ชัยวัฒน์ สุรวิชัย อ่านต่อจากฉบับที่แล้ว การทำบุญคือการทำความดี ( บุญ หมายถึง ความดี ) ก่อนอื่นต้องเข้าใจ เรื่องการทำบุญหรือการทำความดีที่ถูกต้อง เพราะคนส่วนมากไม่เข้าใจเพราะไม่เรียนรู้ 1.การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ คือ การทำบุญขั้นต้น เพราะเมื่อจิตใจที่บริสุทธิ์ ก็สามารถทำความดีได้ง่าย 2.เรียนรู้เรื่องบุญกิริยาวัตถุ หมายถึง การทำบุญ คือ การทำความดีด้วยกิริยาต่างๆ ถือเป็นธรรมที่ส่งเสริม ให้การประพฤติพรหมจรรย์มีการตั้งอยู่อย่างเป็นนิจ และให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก มี 3 ประการ คือ ทานมัย ศีลมัย และปัญญามัย โดยเราจะทำความเข้าใจแต่ละประการถึง : ประเภท จุดมุ่งหมาย และ อนิจสงค์หรือผลแห่งกุศลกรรม 3. บุญกิริยาวัตถุ ในอดีตมี 3 ประการ บัญญัติเพิ่มใหม่ให้เป็นบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ ในพระคัมภีร์อรรถกถาฑีฆนิกาย และคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ เพื่อมุ่งให้เกิดความละเอียด มีความเข้าใจ และนำไปปฏิบัติได้ง่ายขึ้น บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการ คือ ทานมัย ศีลมัย และปัญญามัย เราจะทำความเข้าใจ ประเภท จุดมุ่งหมาย และ อนิจสงค์หรือผลแห่งกุศลกรรม 1. ทานมัย เป็นบุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน หมายถึง ให้ทานหรือการสละเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ประกอบด้วย ทานวัตถุ คือ การให้เป็นทรัพย์ที่เป็นเงิน เป็นสิ่งของตน เช่น การถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์ ทานธรรม คือ ทานที่ให้ด้วยนามธรรม ไม่สามารถจับต้องได้ เช่น การให้ความรู้ การสละอารมณ์ เป็นต้น ก. ประเภทของทาน ( 1.) ทานที่ยังเวียนว่ายในวัฏสงสาร ได้แก่ - วัตถุทานหรือรูปธรรมทาน ทรัพย์สิน สิ่งของ อวัยวะ ที่สามารถจับต้องได้ และมีผู้รับทาน - นามธรรมทานอภัยทาน คือ การให้อภัยแก่ผู้อื่นทั้งทางกาย วาจา และใจ ธรรมทาน คือ การให้ความรู้ การสั่งสอนธรรมให้แก่ผู้อื่นเพื่อขจัดความทุกข์ ( 2 ) ทานที่พ้นจากวัฏสงสาร(สุญญตาทาน) ได้แก่ ทานที่ไม่ต้องมีผู้รับ คือ เกิดจากการเสียสละทางอารม ละซึ่งกิเลส 3 ด้าน คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ข. จุดมุ่งหมายของการให้ทาน (1.) ทานเพื่อการอนุเคราะห์เกื้อกูล ด้วยการสงเคราะห์ผู้อื่นที่ยังต้องการความช่วยเหลือ คนที่ยังตกทุกข์ได้ยาก หรือประสบภัยเพื่อให้พ้นหรือบรรเทาจากความทุกข์นั้นๆ (2.) ทานเพื่อบูชาคุณ – การบำรุง เลี้ยงดูบิดา-มารดา หรือผู้มีพระคุณคนอื่นๆ – การยกย่อง ชมเชย และสนับสนุนผู้ทำความดี ผู้ที่บำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวม – การอุปถัมภ์พระสงฆ์หรือนักบวชในศาสนาให้มีกำลังสามารถปฏิบัติศาสนกิจต่างๆให้ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ทานเมื่อทำแล้ว