เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit ทำไมการพบ 215 ร่างเด็กใต้บริเวณโรงเรียนประจำทางตะวันตกของแคนาดาจึงเป็นเรื่องใหญ่ ที่นายกรัฐมนตรีทรูโดบอกว่า “เป็นข่าวเศร้าที่ทำให้หัวใจสลาย เป็นประวัติศาสตร์ที่มืดมิดของแคนาดา” โรงเรียนประจำ Kamloops แห่งนี้เป็นหนึ่งใน 139 แห่งของรัฐและเอกชนที่ดำเนินการโดยศาสนจักรคาทอลิกเป็นส่วนใหญ่ โดยบาทหลวง แม่ชี และบุคลากรของรัฐ มีเด็กประจำตลอดเวลา 500 คน ภายใต้การดูแลของศาสนจักรคาทอลิกตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1890-1969 และรัฐบาลเข้ามาดูแลต่อถึงปี 1978 จึงปิด ระหว่างปี 1880-1990 เด็กจากชนเผ่าพื้นเมือง 150,000 คน ถูกแยกจากครอบครัวให้มาอยู่ที่โรงเรียนประจำเหล่านี้ เพื่อให้ปรับตัวเป็นคนมีวัฒนธรรมเหมือนคนขาว เป็นคนเจริญ ไม่ใช่ “คนป่าเถื่อน” เหมือนที่คนขาวมองคนพื้นเมืองที่มักถูกเรียกว่า “อินเดียนแดง” ซึ่งมีหลายเผ่าพันธุ์ เด็กๆ ถูกทำให้เป็นคริสต์ ห้ามพูดภาษาถิ่นเดิม จะถูกทำโทษรุนแรงถ้าหากทำผิด หรือพูดภาษาถิ่น คนที่รอดชีวิตได้ให้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ที่มีการสืบสวนโดยคณะกรรมการความจริงและการคืนดีของแคนาดา (Canada’s Truth and Reconciliation Commission) ว่ามีการทำทารุณกรรม การละเมิดทางเพศข่มขืนเด็กอย่างไร มีเด็กที่ตายเพราะการกระทำและภาวะขาดอาหาร 3,200 คน เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้กลับไปบ้านเกิด ไปหาครอบครัวของตนอีกเลย ถูกล้างสมองจนลืมรากเหง้าของตนเอง แต่แล้ววันหนึ่ง พวกเขาก็เกิด “สำนึก” ว่า แม้ตนเองจะมีการศึกษาดี มีงานทำ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แต่นึกไม่ออกว่าตนเองเป็นใคร มาจากไหน ไม่มีอัตลักษณ์ นี่คือข้อสรุปของหัวหน้าคณะกรรมการสืบสวนหาความจริงในเรื่องนี้ที่ประกาศในที่ประชุมร่วมกับรัฐบาลเมื่อปี 2008 ก่อนที่รัฐบาลแคนาดาจะขอโทษอย่างเป็นทางการ เขาบอกว่า “เด็กๆ 7 รุ่นควรได้รับความรักจากครอบครัวแต่ก็ถูกตัดโอกาสนั้นไป ไม่เหลือแม้แต่การเคารพตนเองและอัตลักษณ์ของพวกเขา รัฐบาลแคนาดาและศาสนจักรได้ลบวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของประชาชนที่ยิ่งใหญ่และที่ภูมิใจในตัวเองออกจากโลกนี้” แล้วผู้นำก็ประกาศว่า “นี่คือการฆ่าล้างทางวัฒนธรรม” (cultural genocide) เป็นการยืนยันผลการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่พบว่า “คนไม่มีอดีตเป็นคนไม่มีอนาคต คนไม่รู้ที่มาก็ไม่รู้ที่ไป คนไม่มีรากเหง้าจะถูกเขาครอบงำ และกำหนดอนาคตให้หมดเลย” (Franz Boas) ได้มีความพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลแคนาดาสืบสวน สอบสวนเรื่องนี้มานาน ที่สุดในปี 2008 รัฐบาลก็ยอมรับ (ส่วนหนึ่ง) และทำการขอโทษอย่างเป็นทางการ และได้ทำการชดเชยความเสียหายเป็นเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท แลกกับการไม่ถูกฟ้อง แต่เมื่อผลออกมาไม่เป็นที่พอใจของคนฟื้นเมืองที่เสียหาย ก็เกิดมีการฟ้องร้องอีก