ฟางมาเรื่อยๆ ดูอย่างงานส่งเสริม(โปรโมท) วัฒนธรรมและประเพณีไทย(เพื่อภาพลักษณ์ สะท้อนเอกลักษณ์ เอกราชของไทย สืบเนื่องต่อไปถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย) ที่กระทำกันในอเมริกาทุกวันนี้ เป็นตัวอย่าง กล่าวคือ แทบทุกครั้งในการจัดงานโปรโมทวัฒนธรรมไทย หน่วยงานของรัฐไทย คือ (หน่วยงานของ)กระทรวงการต่างประเทศ จะถูกวางให้เป็นสะดมภ์หลักในการจัดหรือประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในส่วนของฝ่ายไทยและในส่วนของฝ่ายอเมริกัน ซึ่งว่าไปแล้วหน่วยงานเอกชนและบุคคลของไทยในอเมริกาเอง มีส่วนในการช่วยเหลือเป็นธุระปกติอยู่แล้ว แม้รู้ว่า งานด้านวัฒนธรรมนั้น ย่อมไม่ใช่งานที่กระทรวงการต่างประเทศถนัด ก็ในเมื่อเรามีกระทรวงวัฒนธรรม ที่มีกลไก การทำงาน เรื่องนี้โดยตรงอยู่แล้ว เพื่อนผมหลายคนไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่ดึงหน่วยงานที่ดูแลด้านวัฒนธรรมโดยตรงเข้ามาจัดการงานด้านวัฒนธรรมอย่างมืออาชีพ ก็ในเมื่อเวลานี้รัฐไทยยังมีตัวแทนของกระทรวงอื่นๆตั้งสำนักงานอยู่ได้ เช่น พาณิชย์ คลัง การท่องเที่ยวฯ เป็นต้น โดยความเชื่อว่า กระทรวงวัฒนธรรมของเรามีบุคคลากรที่มีคุณภาพอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะภาพของการจัดงานส่งเสริมวัฒนธรรมไทยในอเมริกาเวลานี้ ก็คือ การจัดแต่ละครั้งคณะผู้จัด จะต้องขอความช่วยเหลือจากวัดไทย ซึ่งพอมีครูอาสา(ที่ปกติมีประจำอยู่ตามวัดบางวัด) ที่มีความรู้ “เฉพาะด้าน” ทางด้านวัฒนธรรมไทยแขนงต่างๆอยู่บ้าง ไม่ใช่เรื่องแปลก สำหรับความมือระหว่างวัดไทยกับชุมชนไทย แต่ในเมื่อต้องการเห็นสิ่งที่เรียกว่า “งานบูรณาการด้านวัฒนธรรมไทย”อย่างแท้จริง ซึ่งจะเกิดคุณูปการหลายสิ่งหลายอย่างตามมาแล้ว การเอามืออาชีพ หน่วยงานอาชีพที่ชำนาญโดยตรง ก็น่าจะเป็นประโยชน์อย่างรวดเร็วและมากขึ้นต่อประเทศไทยและคนไทยที่นี่ รวมทั้ง สิ่งที่คนไทยหลายๆ คนที่นี่อยากจะเห็น คือ ศูนย์วัฒนธรรมไทยในอเมริกา ความหมายก็คือ เมื่อคนไทย คณะคนไทย เยาวชนไทย (หรือแม้กระทั่งคนอเมริกัน) ฯลฯ ต้องการเรียนรู้ และจัดงานด้านวัฒนธรรมไทย พวกเขาเหล่านี้สามารถเข้าไปใช้ทรัพยากรและใช้บริการของศูนย์วัฒนธรรมไทยแห่งนี้ได้โดยทั่วกัน ศูนย์แห่งนี้ จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมด้านวัฒนธรรมของไทยทาวน์แต่ละแห่ง ในแต่ละรัฐได้ นอกเหนือไปจากไทยทาวน์ฮอลลีวูดที่ถือเป็นศูนย์กลางคนไทยแห่งแรกแล้ว โดยที่ “ไทยทาวน์”เอง ก็ไม่จำเป็นต้องมีแห่งเดียว เมืองในรัฐฝั่งตะวันออก เช่น นิวยอร์ค ชิคาโก น่าจะมีไทยทาวน์ได้ เพราะมีขนาดชุมชนไทยที่ใหญ่เช่นเดียวกัน เหตุผลอีกประการ คือ การทำงานด้านวัฒนธรรม รวมทั้งงานเผยแผ่พระศาสนา มักไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนทั้งคนและอุปกรณ์จากรัฐไทยโดยตรงมากนัก ทั้งที่เป็นความจำเป็น โดยเฉพาะต่อลูกหลานคนไทยที่เติบใหญ่ในต่างแดน ที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ รัฐบาลหลายๆ ประเทศ อย่าง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนามก็ให้ความสำคัญ และลงมือทำไปแล้ว มีทั้งศูนย์ มีทั้งสื่อ เป็นแหล่งข้อมูล สนับสนุนกิจกรรมด้านวัฒนธรรม ซึ่งจัดเพื่อโปรโมทประเทศของพวกเขา ตามชุมชนของพวกเขาเอง หรือแม้ตามสถานที่แสดงวัฒนธรรมต่างๆในอเมริกา วัฒนธรรม ถือเป็นฐานสำคัญ และมูลเหตุเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเศรษฐกิจหรือประเด็นความมั่นคงระหว่างประเทศคู่สัมพันธ์ โดยเฉพาะสัมพันธ์ประเทศไทยกับอเมริกา ที่เพิ่งผ่านรอบ 175 ปี ไปเมื่อไม่นานมานี้ มีผลประโยชน์พัวพันอย่างแยกไม่ออก ขณะที่อเมริกันนั้น เข้าไปมีศูนย์เพื่อโปรโมทวัฒนธรรมอเมริกันหลายแห่งอยู่ในเมืองไทยมานานหลายปี จะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็แล้วแต่ การดำเนินการในเรื่องนี้จะให้คุณมากขึ้น หากข้าราชการไทยในอเมริกาในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้เตรียมการจัดหาข้อมูลให้รอบด้าน หลากหลาย ทั้งจากตัวบุคคลและสถานที่ เพราะที่ผ่านมา เราเสียเงินประมาณเพื่อพิธีการต้อนรับคณะบุคคลทั้งจากภาคการเมืองและภาคราชการที่เดินทางมาจากเมืองไทยไปเป็นจำนวนไม่น้อย หรือจะปล่อยให้วัฒนธรรม “ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง” ดำรงอยู่ต่อไปก็แล้วแต่...