ย่อมได้บุญกุศล และมีความสุข เพราะทานสามารถขจัดกิเลสจากโลภะได้ ทำให้เกิดความเมตตา กรุณา โอบอ้อมอารีผู้อื่นด้วยจิตอันบริสุทธิ์ ค. “ทานมัย” มีอานิสงค์ หรือ มีผลแห่งกุศลกรรม 5 ประการ คือ 1) เป็นที่รัก และเคารพของคนหมู่มาก 2) เป็นที่คบหาของคนดี 3) เป็นผู้มีชื่อเสียงดี และเป็นที่รู้จักของคนหมู่มาก 4) แกล้วกล้า และมั่นคงในท่ามกลางหมู่ชน 5) เมื่อตายแล้ว ก็ไปเกิดบนสวรรค์ 2. ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล หมายถึง การทำบุญด้วยการรักษาศีล คือ ประพฤติตนให้ดีให้อยู่ในธรรม ทั้งกาย วาจา และจิตใจ ศีล แปลว่า ปรกติ คือ การปฏิบัติที่รู้จักควบคุมกาย วาจา และใจ ของตนไว้ให้บริสุทธิ์หรือมีความสงบ ศีล เป็นเครื่องควบคุมโทสะหรือความโกรธ เมื่อรักษาศีลได้ ย่อมได้บุญกุศล และคงไว้ซึ่งบุญเก่า คือ เป็นการขจัด และลดกิเลส คือ ความโกรธมิให้เกิดขึ้นได้ พร้อมกับก่อเกิดบุญใหม่ คือ จิตใจมีความตั้งมั่น และมีความสงบ ไม่เกิดโทสะทั้งปวง และพร้อมที่จะรักษาศีลให้มั่นคงทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต • ก. ประเภทของศีล 1.) โลกียศีล ได้แก่ ศีล 5 เป็นพื้นฐาน ซึ่งเป็นศีลพื้นฐานของปุถุชน ส่วนศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 เป็นศีลที่ขยาย จากศีล 5 ผู้ที่เจริญในศีลทั้งหลายนี้ ยังคงเวียนว่ายในวัฏสงสาร 2.) โลกุตตรศีล คือ ศีลที่รักษาเพื่อมุ่งให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ด้วยการรักษาศีลด้วยการใช้สติปัญญา ในการวิปัสสนาภาวนาเพื่อให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน • ข. จุดมุ่งหมายของการรักษาศีล – เพื่อให้เป็นผู้ตั้งอยู่ในศีลทั้งปวง อันได้แก่ ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 และศีล 227 ตามความพร้อมที่ตนจะพึงรักษาได้ – เพื่อให้เป็นผู้มีความเพียรอันชอบในการดำเนินชีวิต หรือการประกอบอาชีพ – เพื่อให้รู้จักใช้กายสัมผัสอย่างมีสติ อันมี หูสัมผัส ตาสัมผัส จมูกสัมผัส ลิ้นสัมผัส และกายสัมผัส – เพื่อให้บริโภคทรัพย์ และปัจจัยทั้งหลายอย่างรู้คุณค่า • ค. อานิสงค์ หรือ มีผลแห่งกุศลกรรม 5 อย่าง คือ 1) เป็นผู้บริโภคทรัพย์ และบริวารที่ตามมาได้อย่างเต็มอิ่ม และด้วยความปกติสุข 2) เป็นผู้ที่หมู่มากรู้จัก และให้การสรรเสริญ 3) แกล้วกล้า และมั่นคงในท่ามกลางประชาชน 4) เป็นผู้มีสติ ดำเนินชีวิตโดยไม่มีอุปสรรค 5) เมื่อตายแล้ว ย่อมได้จุติบนสวรรค์ 3. ภาวนามัย เป็นบุญสำเร็จด้วยการภาวนา คือ ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา การฝึกอบรมจิตใจให้เจริญด้วยสมาธิและปัญญา อาทิ การสวดมนต์ การฝึกสมาธิ การเจริญจิตให้มีสติอยู่เสมอ “ภาวนา” แปลว่า ทำให้เจริญ คือ ทำให้สภาพทางจิตใจมีความพร้อมในการรับรู้ การจำ การคิดวิเคราะห์ แล การเห็นแจ้ง