ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล ตลอดระยะเวลา 85-86 ปีของ “ระบอบการเมืองการปกครองไทย” ที่เปลี่ยนแปลงจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช” มาเป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่มีการล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดจาก “การแก่งแย่งอำนาจ” กันระหว่าง “อำนาจทหาร” กับ “อำนาจของนักการเมือง” ต่างกรรมต่างวาระกัน ทั้งนี้ในช่วงแรกนั้นเป็นการแก่งแย่งอำนาจทางการทหารบ้างและ “คณะราษฎร” แต่ในช่วงหลังพ.ศ.2532 เป็นต้นมา เป็นการเข้ามาค่อยๆ คุมอำนาจของ “นักการเมือง” ที่ค่อยๆ เบ่งบานมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็น “กลุ่มการเมืองขนาดใหญ่” ที่มี “กลุ่มนายทุน” ที่มีการรวมตัวกันจนกลายเป็น “กลุ่มธุรกิจการเมือง” ที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่า “น่ากลัวว่าจะฮุบประเทศไทยเป็นบริษัท!” จนในที่สุด “กองทัพ” ต้อง “ยึดอำนาจ” ด้วยการทำ “รัฐประหาร” กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ มิได้ก่อเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ค่อยๆ เกิดขึ้นจากการที่ “สถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอลง!” เนื่องด้วยรัชกาลที่ 7 ทรงเสียสละอำนาจเพื่อมอบให้แก่ประชาชนได้ปกครองตนเองตาม “หลักประชาธิปไตย” ตามครรลองของโลก ที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานบวกกับบรรดานักศึกษาไทยที่ได้ไปศึกษายังต่างประเทศช่วงก่อนพ.ศ.2475 กลับมาเมืองไทย เริ่มติดอาการจากตะวันตกที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย จึงขอย้ำว่า “รัชกาลที่ 7 พระองค์ท่านทรงเสียสละอย่างมหาศาล ที่จะต้องให้ประชาชนปกครองตนเอง โดยมอบอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชน” “ประชาธิปไตย” เกิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา เพียงแต่ว่า “คณะราษฎร์” ในขณะนั้นเกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างกันจนกองทัพต้องเข้ามาทำ “การยึดอำนาจ” จนอุดมการณ์ประชาธิปไตยเปลี่ยนแปลงไป “วงจรอุบาทว์” จึงเกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้น และที่สำคัญเป็นการแก่งแย่งชิงอำนาจระหว่าง “ตำรวจ-ทหาร” แต่ต่อมาเมื่อเปลี่ยนผ่านสู่ “อำนาจของนักการเมือง” สภาพอำนาจการเมืองก็เปลี่ยนไป จึงก่อให้เกิด “ผลประโยชน์ทางการเมือง” ที่มี “การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน” ระหว่าง “นักการเมืองกับอำนาจทางกองทัพ” จนในที่สุด “นักการเมืองค่อยๆ รุกคืบกลืนอำนาจการเมืองมากยิ่งขึ้น” จนกลายเป็น “ธุรกิจการเมือง” หรือ “POLITICAL BUSINESS” โดยเฉพาะในช่วงปีพ.ศ.2540 เป็นต้นมา ที่เรียกว่า “PROXY POLITICS” “PROXY POLITICS” เป็นการเมืองที่น่ากลัวมาก กล่าวคือ เป็นการเมืองที่ใช้ระบบเงินเข้ามา “ครอบงำ-ครอบคลุม” อำนาจการเมืองการปกครองกับกลุ่มการเมืองและประชาชนทุกระดับชั้น จนประชาชนติด “นโยบายเงิน” หรือ “นโยบายประชานิยม” จนงอมแงม หรือสามารถเรียกว่า “นับถือเงินเป็นพระเจ้า” จนลืมถึง “ประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมที่ดีของการเมืองไทย” หรือ “สถาบันการเมืองไทย” ที่มี “สถาบันชาติ-ศาสนา-สถาบันพระมหากษัตริย์” “ธุรกิจการเมือง” เป็น “วงจรอุบาทว์” ที่เลวร้ายที่สุด ที่มีการลงทุนทางการเมืองอย่างมหาศาล ด้วยการลงทุนซื้อพรรคการเมืองเล็ก บวกกับการเมืองระดับล่างหรือระดับท้องถิ่น จนกลายเป็น “พรรคใหญ่” ด้วยขอย้ำว่า “ระบบทุนนิยม” ที่อาศัย “ประชาธิปไตย” แต่เป็น “ประชาธิปไตยจอมปลอม (PSEUDO DEMOCRACY)” แต่เมื่อมีการลงทุนทางการเมืองแล้ว แน่นอนที่ต้องมี “การถอนทุน” ด้วย “การถอนทุนบวกดอกเบี้ย” ที่ “กอบโกยกันอย่างมหาศาลด้วยการถอนทุนร้อยละ 200-300 และดอกเบี้ยร้อยละ 100-200” กันเลยทีเดียว! “ประชาธิปปไตยเบ่งบาน” จริงๆ นั้นเกิดขึ้นในช่วงพ.