ทวี สุรฤทธิกุล ช่วงสงกรานต์ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน เลยค้นผลงานเก่า ๆ ออกมาอ่าน บังเอิญหยิบวิทยานิพนธ์ของตัวเอง ครั้งที่เรียนปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาอ่านดู พบเรื่องราวที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง จึงอยากเอามาเล่าให้คนที่สนใจได้รู้ นั่นก็คือ เรื่องที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พูดถึงทหาร ที่มีบางส่วนพูดถึงเรื่องที่ทหารต้องทำรัฐประหาร ที่อาจจะทำให้เกิดการตีความไปได้ว่า อ๋อ นี่แหละที่เรียกว่า “DNA รัฐประหาร” คือการรัฐประหารเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดทหาร หรือเป็น “วิถีชีวิตของทหาร” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์พูดไว้ในการที่ผมได้ไปสัมภาษณ์ท่านเมื่อ พ.ศ. 2527 เป็นการสัมภาษณ์เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์สมมุติฐานของวิทยานิพนธ์ ในเรื่อง “การต่อสู้ทางการเมืองของพรรคการเมืองไทย : ศึกษากรณีพรรคกิจสังคม” ตอนนั้นท่านเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม แม้ว่าท่านจะไม่มีตำแหน่งในรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในตอนนั้น แต่ท่านก็ต้อง “ค้ำจุน” นำพรรคกิจสังคมคอยสนับสนุนและปกป้องพลเอกเปรมอย่างเต็มที่ แต่จะด้วยสาเหตุอะไรนั้น ผู้เขียนจะขออนุญาตอธิบายให้ทราบในตอนท้าย มีคำถามหนึ่งผู้เขียนได้ถามท่านว่า “ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไรกับการที่ทหารชอบเข้ามาแทรกแซงในทางการเมือง” ซึ่งคำตอบของท่านที่ถอดเทปและเรียบเรียงให้สละสลวยแล้ว มีอยู่ดังนี้ “เขาว่าเป็นประชาธิปไตยได้ ทหารต้องเป็นกลาง นั่นเป็นหลักการที่เขายึดถือกันมานาน ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วยว่าจะต้องยึดถือหลักนั้น ประเทศใดจะยึดถือหลักใดมันแล้วแต่ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของไทยทหารเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยมาตลอดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นก็รักษากันไว้ด้วยกำลังทหาร เพราะฉะนั้นถ้าทหารเข้ามาเกี่ยวข้องในการรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ ไม่ให้ลัทธิอื่นเข้ามาแย่งชิงได้ นั่นก็เป็นการกระทำที่ถูก หรือในบางครั้งที่ทหารต้องเข้ามารักษาอำนาจด้วยตนเอง เพื่อรักษาสถานการณ์บ้านเมืองไม่ให้ยุ่ง วุ่นวายจลาจล อันนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ สถานการณ์ที่จะให้ทหารเข้ายึด ให้เข้ามามีอำนาจได้หรือไม่ มันไม่ได้อยู่ที่ทหาร มันอยู่ที่พลเรือน นักการเมือง ประชาชน มันอยู่ที่กลุ่มกำลังต่าง ๆ ที่คิดจะมีอำนาจวาสนากัน ว่าจะก่อให้เกิดการจลาจลหรือไม่ จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายขนาดไหน ถ้าทุกฝ่ายเป็นประชาธิปไตยแล้ว ผมว่าทหารเขาก็ไม่เข้ามาเกี่ยว แต่ว่าหลายฝ่ายก็ว่าจะทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างนักศึกษาเองก็คิดที่จะใช้พลังนักศึกษา ก่อความไม่สงบต่าง ๆ ทำความรุนแรง อย่างนี้ก็เท่ากับเชื้อเชิญให้เขาเข้ามา บ้านเมืองไม่เรียบร้อย ทหารที่ไหนเขาจะทนอยู่ได้ ถ้าเราจะทำอย่างประชาธิปไตย พูดกันด้วยเหตุด้วยผล พูดกันอย่างคนไทยด้วยกัน มันก็พอจะพูดกันได้ ผมว่าสถานการณ์ที่จะทำให้ทหารเข้ามายุ่ง ไม่ได้อยู่ที่ทหารเลย อยู่ที่คนอื่นทั้งนั้น คนอื่นทำขึ้นเอง ถ้าบ้านเมืองจลาจล ทหารเขาจำเป็นต้องเข้ามา เขาปล่อยไม่ได้ และทหารเขาก็มีหน้าที่ต้องรักษาความสงบของบ้านเมือง และอีกประการหนึ่งที่สำคัญที่สุด ทหารมีหน้าที่ต้องรักษาราชบัลลังก์ ทหารไทยต้องรักษาพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าอยู่หัว ใครมาทำอะไรเขาสู้ อันนี้ขอให้เข้าใจเถอะ หน้าที่พลเรือนก็ทำไปตามระบอบประชาธิปไตย มันก็ต้องพิสูจน์ว่า ประชาธิปไตยมันสามารถรักษาความสงบได้ สามารถระงับจลาจลได้ พิสูจน์ให้ผู้เลือกตั้งรู้ พิสูจน์ให้ทหารเข้าใจด้วย ว่าเขาไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง เพราะระบอบประชาธิปไตยมันจะแก้ปัญหาของมันเองได้ในที่สุด อย่าไปเห็นว่าใครเป็นศัตรูใคร ทุกคนหวังดีต่อชาติบ้านเมืองทั้งนั้น เพราะฉะนั้นผู้แทนก็อย่าวุ่นวาย อย่าแก่งแย่งกัน แย่งชิงอำนาจกัน ทำตัวให้คนเขานับถือ ถ้าเขาจะยึดก็แสดงว่า สภาผู้แทนมันใช้ไม่ได้แล้ว มันเละ ไม่มีใครนับถือ เขาก็ไม่ปล่อยให้มันอยู่” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ชื่อว่าเป็น “พหูสูตทางการเมืองไทย” ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ทางการเมืองไทยมามากมาย โดยท่านได้มีบทบาทในการพัฒนาและส่งเสริมประชาธิปไตยมาตลอดชีวิต จนได้ชื่อว่า “เสาหลักประชาธิปไตย” แต่มีบางช่วงที่ท่านเข้าไปเกี่ยวข้องกับทหาร เหมือนว่าท่านเข้าไปสนับสนุนทหาร คือ ในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใน พ.ศ. 2491 – 2492 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2502 - 2506 และรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พ.ศ. 2523 - 2530 แต่พอผู้เขียนได้มาอ่านคำให้สัมภาษณ์ข้างต้น ก็เลยถึง “บางอ้อ” ว่า ท่านสนับสนุนนายทหารเหล่านั้น ก็เพื่อค้ำจุนและปกป้องพระมหากษัตริย์นั่นแอง สรุปประวัติศาสตร์การเมืองไทยโดยย่อ ๆ ก็คือ ใน พ.ศ. 2490 จอมพล ป.ได้ให้นายทหารในกลุ่มของตนยึดอำนาจรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่เป็นนอมินีของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ทหารเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 จากนั้นจอมพล ป.ก็มีส่วนสนับสนุนการฟื้นฟูพระราชอำนาจให้กับพระมหากษัตริย์ โดยเห็นชอบกับการให้มีการบัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่ได้ทำรัฐประหารรัฐบาลของจอมพล ป. แต่ก็เป็นเพราะจอมพล ป.กำลังสร้างความมัวหมองให้แก่กองทัพ ด้วยการนำกองทัพไปเล่นการเมือง ตั้งพรรคการเมืองเอง และโกงเลือกตั้งครั้งมโหฬาร อันอาจจะนำอันตรายมาสู่กองทัพที่มีหน้าที่ปกป้องพระมหากษัตริย์นั้นด้วย และในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นนายทหารที่มีความจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ต้องคอยประคับประคองและโอบอุ้ม เพื่อที่จะช่วยให้ทหารที่กำลังแตกแยกนั้นมีความเข้มแข็ง เพื่อที่จะได้เป็นหลักในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จนสื่อมวลชนเรียกท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า “โอชิน” คือคุณยายชาวญี่ปุ่นที่เลี้ยงดูลูกหลานและครอบครัวมาอย่างทรหดอดทน วันนี้ขอนำเสนอไว้ย่อ ๆ เช่นนี้ก่อน เพื่อให้ระลึกถึงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่จะครบรอบวันเกิด 110 ปีในวันพรุ่งนี้ คือวันที่ 20 เมษายน โดยจะได้เข้าใจตามที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ยึดถือเป็น “หลักการประจำตัว” ว่า ทหารมีความจำเป็นที่จะต้องทำรัฐประหาร โดยเฉพาะการทำรัฐประหารเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนที่ทหารจะทำอะไรดีหรือไม่ดีต่อมานั้น เป็นเรื่องของผู้นำทหารในแต่ละยุค อยู่ที่ว่าจะประคับประคองตัวได้ดีแค่ไหน โดยไม่ให้เสื่อมเสียทั้งกองทัพและองค์พระมหากษัตริย์ นี่แหละการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข “แบบไทย ๆ”