พร้อมมั่นฝึกพัฒนาจิตด้วยการภาวนาอยู่เป็นนิจ • ก. ประเภทของภาวนา 1. โลกียภาวนา คือ การภาวนาเพื่อให้จิตใจบริสุทธิ์ในระดับการเข้าฌานสมาบัติที่ยังไม่ถึงฌานวิปัสสนา 2. โลกุตตรภาวนา คือ การภาวนาเพื่อให้จิตใจบริสุทธิ์ในระดับการเข้าฌานวิปัสสนาเพื่อให้จิตเกิดความรู้แจ้ง เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน โดยเริ่มจากการเจริญสมถภาวนา เพื่อให้จิตใจตั้งมั่น แล้วใช้จิตพิจารณา ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา จนรู้แจ้งในความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง คือ การเข้าสู่พระนิพพาน หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร • ข. จุดมุ่งหมายของภาวนา 1.การมุ่งพัฒนาจิตใจ (จิตตภาวนา) จิตที่เกิดการภาวนาทำให้จิตมีสมาธิ จิตใจสงบ จิตละหรือลดซึ่งกิเลสทั้งปวง 2. การมุ่งพัฒนาปัญญา (ปัญญาภาวนา) หลังจากการเจริญภาวนาแล้ว ย่อมพร้อมที่จะใช้ปัญญาในการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้รู้แจ้งในสิ่งต่างๆ รู้เห็นเหตุ รู้เห็นความจริง และมองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งปวง ที่เกิดแต่เหตุปัจจัยทั้งหลาย เหล่านี้ จึงเรียกว่า การเกิดปัญญา การภาวนา เป็นกุศลกรรมที่ช่วยกำจัดโมหะ คือ ความหลง และอวิชชา คือ ความไม่รู้ทั้งปวง ให้หมดสิ้นไป จิตใจ ภาวนาเมื่อทำแล้ว ย่อมได้บุญกุศล และมีความสุข เพราะ ในเบื้องต้นทำให้กิเลส คือ โมหะ สงบลงได้ ในเบื้องปลาย คือ ช่วยขจัดอวิชชา คือ ความไม่รู้ พร้อมนำปัญญามาให้แก่ตนได้ • ค. อานิสงส์ หรือ มีผลแห่งกุศลกรรม 5 ประการ คือ 1) เป็นผู้มีจิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คล้อยตามอารมณ์แห่งความหลง 2) เป็นผู้มีจิตใจร่าเริง แจ่มใส และพร้อมที่จะรับรู้ รับเอาสิ่งใหม่เข้ามาในชีวิต 3) เป็นผู้มีจิตใจเมตตา โอบอ้อมอารีย์ จิตมีความสงบ และสุขุม 4) เป็นผู้มีความพร้อมในการดำเนินชีวิต และปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมบนพื้นฐานศีลธรรมอันงาม 5) เป็นผู้มีปัญญา มีความรู้ รู้จักเหตุ และผล • เรามาศึกษาทำความเข้าใจแบบสรุป บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ ก. หมวดทาน 1. ทานมัย (บุญอันเกิดจากการให้ทาน) 2. ปัตติทานมัย (บุญอันเกิดจากการอุทิศ และร่วมอุทิศ) 3. ปัตตานุโมทนามัย (บุญอันเกิดจากการอนุโมทนา) ข.หมวดศีล 4. สีลมัย (บุญอันเกิดจากการรักษาศีล) 5. อปจายนมัย (บุญอันเกิดจากการอ่อนน้อมถ่อมตน) 6. เวยยาวัจจมัย (บุญอันเกิดจากการขวนขวายในกิจโดยชอบ) ค. หมวดภาวนา 7. ภาวนามัย (บุญอันเกิดจากการเจริญภาวนา) 8. ธัมมัสสวนมัย (บุญอันเกิดจากการฟังธรรม) 9. ธัมมเทสนามัย (บุญอันเกิดจากการแสดงธรรม) 10. ทิฏฐุชุกรรม (บุญอันเกิดจากการทำความเห็นให้ตรง) สรุป หลักการสำคัญ หลังจากศึกษาเรียนรู้เข้าใจแล้ว คือ การนำมาปฏิบัติ และสรุปบทเรียน