ชัยวัฒน์ สุรวิชัย คนไทยมีจิตใจงดงาม ชอบทำบุญ เป็นเรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป ทั้งสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติ หากมีพระแท้คนจริง บอกว่า “ คนไทยทำบุญไม่เป็นทำไม่ถูก “ จะเกิดอาการขุ่นเคืองไม่น้อย ทั้งที่มีส่วนจริง เรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเกี่ยวกับการทำบุญ : คิดกันอย่างไร 1. การจะได้บุญมาก ต้องบริจาคเงินมาก ให้กับวัดดัง พระมีสมณศักดิ์สูง เจ้าภาพคนใหญ่คนโต 2. ต้อง"ทำบุญ กับพระและวัดเท่านั้น เพราะได้บุญตรง และได้บำรุงพระพุทธศาสนาไปด้วย 3. ทำบุญมาก เมื่อตายไปแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ชั้นสูง ชั้นเทพ ชั้นพรหม 4. ชาตินี้ ต้องรัยกรรมไปก่อน ทำบุญให้มาก ยอมอด เพื่อให้เกิดเป็นคนรวย ในชาติหน้า 5. “ชอบทำบุญแต่ไร้น้ำใจ” คือเรื่องทำบุญ- เร่งเข้ามา แต่เรื่องช่วยเหลือคนทุกข์ยาก-ออกไปห่างๆ 6. มักทำบุญต่อสิ่งที่อยู่สูงกว่าตน - พระวัด , ละเลยสิ่งที่ต่ำกว่าตน - คนจน แม่ชี 7. เชื่อเรื่องกรรมเก่า การทำบุญ เป็นการแก้เคราะห์กรรม 8. เชื่อเรื่องหมอดู โหร พระภิกขุ ที่เป็นหลวงตา หลวงปู่ ที่สอนเรื่องกรรมเก่าและการแก้ 9. คนที่เชื่อเรื่องกรรมเก่า จะไม่คิดไม่ศึกษาและไม่รับฟังความคิดเห็นต่าง 10. คนไทยส่วนหนึ่งจะกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เอาอาหารพวงมาลัยไปถวาย พิจารณารูปแบบในการทำบุญที่มีอยู่ด้วยกัน 4 รูปแบบ ได้แก่ การเกื้อกูล แรงกาย การสละทรัพย์ การทำชีวิตให้โปร่งเบา และการฝึกชำระจิตใจ แต่คนไทยในเมืองหลวงส่วนใหญ่นิยมทำบุญด้วย 1. วิธีการที่ต้องอาศัยปัจจัยด้านวัตถุและเงินทองเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น การให้เงินโดยตรงหรือซื้อปัจจัยเช่นช่วยไถ่ชีวิตโค-กระบือ ซื้อโลงศพ บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม สร้างห้องน้ำห้องส้วมให้โรงเรียน หรือช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม เป็นต้น 2. ส่วนการทำบุญที่ไม่ต้องอาศัยวัตถุเงินทองซึ่งสามารถนำมาปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป อันจะส่งผลให้การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมมีความสงบสุขร่มเย็นยิ่งขึ้น เช่น การรักษาศีลปฏิบัติธรรมการไม่เบียดเบียนผู้อื่น การเสียสละแรงกายเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ การให้ข้อคิดเตือนสติผู้อื่นให้ละเว้นจากการทำชั่ว และการแผ่เมตตาให้อภัยแก่ผู้ที่ทำผิดคิดร้ายนั้น ยังไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติมากนัก เป็นประเด็นที่องค์กรผู้เกี่ยวข้องควรหาวิธีการชี้แนะและสร้าง ความตระหนักแก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยต่อไป(กรุงเทพโพลล์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ) หลักการทำบุญทางพุทธศาสนา การ "ทำบุญ” ในทางพุทธศาสนาไม่ได้มีเพียงการให้เงินให้ทอง หรือให้ทาน ทำบุญกับพระและวัดเท่านั้น "บุญ” หมายถึง การกระทำความดี มาจากภาษาบาลีว่า "ปุญญะ” แปลว่า เครื่องชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ดังนั้น บุญจึงเป็นเสมือนเครื่องกำจัดสิ่งเศร้าหมองที่เราเรียกกันว่า "กิเลส” ให้ออกไปจากใจ บุญจะช่วยให้เราลด ละ เลิกความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมีจิตใจคับแคบ อันเป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ และช่วยให้ใจเป็นอิสระ พร้อมจะก้าวไปสู่การทำคุณงามความดีในขั้นต่อๆไป เป็นการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ทำให้เกิดความอิ่มเอิบใจ มีความสุข และเป็นความสุขที่สงบและยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ปฏิบัติ เป็นบุคคลที่มีคุณธรรม น่าเคารพยกย่อง เพราะถือว่าเป็น "คนดี” นั่นเอง นั่นแสดงว่าที่เราทำบุญกันมากมายก็เพราะหวังประโยชน์ส่วนตัวเป็นสำคัญ ดังนั้นยิ่งทำบุญด้วยท่าทีแบบนี้ ก็ยิ่งเห็นแก่ตัวมากขึ้น ผลคือจิตใจยิ่งคับแคบ ความเมตตากรุณามีแต่จะน้อยลง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการทำบุญแบบนี้กลับจะทำให้ได้บุญน้อยลง ความหมายและวิธีการการทำบุญของคนไทย คำว่า "บุญ” หมายถึงการชำระหรือล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญในงานมงคล หรืออวมงคล ถ้าจะทำให้ถูกต้องและได้ผลดี ควรเป็นเรื่องของการทำจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด ไม่ใช่ทำด้วยความโลภ ความโกรธ หรือ ความหลง คำว่า บุญ อาจกล่าวอธิบายได้ 3 ประการ คือ 1. กล่าวโดยเหตุ ได้แก่การทำความดีซึ่งรวมถึงการเว้นความชั่วด้วย 2. กล่าวโดยผล ได้แก่ความสุข 3. กล่าวโดยสภาพ ได้แก่การที่จิตใจได้รับการชำระล้างให้บริสุทธิ์ ผ่องใส ซึ่งสรุปได้ว่า การทำบุญคือการทำความดี นั่นเอง วิธีการทำบุญ 10 ประการอย่างย่อ 1. การเอื้อเฟื้อ ให้ปัน 2. การรักษาศีล 3. การทำใจให้สงบ ทำปัญญา ( ความรู้แจ้งเห็นจริง)ให้เกิดขึ้น ) 4. การอ่อนน้อมหรือแสดงคารวะ 5. การขวนขวายในกิจการที่ชอบที่ควร คือ ช่วยผู้อื่น หรือ ช่วยงานสาธารณะ 6. การให้ส่วนบุญ คือการแบ่งส่วนบุญให้ผู้อื่น 7. การพลอยยินดีในการทำความดีของผู้อื่น 8. การฟังธรรมหรือฟังคำแนะนำอันเป็นธรรม 9. การแสดงธรรมหรือให้คำแนะนำอันเป็นธรรม 10. การทำความเห็นให้ถูกให้ตรง (ตามทำนองคลองธรรม) ในทางพระพุทธศาสนาได้วางหลักเกณฑ์การทำบุญไว้ 3 ประการ คือ ทาน ศีล ภาวนา เรียก บุญกิริยาวัตถุทาน แปลว่า การให้ คือ ตั้งใจให้ สละให้ หรือ บริจาค ในทางพระพุทธศาสนา กำหนดวิธีการทำบุญที่เป็นทานไว้หลายอย่าง โดยมีวัตถุประสงค์ของการให้ทานดังนี้ 1.เพื่ออนุเคราะห์ คือ ช่วยเหลือผู้มีความต้องการ เช่นประสบภัย หรือขาดแคลน หรือได้รับความทุกข์ยาก ด้วยความกรุณา คือคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ 2.เพื่อสงเคราะห์ คือเกื้อกูลกันในระหว่างญาติเพื่อนบ้าน มิตรสหาย เป็นการแสดงไมตรีจิตต่อกัน ด้วยความเมตตา คือคิดจะให้เป็นสุข ทั้งข้อ 1 และ 2 เป็นการแสดงออกซึ่งความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว ๓. เพื่อบูชาคุณ เช่น บูชาคุณบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ผู้มีอุปการะอื่นๆ รวมทั้งพระภิกษุสามเณร ผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ เป็นการบูชาท่านผู้ควรบูชา สำหรับการทำบุญที่จะให้ได้ผลบุญมากหรือน้อยนั้น มีหลักเกณฑ์อยู่ 3 ประการ คือ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สมบูรณ์ครบถ้วนของการทำบุญ คือ “ ผู้ให้ เงินทองวัตถุสิ่งของ ผู้รับ “ ซึ่งแต่ละส่วน ควรต้องเป็นเรื่องดี คือ ดีแต่ละส่วน และดีครบทั้งสามส่วน จึงจะดีแท้ คือ 1.