ทวี สุรฤทธิกุล หลายคนก่นด่ารัฐบาลโดยที่อาจจะไม่รู้ว่ากำลังด่าใครอยู่กันแน่ ข้อหาร้ายแรงของรัฐบาลชุดนี้ในสายตาของคนบางกลุ่มก็คือ เอาคนไม่ค่อยดีมาเป็นรัฐมนตรี ทำให้รัฐบาลมีปัญหาด้านจริยธรรม อย่างที่เรียกว่า “จริยธรรมต่ำ” ไม่เฉพาะแต่การเอาคนที่มีมีมลทินมามีตำแหน่งในรัฐบาล แต่ยังหมายถึงรัฐมนตรีอีกหลายคนที่ทำพลาดทำผิดแล้วไม่แสดงความรับผิดชอบ เป็นต้นว่าอยู่ในกลุ่มกิจกรรมเสี่ยงกับพวกที่ติดเชื้อโควิด หรือบางคนเสี่ยงว่าจะเป็นคลัสเตอร์ในการแพร่เชื้อโรค ก็ยังสามารถลอยหน้าลอยตาร่วมอยู่ในรัฐบาลได้ต่อไป โดยที่ผู้นำรัฐบาลทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หรือโบ้ยให้เป็นความสำนึกรับผิดชอบส่วนตัว จนที่สุดฝ่ายค้านก็เสนอเรื่องนี้ให้มีการเอาผิดนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลแต่ไม่ได้จัดการกับรัฐมนตรีที่มีปัญหาต่าง ๆ จึงต้องพ่วงเอาผิดให้นายกรัฐมนตรีออกมารับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรงนั้นด้วย ผู้เขียนคงจะไม่วิจารณ์ซ้ำเติมนายกรัฐมนตรีอะไรมากนัก แต่ก็เห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นปัญหาในการเมืองการปกครองของไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้การเมืองการปกครองของไทยไม่พัฒนา ขณะเดียวกันก็ยิ่งทำให้อนาคตของการเมืองการปกครองไทยตกต่ำ เพราะนักการเมืองแย่ ๆ เหล่านั้นได้ทำให้การเมืองการปกครองของไทยเสื่อมทรามมาโดยตลอด รวมทั้งที่เป็นสาเหตุของการปฏิวัติรัฐประหาร ที่ทหารชอบอ้างและพยายามจะเข้ามาจัดการเปลี่ยนแปลงแก้ไข แต่ในท้ายที่สุดทหารก็ต้องร่วมหัวจมท้ายไปกับนักการเมืองเน่า ๆ เหล่านั้นด้วย ประเทศไทยเลยพลอยเสื่อมทรามไปอีกหลาย ๆ องค์กร ก็ด้วยความคงอยู่ของสิ่งที่ไม่ดีในระบบการเมืองการปกครองของไทยนี้ อันเกิดจากตัวนักการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องของ “จริยธรรม” หรือ “ความสำนึกรู้ว่าอะไรดีหรือชั่ว” ที่สุดสังคมไทยก็จะเสื่อมทรามไปทั้งระบบ เพราะผู้คนก็จะเข้าใจไปว่า ประเทศไทยก็ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะคนไทยก็เป็นอย่างนี้ ดูผู้ปกครองประเทศซิ คนแย่ ๆ ก็ยังเอามาปกครองคนไทยนั้นได้ ในตอนที่ผู้เขียนเรียนวิชาหลักรัฐศาสตร์ ในตอนปี 1 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านอาจารย์ผู้สอนได้สอนเกี่ยวกับศัพท์ทางการเมืองการปกครองมากมาย มีคำ ๆ หนึ่งที่สะดุดตาและเป็นที่จดจำในสมองของผู้เขียนเรื่อยมา นั่นก็คือคำว่า “The first among the equal.” ที่หมายถึงผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อคณะรัฐมนตรีทั้งหมด เพราะนายกรัฐมนตรีก็คือรัฐมนตรีอีกคนหนึ่ง โดยที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “คนแรก” ของคณะรัฐมนตรี ที่รัฐมนตรีทุกคนที่สถานะและศักดิ์ศรี “เท่าเทียมกัน” นั่นก็คือรัฐมนตรีทุกคนต้องทำงานร่วมกันและรับผิดชอบร่วมกัน หากมีการกระทำผิดพลาดก็ต้องรับผิดชอบกันทั้งคณะ ในทำนองเดียวกันเมื่อนายกรัฐมนตรีทำผิดพลาด คณะรัฐมนตรีก็ต้องมีอันเป็นไปทั้งหมด และถ้าจะมองให้ลึกซึ้งลงไปก็จะหมายถึงการกระทำของรัฐมนตรีแต่ละคนนั้นด้วย เว้นแต่รัฐมนตรีคนที่ทำผิดนั้น ๆ จะแสดงความรับผิดชอบในส่วนความผิดของตนเอง ก็อาจจะช่วยรักษารัฐมนตรีคนอื่น ๆ ให้คงอยู่เป็นรัฐบาลต่อไปได้ ดังนั้นเราจึงได้เห็นว่าในประเทศที่เขาปกครองด้วยความเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีอังกฤษเป็นแม่แบบ หากรัฐมนตรีทำผิดแม้แต่น้อย เช่น ใช้คำพูดลวนลามเจ้าหน้าที่ผู้หญิง หรือนอกใจภรรยา(เรื่องนี้ในสังคมไทยก็คงเป็นเรื่องเล็กน้อยเพราะผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็ประพฤติกันอยู่โดยทั่วไป) รัฐมนตรีคนนั้นก็ลาออกจากตำแหน่งไป ก็เพื่อรักษาคณะรัฐมนตรีคนอื่น ๆ เอาไว้นั่นเอง เรื่องของจริยธรรมเป็นเรื่องสำคัญมากในทางการเมือง ในทางสากลนั้นยึดถือเป็นหลักการไว้เลยว่า ผู้นำหรือผู้ปกครองประเทศที่รวมถึงนักการเมืองและข้าราชการทั้งหลายนั้น จำเป็นจะต้องมี “ระบบคุณธรรม” กำหนดขึ้นควบคุมความประพฤติให้คนกลุ่มนี้อยู่ใน “การกระทำที่ดี” อันเป็นคำจำกัดความของคำว่า “จริยธรรม” คนเหล่านี้จึงต้องมี “ประมวลจริยธรรม” หรือกฎหมายเพื่อการควบคุมให้อยู่ในการกระทำที่ดีทั้งหลายนั้น ซึ่งกฎหมายก็จะกำหนดไว้ให้ “สูงกว่า” ประชาชนทั่วไปอีกด้วย ดังนั้นความผิดที่ชาวบ้านทั่วไปกระทำ หากเป็นการกระทำของนักการเมืองและข้าราชการ ก็จะต้องได้รับโทษรุนแรงมากกว่า ระบบนี้ในสมัยที่ประเทศไทยเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบบที่ยึดถือกันเคร่งครัดมาก โดยขุนนางในระดับต่าง ๆ จะต้องรับโทษตามลำดับชั้นของตำแหน่ง และมีโทษมากกว่าประชาชนไปตามลำดับชั้นนั้น แต่พอมาถึงสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ระบบนี้ดูเหมือนว่าได้ถูกละเมิดเรื่อยมา เพราะตัวนักการเมืองที่เรียกว่า “คณะราษฎร” ส่วนใหญ่ก็คืออดีตข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนเหล่านั้น ได้สร้างระบบใหม่ขึ้นมาเพื่อพาตัวเองให้พ้นจากความชั่วความผิดทั้งปวง จนทำให้นักการเมืองกลายเป็นอภิสิทธิชนกลุ่มใหม่ (ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ฟาดฟันกับคณะราษฎรมาตลอดชีวิต เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “เจ้าพวกใหม่”) และได้ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะทำให้คนเหล่านี้ “อยู่รอด” ได้ในทุกสถานการณ์ จนถึงขั้นที่ “ไม่สามารถจะแตะต้องได้” ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าผู้ปกครองของไทยนั่นเองที่สร้าง “ระบบแย่ ๆ” เช่นนี้ขึ้นมา ท่านทั้งหลายที่ติดตามการเมืองมาอย่างเข้มข้น น่าจะจำได้ว่าตอนที่มีการยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทหารได้อ้างว่านักการเมืองที่มีความขัดแย้งกันได้สร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง จึงเรียกมาประชุมร่วมกัน (นักการเมืองของเราก็บ้าจี้พอที่จะไปประชุมตามคำสั่งของทหารที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาลนั้นอีกด้วย) พอยึดอำนาจได้แล้วทหารเองก็เอานักการเมืองไปกักขังไว้ในหลาย ๆ ที่โดยบอกว่านี่คือ “การปรับทัศนคติ” รวมถึงที่บอกว่าจะจัดการกับนักการเมืองที่ทำชั่วอย่างเด็ดขาดอีกด้วย ตัดภาพมาที่การเขียนรัฐธรรมนูญ ต่อเนื่องมาจนถึงการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ การเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 และการจัดตั้งรัฐบาลต่อมา เราจะเห็นว่าทหารได้ทำตรงกันข้ามกับที่พูดไว้ในตอนที่ยึดอำนาจนั้นโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ ที่ตรงกันข้ามกับคำขวัญผ่านเสียงของผู้มีอำนาจว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน...” การรวมพวกนักการเมืองกเฬวรากเข้ามาเป็นพรรคที่สนับสนุนรัฐบาล การเลือกตั้งที่ใช้กฎหมายความมั่นคงมาจัดการกับผู้เห็นต่าง และการลากถูขออยู่เป็นรัฐบาลไปเรื่อย ๆ “อย่างหนา ๆ” อย่างที่เห็นกันอยู่นี้ ไม่รวมกับที่บิดเบือนและถ่วงรั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ฯลฯ ไม่เพียงแต่จะเป็นรัฐบาลจริยธรรมต่ำ แต่ยังไร้มโนสำนึกของความเป็นผู้นำโดยสิ้นเชิง !