ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล การมองประเทศไทยสู่ “อนาคตประเทศไทย” ที่เราคนไทยทุกคนอาจมองและอาจไม่มองเลยก็เป็นได้ เนื่องด้วยอาจไม่สำนึกถึงความที่เมืองไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต ด้วยความที่ไม่สำนึก เพราะมัวแต่มุ่งทำมาหากินเลี้ยงตัวเองวันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ แต่ถ้าผู้ใดมี “ความคิด-ความรู้” และเข้าใจถึง “ปัญหาของประเทศไทย” บ้างไม่มากก็น้อย หรืออาจจะมากบ้าง จะอาจเข้าใจถึง “ปัญหาที่หมักหมม” มาอย่างยาวนาน จนเกิดความห่วงใยว่าชาติบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ถ้า “ไม่มีการปฏิรูปกันในปัจจุบันและเดินหน้าพัฒนากันอย่างจริงจัง” เพื่อ “อนาคตประเทศไทย” โดยเฉพาะเพื่อให้ “ก้าวทันโลก!” บ้านเมืองเรานั้น “บอบช้ำ” มาอย่างยาวนาน ถ้าจะนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในรัชกาลที่ 7 ที่ทรงมอบอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเองเมื่อปีพ.ศ.2475 เป็นระยะเวลา 85 ปี โดยได้อ้างมาโดยตลอดว่ามี “การแก่งแย่งอำนาจ” กันมาโดยตลอด ซึ่งบิดเบือนอุดมการณ์ของหลักการประชาธิปไตยจากจุดเริ่มต้นอย่างแท้จริง ประชาชนนั้นความจริงเมื่อปีพ.ศ.2475 ต้องยอมรับว่า มิได้รู้เรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น หรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “ไม่รู้เรื่องการเมืองใดๆ เลย!” จึงไม่มีส่วนร่วมใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างใด จะยึดอำนาจอย่างใด ไม่มีสิทธิรับรู้ใดๆ ทั้งสิ้น นั่นคือ “จุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยแบบเผด็จการ!” การเปลี่ยนแปลงในยุคนั้น ต้องยอมรับว่าเป็น “การเปลี่ยนแปลงทั่วโลก” ที่กำลังจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สองช่วงค.ศ.1939 และจบลงเมื่อปีค.ศ.1945 ทั้งนี้ระบอบการเมืองการปกครองของโลก ยังคงผันผวนอย่างมาก โดยยังไม่มี “แก่นกลางทางการเมืองที่แน่นอน” เพราะฉะนั้นการเมืองการปกครองของไทย จึงยังไม่สามารถยึดโยงระบอบการเมืองใดได้ แต่ก็มีความพยายามที่จะให้เป็นประชาธิปไตยให้ได้ บังเอิญช่วงนั้นประมาณ 3-4 ปี “คณะราษฎร” ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้ถูกคณะทหารทำ “รัฐประหาร” ยึดอำนาจโดยตั้งรัฐบาล และมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีท่านแรก แต่อยู่เพียงระยะสั้น จากนั้นเป็นต้นมาก็ปกครองโดยคณะทหาร และมาปกครองโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมาก จนมาถึงยุคสมัยจอมพลถนอม กิติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญที่เรียกว่า “วันมหาวิปโยค” “14 ตุลาคม 26516 และ 6 ตุลาคม 2519” ที่ “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” สุดขีดด้วย นิสิตนักศึกษา และประชาชนจำนวนมากพอสมควรที่อาจเอื่อมระอากับ “เผด็จการ” ของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ที่อาจเหลิงแก่อำนาจตาม LORD ACTION เคยกล่าวไว้ว่า “ABSOLUTE POWER CORRUPTS ABSOLUTELY” ทั้งนี้ก็คงว่าไม่ได้ เนื่องด้วยอยู่ในอำนาจนานเกินไป! อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยพระบารมีของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยลเดช รัชกาลที่ 9 ที่ประคับประคองให้สถานการณ์บ้านเมืองที่ยุ่งเหยิงขณะนั้น ค่อยๆ กลับสู่สภาวะปกติ แล้วให้มีการเมืองการปกครองในรูปแบบ “ประชาธิปไตยแบบไทยไทย” ที่อาจเรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่มีอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมามีอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีต่อมา โดยพยายามปฏิรูปประเทศให้ยาวนานถึง 12 ปี แต่ก็ถูกยึดอำนาจโดยกองทัพ โดยพล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ และพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมา ปัญหาสำคัญของบ้านเมืองเรานั้น ต้องยอมรับว่า “กองทัพ” นั้น ถ้าจะกล่าวว่า “งมงาย” ก็อาจเป็นได้ว่า “ดวงเมือง” นั้นเป็น “ดวงทหาร” ที่ต้องปกครองประเทศ แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรง “ทศพิธราชธรรม” อย่างมาก ด้วยการตรวจเยี่ยมประชาชนอย่างต่อเนื่องทุกภูมิภาคทุกระดับชั้น จนประชาชน “รักในหลวง” จนสามารถเรียกว่า “ถ่วงดุลการเมือง (BALANCE OF POWER)” ในเชิงรัฐศาสตร์ โดยที่พระองค์ท่านมิได้ทรงตั้งใจแต่ประการใด แต่ด้วยความห่วงใยประชาชนอย่างแท้จริง เพราะ “ความยากจน” ของประชาชน และที่สำคัญพระองค์ท่านมิทรงอยากยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งนี้ “ระบบการศึกษา” ของคนไทยช่วงนั้นต้องยอมรับว่า “ยังมีไม่มากนัก” และ “กระจายไม่ทั่วถึง” หรือ “อาจเจริญแพร่ไม่ทั่วถึง” คน “อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้” ซึ่งมีจำนวนมาก ถึงแม้ปัจจุบันนี้ “ระบบการศึกษาไทย” ก็ยังคง “อ่อนแออยู่” แต่อาจดีขึ้นมามากพอสมควร เพียงแต่ระบบยังไม่สามารถทำให้ “คนไทยคิดได้” หรือยังไม่สามารถเรียกได้ว่า ทำให้คนไทยเป็น “ทรัพยากรมนุษย์” จนเป็น “ทุนมนุษย์ (HUMAN CAPITAL)” ได้ เพื่อก่อให้เกิด “ความสามารถในการแข่งขัน (COMPETIVENESS)” ที่เข้าแข่งขันกับ “เวทีโลก” ได้ ที่ปัจจุบันเป็น “ยุคของวิจัยและนวัตกรรม (RESEARCH AND INNIVATION)” การพัฒนามนุษย์นั้นต้องค่อยๆ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านวัตถุ กายภาพ และด้านจิตใจ คุณภาพชีวิต ที่อย่างน้อยต้องมีความสุขสบายขั้นพื้นฐาน และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยการสร้างความมีระเบียบวินัย ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ถามว่า “ยากหรือไม่” ตอบว่า “ยากมาก” เพราะทุกวันนี้ยังมีการฆ่ากัน ขายยาบ้า ยาเสพติด “การศึกษา-การสร้างระเบียบวินัย” ด้วย “การสร้างวัฒนธรรมที่ดี” ต้องเริ่มต้นด้วย “วัฒนธรรมขนาดใหญ่” ที่เริ่มด้วย “บ้าน-ชุมชน-โรงเรียน” และ “สื่อมวลชน” บวกกับ “ตำรวจ” ที่เป็น “ผู้รักษากฎหมาย-ผู้รักความยุติธรรม” ต้องเอาจริงเอาจังกับปกป้องสังคม มิใช่เป็น “ผู้ร้ายเสียเอง!” แต่ “ตำรวจดีก็มี” และที่สำคัญ “กฎหมายต้องเข้มข้น-จริงจัง!” “การสร้างจิตสำนึกที่ดี-จิตอาสาที่ดี” ต้องค่อยๆ ปลูกฝังสู่สังคมด้วยการสร้างสังคมให้สะอาดทั้งด้านจิตใจและความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางสังคม ที่ทุกคนในสังคมต้องไปพร้อมๆ กันเหมือนสิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่ง ฮ่องกงที่ถึงแม้ว่าจะไร้มารยาทบ้างแต่ยัง “เกรงกลัวกฎหมาย” “การเมือง” มีบทบาทสำคัญที่ต้องสร้างตัวอย่างที่ดีในการสร้างความเป็น “ธรรมาภิบาล” ให้เกิดแก่สังคม เพื่อประชาชนสามารถพึ่งพาได้อย่างน้อยร้อยละ 60-70 ไม่จำเป็นต้องร้อยละ 90 ถ้าเรามีนักการเมืองที่พึ่งพาได้ “กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์ทันที” ระบบการเมืองจึงสำคัญมากและประชาชนจะรักศักดิ์ศรี! พร้อมกันนี้ “เงินเดือน” ก็มีความสำคัญกับเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย ที่ประชาชนระดับล่างต้องสามารถอยู่ได้อย่างมีคุณภาพที่ดีพอหรือ “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยรัฐบาลก็พยายามเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะระดับล่างให้มีรายได้เพียงพอสำหรับเดินทางมีชีวิตที่สามารถอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีและปลอดภัย ถามว่า อีกกี่ปีจะปฏิรูปและพัฒนาประเทศได้...ก็ต้องยอมรับว่า “ผู้นำและผู้บริหารต้องจริงใจและจริงจังกับการบริหารประเทศ!”