เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com นายโดนัลด์ ทรัมป์น่าจะเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุดทั้งในสหรัฐและทั่วโลก เป็นนักธุรกิจ ที่ไม่เคยทำงานการเมือง ไม่เคยได้รับเลือกตั้ง จึงเป็นคนที่มักพูดอะไรเสนออะไรที่นอกกรอบ นอกคอก และขัดใจผู้คนจนมีบางคนบอกว่าเขา “บ้า” แต่ความที่เป็น “คนนอก” ทำให้เขามองเห็นอะไรบางอย่างที่ “คนใน” มักมองไม่เห็น และสิ่งที่เขาเสนอบางครั้งก็น่าสนใจ อย่างกรณีที่ไปพูดที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติวันที่18 กันยายนที่ผ่านมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสหประชาชาติ เขาบอกว่า ตั้งแต่ปี 1945 ที่องค์แห่งนี้ได้ก่อเกิดมา ยังไม่ได้บรรลุศักยภาพที่แท้จริง เนื่องเพราะ “ระบบเจ้าขุนมูลนาย” (bureaucracy) และการจัดการที่ไม่ดี (mismanagement) เขาบอกว่า “ต้องทำให้ยูเอ็นยิ่งใหญ่” (Make UN great) ไม่มีคำว่า “อีก” เพราะสำหรับเขายูเอ็นไม่เคยยิ่งใหญ (เหมือนอเมริกา) และยังเคยประชดว่า องค์กรแห่งนี้ “เป็นแต่พูดเท่านั้น” (talking organization) (คล้ายกับที่มีการล้อเลียนว่า NATO ย่อมาจาก no action talk only ได้แต่พูดไม่ทำ) เคยทำงานที่ยูเอ็น ทราบดีว่าองค์กรแห่งนี้มีระบบโครงสร้างและระเบียบที่ละเอียดแทบทุกกระเบียดนิ้ว จนอึดอัด อยู่ลำบากเพราะทำอะไรใหม่ คิดอะไรใหม่ได้ยาก เพราะเขาจัดไว้ให้ “ลงตัวหมดแล้ว” อันเป็นผล “ระบบเจ้าขุนมูลนาย” “ราชการ” ของ 193 ประเทศสมาชิกที่มาผนึกพลังกัน แล้วจะให้ปฏิรูปได้อย่างไร ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนรียกร้องให้ปฏิรูปองค์กรอันยิ่งใหญ่นี้ แต่ส่วนใหญ่มาจาก “สมาชิก” จากคนใน หรือที่เคยเป็นคนในและรู้เรื่องภายในเป็นอย่างดีว่ามีปัญหาอุปสรรค จุดอ่อนและข้อจำกัดอะไรบ้าง แต่ครั้งนี้ดูเหมือนว่า เสียงเรียกร้องจะดังกว่าทุกครั้ง เพราะมาจากผู้นำสหรัฐอเมริกา หมายเลขหนึ่งของผู้นำในยูเอ็น ที่เสียงดังส่วนหนึ่งเพราะให้เงินอุดหนุนองค์กรนี้มากที่สุด อย่างไรก็ดี คงไม่มีใครคาดหวังว่าจะมีการปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยูเอ็น โดยเฉพาะถ้าหากว่าจะให้บรรดาสมาชิกมาร่วมกันปฏิรูป ซึ่งก็คงส่งตัวแทนที่เป็น “ข้าราชการ” เป็นส่วนใหญ่มาร่วมเป็นกรรมการ อนุกรรมการ ได้ข้อสรุปที่เวียนไปเวียนมาจนหาทางเปลี่ยนไม่ได้ (เหมือนเดิม) การเปลี่ยนแปลงในยูเอ็นที่ผ่านมาเกิดจากวิกฤติหรือปัญหารุนแรงที่เรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยน เช่น กรณีการเกิดโรคเอดส์ ซึ่งมีผลกระทบไปทั่วทุกวงการ ไม่เพียงแต่สุขภาพอนามัย แต่เศรษฐกิจสังคม ทำให้องค์กรต่างๆ มีแผนงานเกี่ยวกับโรคเอดส์จนซ้ำซ้อน 5 องค์กรในยูเอ็นจึงจับมือกันก่อตั้ง UNAIDS คือ WHO, UNDP, UNICEF, UNESCO, และ World Bank การปฏิรูปยูเอ็นคงยากเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา อาจจะต้องมีองค์กรอื่นขึ้นมาแทน ที่ดีกว่า มีพลังมากกว่า อย่างที่ผู้สร้างนวัตกรรมพูดไว้ว่า “คุณเปลี่ยนอะไรจากที่เป็นอยู่ไม่ได้หรอก ถ้าจะเปลี่ยน ต้องสร้างโมเดลใหม่ที่ทำให้โมเดลที่เป็นอยู่กลายเป็นสิ่งล้าสมัย” (Richard Buckminster Fuller) คำว่า “ปฏิรูป” เป็นคำที่น่ากลัวสำหรับคนที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง เป็นคำที่น่าเบื่อสำหรับคนที่ได้ยินได้ฟังทุกวัน แต่ไม่เห็นวี่แววว่าจะมีการปฏิรูปตรงไหนอย่างไร เพราะสิ่งที่ปรากฎให้เห็น ไม่ว่าวิธีคิดหรือวิธีทำ ไม่ให้ความหวังว่าจะมีการปฏิรูป เอาข้าราชการมาปฎิรูประบบราชการ เอาตำรวจมาปฏิรูปตำรวจ เอาคนมีธุรกิจพลังงานมาปฏิรูปพลังงาน (เพื่อหาพลังงานทางเลือก) เอา ธ.ก.ส. มาแก้หนี้ (แล้วใครจะไปกู้ ธ.ก.ส.) เอาบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีขายสารเคมีไปส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เอานักกฎหมายไปปฏิรูปกฎหมาย ให้กระทรวงเกษตรไปปฏิรูปการเกษตร ปฏิรูปสหกรณ์ ให้กระทรวงมหาดไทยไปกระจายอำนาจ รัฐบาลนี้มีความตั้งใจให้มี “การปฏิรูป” เสนอ “ประชารัฐ” เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อน 12 ประเด็น 12 คณะ เช่น นวัตกรรม, การลงทุน, เศรษฐกิจฐานราก, การท่องเทียว, แก้กฎหมาย, การเกษตร, การศึกษา. การสร้างรายได้ องค์ประกอบกรรมการประชารัฐ 73% เป็นเอกชน 13% รัฐมนตรี 10% ราชการ 4% สถาบัน การศึกษา ไม่เห็นมี “ชาวบ้าน” ตัวแทนชุมชนคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย ในขณะที่ซีพีอยู่เต็มใน 12 คณะปูนใหญ่กับไทยเบฟ (ขายเหล้าขายเบียร์และอื่นๆ) อยู่เกือบทุกคณะ ทั้งสามหน่วยงานนี้อยู่ในคณะกรรมการ การศึกษาและการเกษตร มีคนตั้งข้อสังเกตไว้นานแล้วว่า ประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาไม่สนใจพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจัง เพราะจะทำให้คนฉลาด ซึ่งครอบงำยากและกดขี่ข่มเหงไม่ได้ วันนี้ คนไทยเบื่อคำว่า “ปฏิรูป” เพราะไม่เชื่อว่าจะมี คณะรัฐมนตรีก็มีแต่ “ทหารและข้าราชการ” เป็นส่วนใหญ่ เอาแต่เพิ่มกฎหมายให้อำนาจตนเองมากกว่าการยกเลิกและแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป แล้วจะปฏิรูปได้อย่างไร