ชัยวัฒน์ สุรวิชัย “ เขาเปลี่ยนไป ? “ เป็นประโยคฮิต ที่ถูกกล่าวกันในหมู่คนที่สนใจในเรื่องบ้านเมือง และคนผู้เป็นที่คาดหวัง ของผู้คนจำนวนหนึ่งว่าต้องเป็นอย่างนั้น รวมทั้ง “ ใคร” บางคนที่เราเคยรู้จัก แต่เรื่องนี้ หาความจริงความถูกต้อง ไม่ได้ง่ายๆ กับ คำพูดประโยคนี้ และความรับผิดชอบของผู้พูด มิใช่เรื่องเล็กๆ แต่เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทย ที่ “ คิดน้อย ขาดหลักคิด คิดไปเอง ขาดข้อมูล เชื่อผู้นำ “ ผม ก็เคยเจอ คำพูดประโยคนี้ แต่ไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายๆคนที่คนรู้จักมากและน้อย เพราะ พฤติกรรมและการกระทำ การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย สม่ำเสมอ ตรงไปตรงมา จริงใจ กับผู้คน การไม่มักใหญ่ใฝ่สูง พอใจกับความเป็นคนธรรมดาสามัญชน กินอยู่และมีความสุขกับความพอเพียง ทำงานหนัก เอาจริง ไม่หยุดไม่ยอมแพ้ และการเข้าใจผู้คนที่คิดต่างๆ “แยกความคิด กับ ความรู้จักมักคุ้น” ยามที่เหตุการณ์สำคัญๆของบ้านเมือง และยามสู้รบ ไม่เคยหลบ อยู่แถวหน้าแบบเงียบๆ ไม่เปิดหน้าโฉ่ฉ่าง ยามสงบ เหตุการณ์จบลง ก็เป็นเวลาได้พักผ่อน ไม่ดิ้นรนวิ่งเต้น เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองในทุกระดับ เพื่อนพ้องน้องพี่ที่รู้จักและคุ้นเคยมานาน หลายคนยกย่องชื่นชม ว่า “ พี่ ไม่เคยเปลี่ยนไป ยังคงเหมือนเดิม “ บางก็พุดเกินเลยว่า “ เป็นคนเดือนตุลา “ ที่เหลือน้อยคน ที่ยังคงรักษาความคงเส้นคงวาไว้ได้ “ แต่ ก็มีเพื่อน น้อง และคนรู้จักบางคน ที่ไม่ได้ติดตามความจริง แต่ฟังต่อๆมา ก็หาว่า “ ผมเปลี่ยนไป “ ซึ่งผม ก็ไม่ได้รู้สึกไม่พอใจ น้อยใจ หรือเสียใจ ที่เขาพูดเช่นนั้น แต่กลับขอบคุณ “ ทำให้เราได้เตือนตัวเอง “วันก่อน เป็นวันสันติภาพโลก แต่ไม่ได้เกี่ยวกัน : เป็นการจัดงานของคนกันเอง ให้กับ 84 ปี ท่านอานันท์ เป็นอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นหลักของสังคม ได้ตลอดมา “ ไม่มีใคร รู้จักผม อย่างแท้จริง “ นอกจากภรรยาและลูกๆ ที่รักและเชื่อมั่นผมมาตลอดเวลา เป็นคำพูดที่ตรง สะท้อนสังคมไทยได้ดี แต่ไม่มีใครกล้าพูด ในทุกระดับ เพราะ คำว่า “ เกรงใจ-ไม่กล้า” ผู้ที่ได้ฟังคำพูดนี้ และเรื่องราวดีๆมีคุณค่าความหมายและมีประโยชน์อีกมากมาย ในการพูด 30 นาที เป็นผู้หลักผู้ใหญ่วัยใกล้เคียง คนรุ่น เกือบ 70 คนรุ่นก่อนและใกล้เกษียณ และหนุ่มสาวนักต่อสู้เพื่อสังคม ส่วนใหญ่ที่สนิทสนมคุ้นเคยกับท่านอานันท์ มาจากการร่วมกิจกรรมร่วมงาน จากการเป็นนายกฯของท่าน ต่างกัน ผมกับเพื่อนส่วนหนึ่ง ไม่เคยคุ้นเคยใกล้ชิดกับท่านมาก่อน แต่เป็นฝ่ายออกโรงเคลื่อนไหว ออกโปสเตอร์ “ ช่วยกันปกป้องคนดี อานันท์ ปันยารชุน “ ในช่วงที่โดนกลุ่มคนมีอำนาจ ใส่ร้ายป้ายสี เพราะคติและประสบการณ์ส่วนตัว “ คือการสนับสนุนปกป้องคนดี คิดดีทำดีเพื่อส่วนรวมและบ้านเมือง “ ซึ่งทำมาตลอด สม่ำเสมอ ไม่ว่า “ คนนั้น จะเป็นใคร “ นักการเมือง ทหาร ผู้นำสังคมและภาคประชาชน เพราะในสังคมที่อยู่ในระยะของการเปลี่ยนแปลงจากไม่ดีไปสู่ดีนั้น “คนดีมีน้อย อยู่ยาก “ ต้องช่วยรักษาฯ และไม่จำเป็นว่า “ เขาคนนั้น “ จะต้องเป็นคนดี แม้แต่เป็นพวกสีเทา หากวันนี้ทำดี ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้บ้านเมือง เราต้องออกมายกย่อง ชื่นชมยินดี เพื่อเป็นกำลังใจในสิ่งดีที่เขาทำ และจะได้ทำต่อไป ให้ดีเป็นประโยชน์มากขึ้น มีบางคนเป็นสื่อใหญ่ เคยมีประวัติไม่ดีในเรื่องหุ้นฯ เมื่อก้าวออกมา เป็นผู้นำพธม. ทำให้เติบโตมีพลังเข้มแข็ง หรือบางคนเป็นนักการเมืองสีเทา แต่เมื่อลาออกจากการเมือง ก้าวมามีบทบาทสูงเด่น เป็นผู้นำ กปปส. และบางคนเป็นทหารใหญ่ แต่เมื่อได้ก้าวเข้ามา เป็นผู้นำในการแก้วิกฤตและความขัดแย้งของประชาชน และยังได้มีบทบาทในการแก้ปัญหาของประชาชนและประเทศชาติ จนได้รับการยอมรับจากประชาชน แต่การสนับสนุนยกย่องชื่นชม ก็อยู่ที่ช่วงเวลาแห่งการคิดดีทำดี เพื่อส่วนรวมเพื่อบ้านเมืองเท่านั้น หากต่อไป เขาเปลี่ยนไป หันไปสร้างอำนาจเป็นใหญ่ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง เราก็หยุด และหากยังมีการกระทำที่ใช้อำนาจมิชอบ สร้างความเสียหายให้ประชาชยและชาติ เราต้องต่อต้าน ฯ เรื่องราวที่กล่าวมา เป็นความจริงของสังคมไทย ที่เกิดขึ้นมาตลอด และส่วนตัวก็ได้ทำทั้ง 2 ประการ เพียงแต่เราหวังว่า “ เขา “ จะทำดีทำสิ่งที่มีคุณค่าให้กับบ้านเมือง คืนความสุขให้คนไทยได้จริง กลับมาพูดถึง ประโยค “ เขาเปลี่ยนไป “ มี 3 ประเด็น เป็นอย่างน้อย ที่เราจะต้องมาเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ความถูกต้องและความเป็นจริง 1. คนที่ถูกพูดถึง คือ “ เขาเปลี่ยนไป “ : คนที่พูด ยืนอยู่กับที่ คนที่ถูกพูดถึง เปลี่ยนที่ย้ายทางคนที่พูดถึงเขาเปลี่ยนไปเอง : คือ คนที่พูด เปลี่ยนไป ยืนอีกทีอีกข้าง แต่คนที่ถูกพูดถึง ยังยืนอยู่ที่เดิม 2. การเปลี่ยนไป คือ การเปลี่ยนจากคนดี ไปเป็นคนไม่ดี , หรือการเปลี่ยนไปในทางที่ดีน้อยลงโดยหลัก จะใช่ในเรื่องของผลประโยชน์ของประชาชนและบ้านเมือง เป็นตัวชี้วัด 3. การขาดการศึกษาเรียนรู้ และการใช้สติปัญญา ความจริง สรุปบทเรียน ถึงแนวทางทิศทางที่ถูกต้อง ในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีขึ้น และขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงที่จะได้ผลที่แท้จริง ทำให้ผู้ที่ยึดติดในเหตุการณ์เก่า ไม่เข้าใจถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตามสถานการณ์ปัจจุบัน 4. ปัญหาใหญ่ ที่ไม่ควรเป็นปัญหาในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ คือ “ เรื่องข้อมูลที่เป็นจริง “คนเรามักจะขาดความรู้และการศึกษาความเป็นจริงของเขาและของเหตุการณ์ที่เป็นจริง อาจะเป็นเพราะ เราขาดข้อมูลจริงๆ หรือ เราไปให้ความสนใจในเรื่องอื่น หรือยึดเรื่องที่เราเชื่อถือยึดมั่น เราจึงมักไปฟัง คนอื่น หรือเพื่อนฝูงที่มีทัศนคติเดียวกัน ที่พูดถึงด้านลบหรือด้านบวก ตามความเชื่อของเขา เมื่อพูดบ่อยๆเข้า ทั้งด้านบวกหรือด้านลบ ทำให้เราเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด ตามข้อมูลและความถี่ที่ได้รับ เรา มาพิจารณา “ รูปธรรม ของสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบัน “ 1. คนหนึ่ง: ที่เคยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนประเทศชาติเป็นที่ตั้ง เคยเป็นผู้นำผ่านเหตุการณ์สำคัญๆกลับเปลี่ยนไปยึดถือผลประโยชน์ของตนเองมาก่อน เพราะสิ่งที่ตนทำมานานตามอุดมคติ ไม่สำเร็จผลสักที (1) จึงเปลี่ยนไปร่วมมือกับพรรคการเมืองนายทุนสามานย์ ที่มีพลังกลไก ในการเข้าสู่อำนาจรัฐได้จริง(2) เข้าไปร่วมกับพรรคการเมืองอนุรักษ์ ที่มีภาพพจน์ที่ดีกว่าพรรคทุนสามานย์ ซึ่งในครั้งหนึ่ง ก็มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล และตนก็ได้เป็นเสนาบดีมาแล้วเช่นกัน กับ พวก (1 )(3) มีความคิดและมีความหวังว่า ตนจะใช้ความสำเร็จที่ได้จาก (1-2 ) นำไปสู่ชัยชนะของประชาชนได้ 2. คนหนึ่ง: ที่เคยปฏิเสธ “การเลือกตั้ง(ที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม) จากระบบรัฐสภา กลับเข้าสู่ระบบเลือกตั้งเป็นนักการเมือง สังกัดพรรคการเมือง ( สส. – สว. ) แล้วออกมาปกป้องระบบเลือกตั้งที่ตนได้ประโยชน์และกล่าวหา “ คนอื่น และเพื่อนมิตร “ ที่เคยร่วมคิดแบบเดียวกันมา ว่า “ เป็นพวกปฏิเสธประชาธิปไตยและเรียกตัวเองและพวกว่า “ เป็นพวกประชาธิปไตย ที่อ้างว่า ประชาชน ต้องมาก่อน “ 3. คนหนึ่ง : ที่เคยมีประสบการณ์ด้านลบที่รุนแรงของเผด็จการทหาร และมีอคติต่อสถาบันหลักของชาติ(1) ต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับการกระทำของทหาร โดยเฉพาะการรัฐประหารของทหารทุกเหตุการณ์(2) ได้ไปร่วมสนับสนุนรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหารของคสช.และพลเอกประยุทธ4. คนหนึ่ง : ไปเป็นสื่อ แต่ติดยึดฐานันดร์ที่4 ของสื่อ โดยขาดความเข้าว่า ปัจจุบัน“ สื่อ = ทุนใหญ่”ขาดหัวใจสำคัญของสื่อ คือ เคารพความจริง จรรยาบรรณความรับผิดต่อส่วนรวมและบ้านเมือง หลักการสำคัญที่เป็นตัววัด “ เขาเปลี่ยนไป “ ก็อยู่ที่ การแสดงออกของเขา ใน 2 เรื่อง คือ เราต้องใช้หลักการนี้ เป็นทั้งทฤษฎีความคิดนำทาง และการปฏิบัติที่ถูกต้องชอบธรรม 1. โลกทัศน์ = ทัศนะที่มองโลก ( วิสัยทัศน์, ความคิดเห็น ) โลกทัศน์ของแต่ละคนแตกต่างกัน แต่ละคนมีความคิดเห็นกับแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน ซึ่งจะต้องแสวงหาความรู้ และความเป็นจริง ตามสภาพของโลกที่เปลี่ยนไป อย่างถูกต้อง เช่น เรื่องของประชาธิปไตยที่แท้จริง อยู่ที่ผลประโยชน์ของประชาชน มิใช่เรื่องอื่นใด ชีวทัศน์ = ทัศนะที่มองชีวิต การรู้จัก "ตัวตน" ที่แท้ของตัวเราเองพร้อมกำหนดรู้ต่อการเอาตัวตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งทั้งปวงอย่างถูกต้องตามเป็นจริง การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย มัธยัสถ์ ซื่อสัตย์สุจริต เคารพตนเองและผู้อื่น ไม่เอาเปรียบเบียดเบียนกัน 2. การประพฤติปฏิบัติของตน ต่อ การใช้โลกทัศน์และชีวทัศน์ของตน พูดหลักๆ คือ (1) การเอาผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติมาก่อนหรือหลังตัวเอง(2) เป้าหมายที่ดีและถูกต้อง ต้องเป็นธรรม และได้มาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เท่านั้น.กลับมาถึง “คำพูดของท่านอานันท์ ไม่มีใครรู้จักผมจริง นอกจากครอบครัวที่อยู่กันมา 50-70 ปี “ เป็นคำตอบหนึ่งที่ตรงแท้ ของสังคมไทย ซึ่งมักจะเอาตัวเองมาก่อน ให้ความสำคัญต่อตนเอง มากกว่า เป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้ขาดการสนใจ การศึกษาเรียนรู้เพื่อเข้าใจเข้าถึงตัวตนที่แท้จริงของเขา คนที่จะรู้จักกันจริง มีปัจจัยสำคัญบางประการ เป็นองค์ประกอบ 1. มีความรักกันอย่างลึกซึ้ง เป็นสายโลหิตเดียวกัน สามีภรรยา พี่น้อง พ่อแม่-ลูก ญาติสนิท ฯ 2. มีอุดมการณ์อุดมคติ ร่วมกัน มีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง เช่น เป็นสหาย เป็นเพื่อนร่วมน้ำสาบาน 3. อยู่หรือทำงานที่มีความเสี่ยงร่วมกัน เช่น “ เป็นคู่หูกัน (ตำรวจมือปราบ ) “ เป็นทหารออกศึกร่วมรบ 4. การยอมรับลักษณะส่วนตัวลักษณะเฉพาะของบุคคลตามที่เขาเป็น ให้เกียรติเคารพ ในคุณค่าของเขา 5. ต้องมีเวลาที่อยู่ ที่ทำงาน ฯ เป็นเวลาพอสมควร ที่จะเรียนรู้ หรือแสดงออกต่อกันเป็นประจำ 6. เป็นการรู้สึกเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ที่จะต้องเรียนรู้ และร่วมกันสร้าง มิใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด 7. ต้องพูดความจริงต่อกัน ไม่เกรงใจ หรือเสแสร้ง ให้ดูดีให้สบายใจในสังคม 8. มีความเชื่อมั่น และเชื่อใจกันและกัน มีทุกข์มีสุขร่วมกัน 9. ไม่เอาเปรียบกัน หรือใช้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นเครื่องมือ รูปธรรม ถ้ามีเพียงที่เดียว ต้องให้เพื่อนก่อนตัวเรา 10. ต้องใช้แรง เวลา และพลัง ในการศึกษาเรียนรู้ และช่วยเหลือ ให้แก่กันและกัน โดยสรุป การจะกล่าวว่า “เขาเปลี่ยนไป” ต้องให้ความเป็นธรรมแก่เขาและตัวเรา โดยเราต้องเข้าใจตัวเขาและตัวเรา โดยการศึกษาเรียนรู้ความจริง โดยใช้สติปัญญา มิใช่ข้อมูลความเชื่อผิดๆ และเราต้องมีการพัฒนาเพื่อปรับปรุงตัวเอง และเข้าใจเขา รวมทั้งเข้าใจโลกด้วย ตลอดเวลา