ศ.2516-2519 เท่านั้น กล่าวคือ 14 ตุลาคม 2516 - 6 ตุลาคม 2519 เท่านั้น ที่ “มวลมหาประชาชน” มีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะ “นิสิตนักศึกษา-คนรุ่นใหม่” และ “ครูบาอาจารย์” ที่จบการศึกษาทั้งจากในประเทศและจากต่างประเทศได้แสดงออกอย่างมากมาย จนอาจเลยเถิดจนเกินไป เนื่องด้วย “การโค่นล้มอำนาจทหารเผด็จการ” จาก “ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์-จอมพลถนอม กิตติขจร-จอมพลประภาส จารุเสถียร” ที่มีอำนาจแทบจะล้นฟ้าในช่วงหลายสิบปีก่อนหน้านั้น แต่ก็ถูกโค่นล้มลงจากความพยายามของคนรุ่นใหม่ แต่แน่นอนที่มีขบวนการโค่นล้มอำนาจกันเองภายใน “ขบวนการแย่งอำนาจกันเอง” ของ “กลุ่มอำนาจ” ที่ก่อตัวกันเองภายใน “กลุ่มข้าราชการมีสี!” อย่างไรก็ตาม “ความเบ่งบาน” ของประชาธิปไตยไทยได้ถูกยุบลงโดยอำนาจของความไม่พอใจของประชาชนบางส่วน ที่อาจเอือมระอากับอำนาจที่ถูกใช้มากเกินไปของกลุ่มคนรุ่นใหม่ บวกกับกลุ่มอำนาจกองทัพที่เอื่อมระอาเช่นเดียวกันเข้ายึดอำนาจ ที่สามารถเรียกได้ว่าเกิด “วงจรอุบาทว์” อีกครั้งหนึ่ง ที่น่าจะมี “กลุ่มการเมือง” ที่อยู่เบื้องหลังอยู่ด้วยร่วมผสมโรง นับแต่นั้นมา “นักการเมือง” ค่อยๆ จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น แล้วค่อยๆ เบ่งบานจนเกิดพรรคการเมืองมากขึ้น จนเกิดขึ้นหลายสิบพรรค แต่พรรคการเมืองเก่าจริงนั้นมีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคประชากรไทย พรรคกิจสังคม น่าจะเท่านั้น แต่ต่อมาก็เกิดพรรคการเมืองที่แตกแขนงออกมาจากพรรคการเมืองเก่าแก่มาเป็น พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังธรรม พรรคมวลชน เป็นต้น จนในที่สุดก็เกิด พรรคการเมืองใหม่ที่มีพลังมหาศาลเนื่องด้วย “เงินทุนมหาศาล” ที่ดูน่ากลัวมากคือ “พรรคไทยรักไทย” ที่มีนักธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมที่หันสู่การเมือง อุดมการณ์ของ “พรรคไทยรักไทย” นั้น เบื้องต้นนั้นตั้งสโลแกนว่า “คิดใหม่ ทำใหม่” สร้าง “ความหวัง” ให้กับคนไทยอย่างมาก แต่ในที่สุดก็ต้องดึงนักการเมืองรุ่นเก๋านักเลงการเมืองโบราณอย่าง “ป๋าเหนาะ” เจ้าพ่อการเมืองอีสานเข้ามาร่วมด้วย เพื่อสร้างเก้าอี้ในสภาผู้แทนราษฎรให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จึงมิได้คิดใหม่ ทำใหม่แต่ประการใด เพียงแต่ยังคงใช้รูปแบบเก่าเท่านั้น แต่ก็ยังสร้างความหวังให้กับคนไทยได้บ้าง เนื่องด้วยหัวหน้าพรรคนั้นยังคงดู “ใสปิ๊ง!” อยู่ อย่างไรก็ดี พอวันเวลาผ่านไป “วิธีคิด-วิถีคิด” ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปจากอุดมการณ์ที่มุ่งหวังสร้างชาติกับกลายเป็น “ธุรกิจการเมือง” จนจากคิดใหม่ ทำใหม่ เป็น คิดเองเพื่อตัวเองกลุ่มตัวเองและ “คิดเลยเถิด” และสร้างความขัดแย้งกับบรรดาหลายพรรคการเมืองที่ถูกบีบให้ยุบพรรคเพื่อให้พรรคตนเองใหญ่ จนในที่สุดก็ถูกยุบพรรคแล้วก็ต้องตั้งพรรคใหม่ แล้วก็ถูกยุบอีก จนเกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง แล้วก็ถูกยุบอีกจนหัวหน้าพรรคต้องจรลีหนีออกนอกประเทศ จนต้องเอาน้องสาวมาเป็นหัวหน้าพรรคแล้วในที่สุดก็ถูกคดี แล้วก็หนีออกนอกประเทศในที่สุดด้วยคดีทุจริตเช่นเดียวกัน