ณรงค์ ใจหาญ โดยที่หลักกฎหมายกำหนดให้การปล่อยชั่วคราวระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาเป็นหลัก แต่หากมีความจำเป็นหากปล่อยชั่วคราวไป จะหลบหนี หรือจะก่อเหตุร้ายหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานจึงจะควบคุมหรือขังไว้ ดังนั้น ในคดีอาญา หากมีการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิยื่นขอให้ปล่อยชั่วคราวได้ พนักงานสอบสวนหรือศาลจะใช้ดุลพินิจในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว หรือที่เรียกกันว่าประกันตัวตามหลักเกณฑ์ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณากำหนด ซึ่งในกฎหมายได้ระบุให้ปล่อยเป็นหลัก ควบคุมหรือขังเป็นข้อยกเว้น เท่าที่ผ่านมาการปล่อยชั่วคราวก่อนปี 2540 พนักงานสอบสวน และศาลปล่อยชั่วคราวโดยพิจารณาจากความร้ายแรงของความผิด และโอกาสที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหนี เป็นหลักรวมถึงหลักประกันที่นำมาวางว่าจะน่าเชื่อและเพียงพอที่จะทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่หนีหรือไม่ การปล่อยชั่วคราวจึงมีน้อย แต่ต่อมาหลังปี 2540 เมื่อมีหลักในรัฐธรรมนูญกำหนดว่าการปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจในการปล่อยชั่วคราวโดยให้ปล่อยเป็นหลักนั้นมีความชัดเจนมากขึ้น และกำหนดเงื่อนไขที่พนักงานสอบสวนและศาลที่ต้องให้เหตุผลหากไม่ปล่อยชั่วคราวไว้ เช่น จะหลบหนี จะยุ่งกับพยานหลักฐาน หรือจะก่อให้เกิดเหตุร้ายประการอื่น หรือไม่เชื่อถือผู้ประกันหรือหลักประกัน (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1) ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้น ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยปฏิบัติ เช่น ต้องไม่ออกไปนอกราชอาณาจักรหากไม่ได้รับอนุญาตจากศาล หรือห้ามเข้าไปในสถานที่ที่ผู้เสียหายอาศัยอยู่ เป็นต้น หากฝ่าฝืน ก็จะถอนประกัน และในปัจจุบันมี่มาตรการที่ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือที่เรียกว่า Electronic Monitoring เพื่อจำกัดพื้นที่ไม่ให้ออกนอกสถานที่ หรือติดตามตัวได้ เพื่อป้องกันการหลบหนี มาตรการเหล่านี้ เป็นการกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันการหลบหนี และการก่อเหตุร้ายอันเป็นผลจากการปล่อยชั่วคราว ในกรณีที่ผู้ที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้วหลบหนี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (4) กำหนดให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ หรือ ผู้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น สามารถติดตามจับกุมได้หรือแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้เคียงกับที่พบผู้ที่หลบหนีจับแล้วนำส่งศาลได้ (มาตรา 117) จึงเห็นได้ว่าเพื่อให้มีการปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก ศาลจึงต้องสั่งปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวน พิจารณา หรือศาลมีคำพิพากษาแล้วให้ลงโทษจำคุกแต่คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะกฎหมายถือว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด แต่ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันการหลบหนีได้ แต่ช่องว่างในเรื่องนี้ คือ หากผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี ผู้ประกันหรือพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีส่วนใหญ่ก็ไม่อาจรู้ว่าหลบหนีเมื่อไร หลบไปที่ไหน จนต้องไปจ้างนักสืบเอกชนติดตามเพื่อให้ได้ตัวมาเพื่อดำเนินคดี ด้วยเหตุนี้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนี จึงไม่ถูกดำเนินคดี และบางครั้งหลบหนีไปจนคดีขาดอายุความเป็นต้น ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเพิ่มมาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีประกันของศาล อันเป็นมาตรการนำตัวผู้นั้นมาพิจารณาและพิพากษาคดีต่อไป จึงมีกฎหมายที่กำหนดให้มีผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ขึ้น โดยศาลเป็นผู้แต่งตั้ง บุคคลนี้ จะเป็นผู้สอดส่องดูแล รับรายงงานตัว หรือให้คำปรึกษาผู้ถูกปล่อยชั่วคราว เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือเพื่อป้องกันการก่อภยันตราย หรือป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวได้ กฎหมายฉบับนี้ เรียกว่า “พระราชบัญญัติมาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560” ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 98ก ลงวันที่ 26 กันยายน 2560 โดยจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรการที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้ เป็นมาตรการทีเสริมเข้ามาอีกมาตรการหนึ่ง เพื่ออุดช่องว่างในระหว่างที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ประกันตัวไปแล้ว แม้ว่าจะมีคำสั่งห้ามออกนอกประเทศ หรือห้ามไปยุ่งกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุร้าย แต่ไม่มีกลไกให้ต้องมารายงานตัวหรือมีผู้ที่เข้ามาสอดส่องว่ามีพฤติการณ์ต้องห้ามตามที่ศาลกำหนดในการปล่อยชั่วคราวหรือไม่ การกำหนดให้มีผู้กำกับดูแลจึงเป็นการเติมให้ครบถ้วนเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือจะก่อเหตุร้าย ทั้งนี้เพราะในบางกรณี ผู้ประกันไม่ได้มีความใกล้ชิดกับผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวไป กว่าจะทราบว่าก่อเหตุร้ายหรือหลบหนีก็ไม่ทันเวลาแล้ว แต่ผู้ที่ศาลจะตั้งให้เป็นผู้สอดส่องดูแลนั้นไม่อาจตั้ง บุคคลต่อไปนี้ คือ ผู้ประกัน (ซึ่งมี่หน้าที่ตามสัญญาปล่อยชั่วคราวอยู่แล้ว) บุคคลซึ่งเป็นประกัน หรือบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของหลักประกัน หรือ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยตรง ผู้กำกับดูแล มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ค่าใช้จ่าย ค่าพาหนะตามอัตราที่ระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง (มาตรา 5 วรรคสอง) หากได้กระทำตามหน้าที่แต่ถ้าละเลยต่อหน้าที่จนผู้ได้รับการปล่อยชั่วคราวหลบหนีหรือก่อเหตุร้าย ก็จะไม่ได้รับค่าตอบแทนนี้ ในด้านการติดตามจับกุมผู้ที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวที่หลบหนีประกันก็เช่นเดียวกัน หากพิจารณาตามสัญญาปล่อยชั่วคราว ผู้ประกันต้องมีหน้าที่นำตัวผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวมาศาล หากนำมาได้ก็จะได้รับการลดเบี้ยปรับตามสัญญาประกัน แต่ถ้านำมาไม่ได้ ก็จะต้องรับผิดชอบในการชำระค่าปรับเต็มจำนวนต่อศาล แต่ในเป้าหมายของกระบวนยุติธรรมทางอาญาไม่ต้องการได้ค่าปรับเช่นนั้น แต่ต้องการได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยเข้าสู่กระบวนพิจารณาและชี้ขาดตัดสิน ด้วยเหตุนี้ ในกฎหมายข้างต้นจึงมีมาตรการให้ แรงจูงใจแก่ประชาชนที่ชี้ช่องหรือแจ้งเบาะแสแก่ทางราชการ จนทำให้ทางราชการสามารถจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีได้ โดยผู้ที่แจ้งความนำจับมีสิทธิได้เงินสินบน ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้จับก็ได้รับเงินรางวัล โดยยื่นขอต่อศาลที่ปล่อยชั่วคราวพร้อมทั้งพยานหลักฐานที่น่าเชื่อว่าตนมีสิทธิได้เงินสินบน หรือเงินรางวัลดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาล ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และอัตราตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง (พระราชบัญญัติมาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560 มาตรา 7 และมาตรา 8) เงินที่นำมาจ่ายเพื่อให้เป็นค่าตอบแทน ค่าใช้จ่าย ค่าพาหนะ เงินสินบน และเงินรางวัลนั้น เป็นเงินที่ได้มาจากค่าปรับตามคำพิพากษาคดีอาญา ก่อนนำส่งคลัง จึงเป็นเงินที่ได้จากจำเลยในคดีอาญา ไม่ได้จ่ายจากงบประมาณที่มาจากการเก็บภาษีของรัฐ ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ดีประการหนึ่งที่นำเงินจากผู้กระทำความผิดมาจ่ายในกลไกที่ติดตามตัวเพื่อดำเนินคดี อย่างไรก็ดี มาตรการใหม่นี้ ถือเป็นกลไกที่สำคัญในการป้องกันการหลบหนี และติดตามจับกุม จึงสามารถนำมาใช้ได้แม้เป็นการแจ้งเบาะแสหากผู้นั้นหลบไปต่างประเทศ เพียงแต่ว่าหากหลบหนีไปต่างประเทศแล้วการจับกุมผู้นั้นมาต้องดำเนินการเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญาอีกชั้นตอนหนึ่งต่อไป