ผู้รับ : ต้องเป็นผู้มีศีล มีคุณธรรมความดี ไม่จำเป็นเป็นพระสงฆ์หรือนักบวช เป็นคนทั่วไปก็ได้ ถ้าผู้รับดี ผู้ทำได้บุญมาก หากผู้รับไม่ดี ทำให้เราได้บุญน้อย เพราะเขาอาจอาศัยผลบุญของเราไปทำชั่วได้ เช่น ให้เงินช่วยเหลือเพื่อนๆกลับเอาไปซื้อยาบ้า หรือปล่อยกู้ สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เป็นต้น 2.วัตถุสิ่งของที่ให้ : ต้องบริสุทธิ์หรือได้มาโดยสุจริต เป็นของที่เหมาะและมีประโยชน์ต่อผู้รับ เช่น ของที่ให้ดีผู้ทำก็ได้บุญมาก หากได้มาโดยทุจริต แม้จะเอาไปทำบุญก็ได้บุญน้อย 3.ผู้ให้ ต้องมีศีลมีธรรมและมีเจตนาที่เป็นบุญกุศลในการทำ จึงจะได้บุญมาก นอกจากนี้เจตนาหรือจิตใจในขณะทำบุญก็เป็นองค์ประกอบสำคัญกล่าวคือ ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ หากผู้ให้มีความตั้งใจดี ตั้งใจทำ เมื่อทำแล้วก็เบิกบานใจ คิดถึงบุญกุศลที่ได้ทำเมื่อใดจิตใจก็ผ่องใสเมื่อนั้น เช่นนี้ก็จะทำให้ผู้ทำได้บุญมาก ถ้าไม่รู้สึกเช่นนั้น บุญก็ลดน้อยถอยลงตามเจตนา โดยกระบวนการให้ มีตั้งแต่เรื่องแรงกาย อันเป็นวิถีดั้งเดิมของสังคมไทย เพราะรวมพลังได้ง่ายและทำได้เลย อย่างเช่นการก่อทราย หรือถ้าเป็นในอดีตก็อย่างการลงแขก เกี่ยวข้าว ซึ่งคนไม่ได้มองในเชิงเศรษฐกิจ แต่มองในเชิงวัฒนธรรม มาช่วยเหลือกันทำ หรือแม้แต่ในเรื่องการบริจาคเงิน ซึ่งมีมากขึ้นในช่วงหลังๆ นั่นก็เพราะมันทำได้ง่ายกว่า และเร็วกว่า ลักษณะปัจเจก และลักษณะร่วม ลักษณะปัจเจก คือ การทำบุญของแต่ละคน ที่มีความแตกต่างกัน ตามความคิดความเชื่อของตน บางส่วน ก็เน้นตามประเพณีวัฒนธรรม หรือ การทำตามค่านิยมของสังคมตามยุคสมัย แต่จะมีปัจเจกชนส่วนหนึ่งมีแนวคิดในการทำบุญที่ดี ผ่านจากการศึกษาเรียนรู้ ให้เข้าใจจริงก่อน มีการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักของพุทธศาสนา ( หรือศาสนาอื่นๆ ) โดยเน้นที่แก่น มิใช่กระพี้หรือกาก เป็นการทำบุญ ที่เน้นการให้ในสิ่งที่สังคมขาด เพื่อเติมเต็มให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักพุทธแท้ มีทั้งการให้เงิน วัตถุ ความรู้ ให้ธรรมคำสอนที่ถูกต้อง เพื่อช่วยคนที่ขาดมีครบ เพื่อไปช่วยคนอื่นได้ต่อไป เราควรศึกษาเรียนรู้ จากคนเหล่านี้ โดยนำมาคิดพิจารณา โดยยึดหลักที่ถูกต้องของพุทธศาสนา ลักษณะร่วม คือ การทำบุญของกลุ่มหรือคนส่วนใหญ่ ตามประเพณีวัฒนธรรม และค่านิยมสังคม หรือของชุมชน ที่เคยประพฤติปฏิบัติมา แต่มักจะนำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับความคิดของสังคมยุคใหม่ เช่น ทำบุญตักบาตร สร้างบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม การทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ทำบุญในวันพระ ตามเทศกาลและวัดสำคัญทางพุทธศาสนา และตอนหลัง จะมี ลูกนิมิต สวดมนต์ข้ามปี ฯลฯ ที่มีการพัฒนาดีขึ้นในแง่ของการทำบุญที่เป็นการทำความดี คือ การทอดผ้าป่ากองทุนให้ผู้ที่ขาดแคลน กองทุนการศึกษา กองทุนพัฒนาเด็กเล็ก บริจาคเงินให้โรงพยาบาล บริจาคเลือดให้ศูนย์สภากาชาด การสร้างห้องสมุดและสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนและชุมชน ฯลฯนี่เป็นเรื่องที่ควรมีการส่งเสริมสนับสนุนให้คนไทย ได้มีการทำบุญให้แก่คนและสิ่งที่ขาด อันเป็นบุญแท้