เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ตูน บอดี้สแลมกำลังจะวิ่งจากเบตงถึงแม่สาย ระยะทาง 2,191 กิโลเมตร เพื่อระดมทุน 700 ล้านบาทให้โรงพยาบาล 11 แห่ง มีคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วย การออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งหลายเป็นความสำเร็จขั้นต้นที่สำคัญของนักร้องคนนี้แล้ว เพราะเป็น “วิภาษวิธี” ที่ก่อให้เกิด “ปัญญา” ในสังคม คนจำนวนมากเห็นว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการ “ตบหน้า” รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่ได้ดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างที่ควร ปล่อยให้ขาดแคลนงบประมาณ อุปกรณ์สำคัญเพื่อการบริการสุขภาพ ในขณะที่มีงบประมาณซื้ออาวุธและไปทำอย่างอื่นมากมาย มีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการวิ่งครั้งนี้ วิจารณ์แรงๆ ว่า “โง่” วิ่งให้ตายก็แก้ปัญหาไม่ได้ ดูจะเป็นการมองอย่างคับแคบ ลดทุกอย่างลงมาให้เหลือแค่ “งบประมาณ” ที่ควรขอจากรัฐบาลมากกว่ามาวิ่ง ลดปัญหาบ้านเมืองให้ลงมาเหลือเพียงการเมือง เรื่องนโยบาย เหมือนที่มีคนวิจารณ์คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตาเมื่อหลายสิบปีก่อนว่า แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่เห็นช่วยอะไรประเทศอินเดีย ดีแค่สร้างภาพ แน่จริงต้องไปบอกให้รัฐบาลบริหารประเทศให้ดีด้วยนโยบายที่แก้ปัญหาความยากจน ไม่ต้องให้คนจนนอนอดหิวและตายข้างถนนอย่างที่เห็นทุกเมือง คุณแม่เทเรซาตอบว่า ท่านแค่ต้องการให้คนที่กำลังจะตายรู้ว่า ยังมีคนที่รักเขาอยู่ และท่านก็ทำจนถึงวาระสุดท้าย ขยายจากกัลกัตตาไปยังเมืองอื่นๆ ประเทศอื่นๆ รวมทั้งที่กรุงโรม ศูนย์กลางศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก ที่มีซิสเตอร์คณะของท่านทำงานในสลัม ช่วยคนจน คนชายขอบ ผู้อพยพ คนที่ถูกทอดทิ้ง คุณแม่เทเรซาได้รับการยกย่องและแต่งตั้งให้เห็น “นักบุญ” ด้วยแบบอย่างอันยิ่งใหญ่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลก ทำให้เห็นว่า “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” ท่ามกลาง “อธรรม” อีกเป็นอันมากทั้งตัวบุคคลและระบบโครงสร้างที่รอการแก้ไขในอีกหลายๆ วิธี ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เมตตาธรรมกับความยุติธรรม เป็นสองหน้าของเหรียญเดียว ถ้ามองความเป็นจริงทั้งสองด้านก็จะเข้าใจคุณค่าและความหมายของสิ่งที่ตูน บอดี้สแลมทำ ที่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่ประการใด มีการวิ่งเพื่อการกุศลและวัตถุประสงค์เฉพาะต่างๆ มากมายในประเทศไทยและทั่วโลก ทั้งเดี่ยวและเป็นกลุ่ม เป็นพันเป็นหมื่นคนก็มี แต่ละครั้งก็มักจะมีผลกระทบไปถึง “นโยบาย” และ “จิตสำนึก” ด้วยเสมอ อย่างกรณีของตูน ก็ย่อมส่งผลให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขต้องทบทวนเรื่องการบริการสุขภาพอย่างจริงจัง และไม่ปล่อยให้คนมากระตุกขา “สั่งสอน” หรือ ”ตบหน้า” อีก และปลุกสำนึก “จิตอาสา” ให้สาธารณชน แม้แต่การวิ่งที่ไม่ได้บอกวัตถุประสงค์ ก็ทำให้คนคิดต่อ ตีความ และนำไปสร้างแรงบันดาลใจได้อีก อย่างการวิ่งของ “ฟอเรสท์ กัมพ์” ที่วิ่งข้ามสหรัฐอเมริกาไปกลับแบบ “ไม่มีจุดมุ่งหมาย” แต่สื่อมวลชนวิ่งตามเขาทุกวัน