เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit รัฐในอุดมคติไม่มีจริง เป็นยูโธเปีย เรื่องหลอก ภาพลวงตาพาฝัน ไม่ใช่โลกที่เป็นจริง ด้วยเหตุนี้ การเป็นผู้นำที่ดีมีคุณธรรมในโลกที่เป็นจริงก็ไม่มีจริง เพราะผู้นำที่มีคุณธรรมกับมีประสิทธิภาพในเวลาเดียวกันเป็นไปไม่ได้ ไม่เคยมีจริง ถึงมีก็อยู่ได้ไม่นาน นี่เป็นแนวคิดของนิโกโล มักเคียเวลลี ชาวอิตาเลียน เจ้าของหนังสือ “เจ้าผู้ปกครอง” (The Prince) ที่เขียนเมื่อปี 1515 หรือกว่า 500 ปีก่อน แต่ยังสะท้อนความเป็นจริงในโลกวันนี้ สังคมในอุดมคติต้องการผู้นำที่มีคุณธรรม แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มี เพราะผู้นำคุณธรรมทำลายตนเอง ไปไม่รอด มักเคียเวลลีจึงบอกว่า ถ้าอยากมีอำนาจ อยากอยู่ยาวนานต้องพร้อมที่จะไม่มีคุณธรรม (non virtuous) เพราะจะมีประสิทธิภาพกว่า สำเร็จมากกว่า นี่คือหลักรัฐศาสตร์มักเคียเวลลี ที่ต้องเป็นเช่นนี้เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีคุณธรรม ไม่รู้คุณ โกหก หลอกลวง ไม่จริงใจ เจ้าผู้ปกครองที่เป็นผู้นำที่ดีจึงต้องโกหกเป็น โกหกเก่ง หลายมาตรฐานเพื่อจะได้รักษาอำนาจไว้ ทำให้คนกลัว ผู้นำอยากให้คนรักและเกรงกลัวในเวลาเดียวกัน แต่ถ้าหากต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง มักเคียเวลลีบอกให้เลือกเกรงกลัวดีกว่ารัก เพราะคนจะสนับสนุนผู้นำเมื่อทุกอย่างเป็นไปด้วยดี แต่เมื่อมีภัยมาพวกเขาก็จะหนี ทิ้งผู้นำ ถ้าทำให้พวกเขากลัว ไม่ว่าสถานการณ์ดีหรือร้าย จะไม่ไปไหน ผู้นำคงอยากให้คนรัก ไม่ต้องการให้คนเกลียด แต่ถ้าต้องการรักษาอำนาจก็ต้องทำให้กลัว สำหรับมักเคียเวลลี ถ้าเป้าหมายดี วิธีการอะไรก็ได้ ไม่ใช่แบบอุดมคติที่ว่า “เป้าหมายดีวิธีการต้องดีด้วย” ถ้าจำเป็นต้องใช้กำลัง ใช้ความรุนแรงก็ต้องใช้เพื่อรักษาระเบียบบ้านเมือง เพราะกฎหมายอย่างเดียวไม่สามารถบังคับผู้คนได้ ผู้นำที่ดีต้องเป็นสิงโต ที่กล้าหาญ เผชิญกับศัตรูได้ ทำให้สัตว์อื่นกลัวได้ แต่ต้องเป็นหมาจิ้งจอกที่ฉลาดและโกงเป็นด้วย มันจำบ่วงแร้วหรือกับดักได้ หลบเลี่ยงภัยได้ หลอกสัตว์อื่นได้ ผู้นำต้องโกหกเก่งจึงจะประสบความสำเร็จ เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น สร้างทฤษฎีสมคบคิด สร้างเฟกนิวส์ เพื่อรักษาอำนาจและระเบียบสังคม ในสังคมอุดมคติผู้นำต้องมีคุณธรรม ในโลกแห่งความเป็นจริงต้องตรงกันข้าม คนอยากได้ผู้นำที่ดีมีคุณธรรมก็จริง แต่อยากได้ผู้นำที่มีประสิทธิภาพมากกว่า และเป็นคนดี มีคุณธรรม ใสซื่อมือสะอาดเป็นผู้นำดีไม่ได้ เป็นนักการเมืองดีไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้วัดกันที่คุณธรรม แต่วัดกันที่ประสิทธิภาพ ผลงาน ผู้นำดีต้องปกป้องรัฐจากการคุกคามภายในภายนอก มีธรรมาภิบาลมั่นคง รู้วิธีการจัดการกับคนรอบข้าง รอบด้าน นักคิดนักปรัชญา นักเทวศาสตร์จะสั่งสอนให้ผู้นำมีจริยธรรม มักเคียเวลลีบอกว่าจริยศาสตร์คริสต์กับธรรมาภิบาลที่ดี (good governance) ไปด้วยกันไม่ได้ เขายกตัวอย่าง Savonarola ผู้นำที่ดีมีคุณธรรมในยุคนั้นที่ถูกโป๊ป ซึ่งเป็นทั้งผู้ปกครองศาสนาและอาณาจักรผู้ฉ้อฉลเบียดเบียน จนถูกเผาทั้งเป็น ดีเกินไปก็อยู่ไม่ได้ คุณลักษณะที่ดี หรือ “คุณธรรมของผู้นำ” ตามความคิดมักเคียเวลลี คือ มีภูมิปัญญา ยุทธศาสตร์ ความเข้มแข็ง ความกล้าหาญ และในยามจำเป็น มีความโหดเหี้ยม เขาเรียกว่า “คุณธรรมอาชญา” (criminal virtue) ต้องโหดเพื่อปกป้องรัฐ โหดในนามของรัฐ ถ้าคาร์ล มาร์กซ์ วิพากษ์แนวคิดประวัติศาสตร์ของเฮเกลว่า “เลื่อนลอย “ “เอาหัวเดิน” แนวคิดของเขา “เอาเท้าเดิน” “ติดดิน” อยู่บนฐานความเป็นจริง และประวัติศาสตร์คือการต่อสู้ทางชนชั้น ในทำนองเดียวกัน มักเคียเวลลีวิจารณ์ว่า ตั้งแต่เพลโตเป็นต้นมา นักปรัชญา นักรัฐศาสตร์ เสนอแต่เรื่องรัฐในอุดมคติที่เป็นจริงไม่ได้ เขาจึงเสนอแนวคิดทางการเมืองบนฐานความเป็นจริง ศาสนจักรคาทอลิกแบนหนังสือของเขา 200 ปี เพราะเขาบอกว่า คริสต์ที่ดีเป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ ศาสนจักรรับการวิพากษ์เรื่องความหน้าซื่อใจคด (hypocrisy) ไม่ได้ รับการพูดความจริงแบบมักเคียเวลลีไม่ได้ ที่บอกว่า โกหกหลอกลวงได้ ถ้าเพื่อวัตถุประสงค์ที่ดีกว่า เพราะใครๆ ก็ทำกัน แม้ไม่ใช่นักการเมือง คนเราก็เผชิญกับภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก (dilemma) ไม่ว่าในสำนักงาน องค์กร หน้าที่การงาน การเป็นผู้นำ ผู้บริหาร หรือในครอบครัว ระหว่างประสิทธิภาพกับความใจดีมีเมตตา บางครั้งต้องโกหกเพื่อรักษาความสัมพันธ์ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำ เพื่อแก้ข่าว เอาตัวรอด เอาสีข้างเข้าถู บางอย่างเป็น “โกหกสีขาว” (white lie) เพื่อไม่ทำร้ายความรู้สึก เพื่อบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาที่อาจเลวร้ายกว่าความยุติธรรมกับความรัก ความถูกต้องกับถูกใจ ทฤษฎีกับปฏิบัติทางการเมืองคนละเรื่อง อุดมคติกับชีวิตจริงคนละเรื่อง นักการเมือง “ที่เก่ง” พร้อมที่จะโกหกและใช้ทุกวิถีทางเพื่อขึ้นสู่อำนาจ เพื่อให้รับเลือกตั้ง มักเคียเวลลีเคยเป็นข้าราชการ เป็นนักการเมือง เขียนคู่มือสำหรับเจ้าผู้ปกครอง ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างอุดมคติกับชีวิตจริง ระหว่างรัฐในอุดมคติกับรัฐที่เป็นจริง คือแนวคิดสัจนิยมทางการเมือง นักจิตวิทยายกให้คนแบบมักเกียเวลลีเป็นหนึ่งใน “ไตรมิตรบุคลิกมืด” (Dark Triad) คือ หลงตัวเอง (narcissism) สติแตก (psychopath) และมักเคียเวลลี ผู้นำที่มีลักษณะเหล่านี้ตอนแรกดูเหมือนจะดี ที่แท้ก็เป็นคนบ้าอำนาจ สติแตก หลงตัวเอง ไม่ต้องย้อนอดีตไกล ดูผู้นำในโลกวันนี้ที่ไหนก็ได้ คนแบบมักเคียเวลลีต้องขี้โกงแบบนิ่มนวล ไม่สัตย์ซื่อ ไม่จริงใจ หลายมาตรฐาน ดูดีแต่ไม่มีศีลธรรม เพื่อจะได้เป็นผู้นำที่ “ชาญฉลาด” และ “มีประสิทธิภาพ” ทำให้บ้านเมืองเจริญต้องโกงได้โกหกเป็น แนวคิดของมักเคียเวลลีอาจดูดีบางอย่าง แต่โดยรวมเขาเป็น “บิดา” ของนักการเมืองเลว หนังสือของเขา คือ คู่มือเผด็จการมาทุกยุคสมัย ให้ความชอบธรรมแก่การใช้อำนาจฉ้อฉล แทนที่จะเผาหนังสือของเขา เราควรนำมาเป็นบทเรียนเพื่อสร้างระบบที่ทำให้ได้นักการเมืองที่ดี มีคุณธรรม มีประสิทธิภาพ ไม่ปล่อยให้เผด็จการในคราบประชาธิปไตยเข้าสู่อำนาจครองเมือง