เพื่อให้รัฐบาลยอมรับข้อมูล และให้ชดเชยมากกว่าที่ได้ทำ การค้นพบ 215 ศพ (อายุน้อยสุด 3 ขวบ) ที่โรงเรียนประจำใหญ่ที่สุดแห่งนี้อาศัยเรดาร์ คนพื้นเมืองบอกว่า ตอนนี้คงเห็นแล้วว่า ที่พวกเขารายงานถึงความโหดเหี้ยมของโรงเรียนประจำแห่งนี้และที่อื่นๆ นั้นความจริงคืออะไร เพราะเด็กเหล่านี้ไม่มีชื่อในบัญชี “ผู้ตาย” กลับหายไปจากสารบบแบบไม่รู้สาเหตุ คนที่รอดชีวิตได้เล่ารายละเอียดที่ถูกเปิดเผยหลายสิบปีที่ผ่านมา ถึงชีวิตความเป็นอยู่ การถูกลงโทษแบบไร้มนุษยธรรม ที่หลายอย่างไม่อาจนำมาเผยแพร่ได้เพราะน่าขยะแขยงและรุนแรงเกินไป โดยเฉพาะการข่มขืนเด็ก การลงโทษทุบตี การให้นั่งเก้าอี้ไฟฟ้า และอื่นๆ นี่คือตัวอย่างเดียวของ “นโยบายอาณานิคม” (colonial policy) ที่บรรดานักล่าอาณานิคม ผู้มีความเชื่อในความสูงส่งกว่าทางวัฒนธรรมทำกับผู้อื่น โดยเฉพาะ “เจ้าของที่เดิม” ไม่ว่าที่แคนาดา สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก ออสเตรเลีย ที่มีขบวนการคล้ายกับที่แคนาดา และหลายประเทศก็ได้ “ขอโทษ” คนพื้นเมืองอย่างเป็นทางการ ก่อนหน้านั้น บรรดาเจ้าอาณานิคมก็ใช้อำนาจกวาดล้างเจ้าของพื้นที่เดิมด้วยวิธีการต่างๆ ที่อเมริกาเหนือ กลางและใต้ ที่แอฟริกา เอเชีย ทุกแห่งที่นักล่าเมืองขึ้นเหล่านี้ก็จะทำแบบเดียวกัน ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ก็กลืนวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยวิธีการต่างๆ ลัทธิอาณานิคมใหม่ (neo-colonialism) และ จักรวรรดินิยมใหม่ (neo-imperialism) ก็ทำแบบเดียวกันแต่รูปแบบต่างกับในอดีต ครอบงำได้แนบเนียนกว่า อำนาจเหล่านี้มีในระดับโลกและระดับชาติ ที่พยายามครอบงำทางวัฒนธรรม อย่างอเมริกาที่พยายามทำให้โลกนี้เป็น “อเมริกัน” บอกว่านั่นคือ “ความทันสมัย” “สากล” ผ่านทางหนังฮอลลีวูด วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิถีชีวิต ค่านิยม ในประเทศต่างๆ อย่างบ้านเราก็มีการครอบงำด้วย “อำนาจนำ” (hegemony) ที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองเศรษฐกิจสังคมทำให้เกิดค่านิยมที่ผู้คนยอมรับโดยไม่โต้แย้งหรือต่อต้าน ทำให้เกิด “ชาตินิยม” ให้ลืมวัฒนธรรมท้องถิ่น ลืมรากเหง้า ภูมิปัญญา เรียนรู้แต่ประวัติศาสตร์ชาติ แต่ไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและชุมชน เมื่อ 30 กว่าปีก่อน อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบรีติช โคลอมเบียได้สั่งซื้อหนังสือ Back to the Roots ของผม ทุกปี เมื่อหมดก็ทำจดหมายมาขออนุญาตถ่ายเอกสารบางบทความ บอกว่าเพื่อประกอบการเรียนของนักศึกษาที่จะไปทำงานกับคนพื้นเมือง ตอนที่เขียนไม่ได้คิดถึง “อินเดียนแดง” แต่คิดถึงพี่น้องชาวบ้านคนไทยที่ลืมรากเหง้าเพราะถูกครอบงำจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน ถูกทำให้เชื่อว่า “โง่จนเจ็บ” ทั้งๆ ที่มีศักยภาพที่ถูกกดทับไว้ไม่ให้พัฒนา ถ้าค้นหารากเหง้า ก็จะพบอัตลักษณ์ อันเป็นบ่อเกิดแห่งพลังอำนาจ เสรีภาพและการพึ่งตนเอง