แพร่ภาพข่าวไปทั่วประเทศ ถามนายกัมพ์ว่า วิ่งทำไม เขาบอกว่า แค่อยากวิ่ง การไม่บอกอะไรเป็นการบอกหลายอย่างมากกว่าการบอกเสียอีก เปิดทางให้ผู้คนนำไปคิดเอาเอง สิ่งที่ “ปรากฎการณ์ตูน” ก่อให้เกิดในสังคมไทยมีหลายอย่าง เขาสร้างแบบอย่างของการเสียสละตนเพื่อการกุศลในแบบที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตไม่น้อย แต่เขาเป็น “ตัวเร่งปฏิกิริยา” (catalyst) ที่มีพลัง ศูนย์รวมใจและรวมเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ขาดแคลน เงิน 10 บาททำอะไรได้ไม่มาก แต่ถ้ารวมกันก็จะเกิดพลังมหาศาล และที่สำคัญกว่าเงิน คือ พลังจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของสังคม คือ ทุนทางสังคมที่เป็นอะไรและให้อะไรมากกว่าเงิน ทำให้คิดถึงพระอาจารย์ทอง หรือพระครูพิพัฒนโชติที่วัดอู่ตะเภา วัดดอน หาดใหญ่ ที่ก่อตั้ง “ธนาคารชีวิต” เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ชวนชาวบ้านออมเงินวันละบาท ท่านบอกว่า เงินบาทเดียวทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้ารวมกันมากๆ ก็ช่วยเหลือคนทุกข์คนยากได้ สนับสนุนโครงการพัฒนาชุมชนได้ ช่วยเด็กเยาวชนที่ขาดแคลนทุนการศึกษาได้ วันนี้มีสมาชิกพันกว่าคน มีเงินออมและดอกเบี้ยกว่า 10 ล้านบาท เมื่อน้ำท่วมหาดใหญ่และใกล้เคียงหลายปีก่อน สมาชิกธนาคารชีวิตได้รับผลกระทบถ้วนหน้า คณะกรรมการตัดสินใจนำเงินจากธนาคารชีวิตช่วยเหลือสมาชิกพันกว่าคนๆ ละ 500 บาท แม้เป็นเงินไม่มาก แต่เป็นกำลังใจยิ่งใหญ่ที่มาจากเงินบาทเดียว สิ่งที่ธนาคารชีวิตก่อเกิดไม่ใช่เพียงเงินออมวันละบาท (คนออมไม่ได้ดอกเบี้ย คนกู้เสียดอกเบี้ย) แต่ได้ทำให้ “ทุนทางสังคม” แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทุนที่เป็นความเอื้ออาทร ความเป็นพี่เป็นน้องที่ร้อยรัดผู้คนให้อยู่ร่วมกันเป็นชุมชนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ได้มีแค่เรื่องรายได้ กำไรขาดทุนหรือเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น มีคนจำนวนมาก มูลนิธิสมาคมองค์กรมากมายที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยไม่ได้ต้องการแย่งบทบาทหน้าที่ของรัฐบาล ของกระทรวงพัฒนาสังคมหรือกระทรวงไหน แต่เพราะ “จิตอาสา” ทำความดีที่ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนอื่นนอกจากช่วยคนให้ “พ้นทุกข์” ทุกข์ยิ่งใหญ่มากมายที่รัฐบาลไหนก็แก้ได้ไม่หมด คุณแม่เทเรซาและคุณตูนไม่ได้ระดมคนออกเดินขบวนประท้วงไปตามถนนเพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ดูแลคนจน คนเจ็บคนป่วย แต่ “กิจกรรม” ของทั้งสองน่าจะส่งเสียงดังกว่านั้นมากนัก และที่ “ดัง” มากกว่า และมีคุณค่ามากกว่า คือการทำให้ผู้คนรู้ว่า น่าจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือบ้านเมือง ที่ไม่ใช่เรื่องของ “รัฐบาล” ผู้เดียว อะไรที่เราทำได้เอง ทำได้ดีกว่าก็น่าจะลงมือทำ ไม่ใช่รอทุกอย่างจากรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำ “ประชานิยม” จนผู้คน “เสียผู้เสียคน” ไปมากแล้ว บริจาคเถิดครับ เพราะนี่เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่เราจะได้ร่วมมือกันช่วยเหลือสังคม ที่จะแสดงให้เห็นว่า เมตตาธรรมค้ำจุนโลกได้จริง “จุดเทียนขึ้นมาสักเล่มดีกว่านั่งด่าความมืด” (ภาษิตจีน)