พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ข่าวสารที่ออกจากสหรัฐอเมริกา ไม่ต่างจากข่าวสารที่มาจากประเทศต่างๆเกือบทั่วโลก คือ ถึงกันแทบ ทั้งหมด ยิ่งในโลกปัจจุบันที่สื่อออนไลน์พัฒนาไปมากด้วยแล้ว โอกาสในการเข้าถึงสื่อ ก็แทบเท่ากันทั้งหมด ยกเว้นบางประเทศที่กีดกันการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน จึงถือว่า คนไทยเรารับรู้ข่าวสารจากสื่อ หลากหลากหลายประเภทกันเป็นปกติเท่ากับการรับ รู้ของคนอเมริกัน หรือสำหรับคนไทยที่สนใจความเคลื่อนไหวของโลกอยู่แล้วอาจรับรู้ข่าวสารมากกว่า คนอเมริกัน ที่ไม่สนใจข่าวสารเสียด้วยซ้ำ ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ ทำให้คิดว่าการนำเสนอเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงในเชิงการวิเคราะห์ หรือสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์(ข่าวสาร)ที่เกิดขึ้น น่าจะดีกว่าการเล่าข่าวแต่เพียงอย่างเดียว ข่าวที่เป็นการรายงานสถานการณ์ข้อเท็จจริงนั้น จัดเป็นข้อมูลชั้นปฐมภูมิ หรือข้อมูลดิบ แม้ผ่านการรีไรท์ (rewrite/edit) จากบรรณาธิการข่าวมาแล้วก็ตาม อาจไม่ได้ตรงเป๊ะกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่อย่างน้อย มันก็มีลักษณะของความเป็นรายงานอยู่ คือ ผ่านการตีความในชั้นการกรองขั้นต้นเท่านั้น ยังไม่ถูกตีความ ในเชิงการวิเคราะห์จากผู้นำเสนอ (ซึ่งหมายถึงการใส่ความเห็นของคนวิเคราะห์ เพื่อที่จะให้เป้าประสงค์ ของการนำเสนออย่างโดดเด่นตามที่กำหนดหรือตามที่ต้องการ) การวิเคราะห์ข่าว จึงน่าจะสำคัญในเชิงการได้ประโยชน์เพิ่มกว่าการนำเสนอด้วยวิธีการเล่าข่าวหรือรายงานเหตุการณ์ชั้นปฐมภูมิเพียงอย่างเดียว และนี่เป็นเรื่องที่สื่อเมริกันพากันเห็นพ้องในตอนนี้ สถานการณ์บางสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกนั้น ก็เชื่อมโยงอย่างมี นัยสำคัญกับความเป็นไปและบทบาทของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลก จากกระแสความเป็นไป (ทิศทาง) ของนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า new world order (NWD) มันมีความหมายอย่างน้อยก็ 2 ความหมาย ความหมายแรก คือ หมายถึงกระแสความเป็นไปของโลกโดยสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายนำหรือ เป็นฝ่ายกำหนด กับความหมายที่สองซึ่งก็อยู่ในบริบทเดียวกัน คือ world government หรือรัฐบาลโลก ที่รัฐบาลอเมริกันทำหน้าที่เป็นรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบ(order) โลก ตามแนวทาง ความเชื่อ และปรัชญาอเมริกัน ดูอย่างการเข้าไปจัดระเบียบในโลกของตะวันออกกลางที่แล้วๆ มาและความพยายามในกรณีของเกาหลีเหนือเวลานี้ มีสิ่งที่ควรทราบอย่างน้อย 2 ประการเกี่ยวกับ new world order ที่หมายถึง สหรัฐอเมริกา ประการแรกคือ new world order มีหลายด้าน เช่น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เป็นต้น ที่สำคัญคือ new world order อิงอยู่กับอำนาจทางการทหารเป็นส่วนสำคัญ, ประการที่สอง คือ order ดังกล่าวไม่ได้มีความหมายในเชิงการเข้าไปปฏิบัติการควบคุมหรือบังคับโดยตรงด้วยการใช้กำลัง (Force) เสมอไป แต่เป็นการกำกับทางอ้อม โดยใช้อุดมการณ์ เป็นเครื่องมือ เช่น อุดมการณ์เสรีนิยม ทุนนิยมเสรี สิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งว่าไปแล้วอุดมการณ์เหล่านี้ก็ดูสมเหตุสมผลหากมองในเชิงมนุษยนิยม หรือการให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์อย่างยิ่งยวด (ศักดิ์ศรี) โดยเฉพาะสิทธิ เสรีภาพของความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ เนื้อหาสาระของอุดมการณ์ เหล่านี้ล้วนปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญของอเมริกันมานับศตวรรษ พลโลกผู้สนใจระเบียบ จึงไม่พึงเพิกเฉยต่อรัฐธรรมนูญอเมริกัน หากต้องการเข้าใจอุดมการณ์แบบนี้อย่างตรงกัน ภายใต้ระเบียบอเมริกันชุดนี้ ปัจเจกชน ได้รับการเชิดชูเป็นอย่างมาก ในนามของการมีสิทธิ เสรีภาพ การไม่รุกล้ำก้ำเกินสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ผลพวงของระเบียบดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลแค่เพียงพื้นฐาน ของความเป็นปัจเจกภายนอกเท่านั้น หากแต่ส่งผลให้เกิดแรงสะเทือนลึกถึงกระบวนการด้านจิตวิญญาณ ที่เป็นกระบวนการภายในของมนุษย์ ภายใต้ “ความเชื่อความศรัทธา” เช่น ผลพวงจากการประกาศตนเองเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) โดยไม่ยอมให้ความเชื่อและ ความศรัทธาด้านศาสนาขึ้นมาสัมพันธ์กับอุดมการณ์ของรัฐในเชิงของคำประกาศอุดมการณ์อย่างเป็นทางการ หากแต่ปล่อยให้เป็นเรื่องของปัจเจก จนต่อมารัฐโลกวิสัยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจารีตอเมริกัน ที่เน้นศูนย์กลางไปที่ความเป็นมนุษย์ หรือ “สิทธิมนุษยชน” จากความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าหน้าไหนก็ตามในโลก มีพื้นฐานความต้องการเหมือนกัน เช่น ความรักตัวกลัวตาย ความต้องการเสรีภาพ เป็นต้น แหละนั่นหมายถึงความเป็นสากลของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน เผ่าพันธุ์ใดก็ตาม การที่จะไปกำหนดว่าชาตินั้นเผ่าพันธุ์นี้มีหลักสิทธิมนุษยชนแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่แบบเดียวกันระเบียบสากล (อเมริกัน) ถือว่าไม่มี เพราะมนุษย์มีแรงปรารถนาพื้นฐานเหมือนกัน การปฏิบัติหรือวัตรปฏิบัติด้านศาสนาหากขัดแย้งต่อความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ แล้วถือว่าขัดต่อระเบียบด้านสิทธิของมนุษย แม้จะมีผู้มองว่าการจัดระเบียบของฝ่ายอเมริกันส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของอเมริกันเองในหลายด้าน เช่น ด้านความมั่นคงปลอดภัย ด้านเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า กระบวนการจัดระเบียบของสหรัฐอเมริกานี้มีผลให้โลกเกิดกระบวนทัศน์ใหม่หลายประการ กระบวนทัศน์ทางด้านสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในหลายกระบวนทัศน์นั้น และที่น่าแปลกก็คือ อุดมการณ์เสรี นิยมของอเมริกันกลับไปตรงกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ที่มีเป้าประสงค์ คือ “การปลดปล่อย” เพียงแต่ต่างฝ่ายต่างให้นิยามของการปลดปล่อยแตกต่างกันไป อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เน้นการปลดปล่อยคนจากทุน นายทุน หรือเจ้าของกิจการ ส่วนอุดมการณ์เสรีนิยมของอเมริกัน เน้นการปลดปล่อยในเชิงความเป็นอิสระให้เกิดขึ้นกับปัจเจก ซึ่งหมายถึงว่า การที่เราจะอยู่กับทุนได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจอย่างอิสระของเราเอง (แน่นอนว่าเราถูกทุนบังคับไม่มากก็น้อยให้เดินตาม) รวมถึงการที่เราจะเชื่อหรือศรัทธาอะไรก็ตามที่ไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ทั้งหมดทำให้เกิดกระบวนทัศน์ ที่สำคัญอย่างหนึ่งและสหรัฐอเมริกาได้นำมาเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบโลก คือ อุดมการณ์ ประชาธิปไตยที่อเมริกันเชื่อว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิพื้นฐานของมนุษย์มากที่สุด กล่าวให้เลยไปจากผลประโยชน์นิยมเชิงวัตถุของสหรัฐอเมริกาไปแล้ว อุดมการณ์มนุษยนิยม ของประเทศนี้ได้ถูกยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการจัดระเบียบ, new world order เป็นระเบียบสากลที่กำหนดมาจากพื้นฐานของความต้องการของมนุษย์ (สิทธิมนุษยชน) ภายใต้ระบบที่เรียกว่า ประชาธิปไตยที่แม้แต่รัฐก็ไม่มีอำนาจไปยุ่งเกี่ยวกับสิทธิที่เป็นความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ โดยความปรารถนาดังกล่าวยังรวมถึงความปรารถนาสากลในเรื่องความเชื่อ ความศรัทธาต่อลัทธิศาสนา หรือความเชื่อความศรัทธาของปัจเจกชน เพราะแน่นอนว่า มนุษย์ทุกคนย่อมมีความเชื่อปรากฏอยู่ภายในใจของเขาไม่ความเชื่อใดก็ความเชื่อหนึ่ง แม้ในบรรดาคนที่อ้างตนว่า ไร้ศาสนาแต่ความไร้ศาสนาก็จัดเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งอยู่ดีนั่นเอง นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น?เกิดขึ้นประมาณปี 1947 ถึง 1991 รัฐอเมริกันคอยดูและคอยจัดระเบียบอยู่ตลอดเวลา (ถ้าเป็นศัพท์เทคนิคสมัยสงครามเย็น เรียกว่า การโฆษณาชวนเชื่อ) จนกระทั่งอุดมการณ์ คอมมิวนิสต์ต้องยอมถอยร่นไปให้แก่การจัดระเบียบที่ว่า ครั้นหมดยุค สงครามเย็น ส่วนหนึ่งของเป้าหมายของการจัดระเบียบของสหรัฐอเมริกาไปอยู่ที่การเป็น “รัฐศาสนา” (religious states) หรือถึงแม้จะไม่ ประกาศตนเป็นรัฐศาสนาก็ตาม แต่ประเทศที่มีลักษณะของความเป็นรัฐศาสนาซ่อนอยู่ภายในนั้น รัฐอเมริกันมองว่าไม่เข้ากับระเบียบของตน นอกเหนือไปจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจแล้ว สาเหตุของการจัดระเบียบขึ้นกับสภาพการณ์ของ รัฐหรือประเทศนั้นๆ ด้วย เหตุผลสำคัญคือ รัฐบาลของประเทศนั้นขัดแย้งกับแรงปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งนั่นก็คือ สิทธิมนุษยชนนั่นเอง โดยเหตุผลดังกล่าว การบุกอิรัค ยึดอาฟฆานิสถาน การถล่มลิเบีย และล่าสุดขณะนี้ คือ การเตรียมการ(รอตัดสินใจ) กำหนดเป้าหมายโจมตีเกาหลีเหนือจึงเกิดขึ้น ถัดมาจากช่วงสงครามเย็น โลกมุสลิม ถูกรัฐอเมริกันมองในเชิงของการขยายการใช้ระเบียบ รัฐมุสลิมกลายเป็นหน้าด่านของการปะทะเพื่อการขยายระเบียบในปัจจุบัน ขณะเดียวกันผลการจัดระเบียบยังสัมพันธ์กับกระบวนทัศน์ใหม่ที่เกิดขึ้น คือ อุดมการณ์ความเป็นปัจเจกในเรื่องความเชื่อด้านจิตวิญญาณ ลัทธิศาสนา, ความเชื่อด้านจิตวิญญาณ ลัทธิศาสนาที่ดำเนินการโดยรัฐหรือผูกพันกับรัฐย่อมได้รับผลกระทบจากการจัดหรือขยายระเบียบของสหรัฐอเมริกาด้วย ดังมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นใน รัฐพุทธศาสนาอย่างศรีลังกา และเมียนมา ระเบียบที่ใช้ในการนี้ก็คือ ระเบียบว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเชิง ความปรารถนาขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (เพราะมนุษย์มีสิทธิ์เชื่อและศรัทธาในสิ่งที่ตนเห็นดีเห็นงาม โดยคนอื่นไม่เดือดร้อนจากความเชื่อและความศรัทธานั้น) ซึ่งเข้ากับระเบียบว่าด้วยประชาธิปไตยเป็นอย่างดี แนวโน้มของจัดระเบียบส่วนหนึ่งที่รัฐอเมริกันกำลังขยายผล คือ การจัดระเบียบด้าน ความเชื่อ ความศรัทธา ลัทธิศาสนา รวมอยู่ในนั้นด้วย ในเชิงการจำกัดอำนาจรัฐหรือแยกอำนาจรัฐออกจาก การจัดการหรือการควบคุมความเชื่อ ความศรัทธาทางศาสนา จึงเท่ากับระเบียบในแง่นี้ ได้บ่มเพาะความเป็นมนุษยนิยมให้เพิ่มพูนมากขึ้น นั่นคือ “มนุษยชนสากล” รัฐที่ยังดำเนินการควบคุมความเชื่อศาสนาของประชาชน ย่อมขัดกับ new world order โดยตรง new world order เป็นระเบียบเสรี ไม่ได้ห้ามไม่ให้ผู้คน ไม่สามารถมีความเชื่อ ความศรัทธา ในลัทธิศาสนาใดๆ ได้ แต่ระเบียบดังกล่าวอ้างเหตุผลว่า การใช้ความเชื่อ ความศรัทธาที่ถูกนิยาม บังคับและยึดกุมโดยรัฐ ถือเป็นการละเมิดต่อความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ อาจสามารถนำไปสู่ความเกลียดชัง ความรุนแรง และ อาชญากรรมได้ หากรัฐไม่ปลดปล่อยพันธนาการความเชื่อ ความศรัทธา เหล่านี้ ให้เป็นเรื่องของปัจเจกล้วนๆ