ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล วันนี้เป็น “วันปิยมหาราช” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 หรือ “พระพุทธเจ้าหลวง” ที่เสด็จสวรรคตเมื่อปีพ.ศ 2453 ที่ทำให้พสกนิกรชาวไทยร่ำไห้หาที่สุดมิได้ท่วมท้นล้นแผ่นดิน เสมือนเดียวกับ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9” ที่ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อปีพ.ศ.2559 ที่อาการคนไทยน้ำตานองหน้าคล้ายคลึงไม่มีผิด คนไทยเรานั้นผูกพันกับ “สถาบันพระมหากษัตริย์” มาโดยตลอด ยิ่งพระมหากษัตริย์พระองค์ใดที่ใกล้ชิดกับประชาชน ทรงเยี่ยมเยียนประชาราษฎร์โดยตลอด พร้อมทั้งช่วยเหลืออาณาประชาราษฎร์ ประชาชนยิ่งรักมากเท่านั้น เนื่องด้วยประชาชนจะได้รับ “การตอบสนอง” อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริที่คอยช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรทุกหย่อมหญ้าแทบทุกรัชกาล โดยเฉพาะรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 9 รัชกาลที่ 5 “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9” ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในโครงการต่างๆ คล้ายคลึงกันมาก ไม่ว่า “โครงการประพาสตรวจเยี่ยมพสกนิกรของท่าน” ตลอดจน “ประพาสภายในประเทศ” และ “โครงการตรวจเยี่ยมอาณาประชาราษฎร์” ที่ทรงความเจริญรุ่งเรืองสู่ประเทศชาติ โดยเฉพาะในรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ทรงนำประเทศชาติพ้นภัยจากการล่าอาณานิคมจากประเทศตะวันตก อังกฤษกับฝรั่งเศส หรือแม้แต่กระทั้งประเทศโปรตุเกสด้วย “พิธีทางการทูต” โดยไม่ยอมเสียเลือดเนื้อมากมายแต่ประการใด แต่ยอมเสียดินแดนบ้างเพื่อรักษาดินแดนผืนใหญ่ของประเทศชาติไว้ จนมีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่ “รักษาเอกราช” เอาไว้ได้ นำความภาคภูมิใจสู่คนไทยจนถึงปัจจุบัน ส่วน “พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9” ใน “วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560” ที่จะถึงนี้ พสกนิกรของพระองค์ท่านต่างยังอาลัยอาวรณ์กับการที่พระองค์ท่านเสด็จสวรรคต พร้อมทั้งยังจะต้องมีการถวายพระเพลิงพระองค์ท่าน ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาคนไทยทุกคนทั่วทุกสารทิศยังคงเดินทางมากราบพระบรมศพ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังทุกวัน จนกระทั่งได้มีการปิดการเข้ากราบถวายพระบรมศพ แต่ประชาชนยังคงนำพวงมาลัยมากราบถวายแด่พระบรมพระฉายาลักษณ์หน้าวัดพระศรีรัตรศาสดาราม หรือวัดพระแก้วตลอด 24 ชั่วโมง นำความปลาบปลื้มและอาลัยแก่คนไทยทั้งพ้องที่ต้องกล่าวอย่างภาษาชาวบ้านว่า “รักพ่อหลวงมาก!” แนวพระราชดำริของพระองค์ท่านรัชกาลที่ 9 ที่พอจะนำมาอธิบายและนำมาปฏิบัติที่มิใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังนำไปใช้ทั่วทั้งโลก สามารถนำมากล่าวได้ในบทความนี้ “ทฤษฎีใหม่” หรือ “เกษตรทฤษฎีใหม่” เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการจัดพื้นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและมีชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ ได้แก่ พื้นที่น้ำ พื้นที่ดินเพื่อเป็นที่นาปลูกข้าว พื้นที่ดินสำหรับปลูกพืชไร่นานาพันธุ์ และที่สำหรับอยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ เป็นหลักการในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการบริหารและจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็กออกเป็นสัดส่วน เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร ซึ่งไม่เคยมีใครคิดมาก่อน นำปริมาณน้ำที่จะกักเก็บให้พอเพียงต่อการเพาะปลูกได้ตลอดปี “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ได้รับการเชิดชูจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน โดยมีนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นอันพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด...” “โครงการฝนหลวง” เป็นโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อกระตุ้นกลไกของกระบวนการกลั่นตัวไอน้ำในมวลอากาศ (เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเมฆด้วย) ทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย เมื่อเมฆเริ่มก่อตัวและเจริญเติบโตทางตั้งแล้ว จึงใช้สารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคายความร้อนโปรยเป็นวงกลมหรือเป็นแนวถัดมาทางใต้ลมเป็นระยะทางสั้นๆ เข้าสู่ก้อนเมฆเพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มแกนร่วมในบริเวณปฏิบัติการ สำหรับใช้เป็นศูนย์กลางที่จะสร้างกลุ่มเมฆฝนในขั้นตอนต่อไปโดย “การเลี้ยงให้อ้วน” เป็นขั้นตอนที่เมฆกำลังก่อตัวเจริญเติบโตซึ่งเป็นระยะสำคัญมากในการปฏิบัติการ ต้องใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์การทำฝน เพื่อตัดสินใจโปรยสารเคมีของกลุ่มก้อนเมฆ และในอัตราใดจึงเหมาะสมและ “โจมตี” เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกรรมวิธีปฏิบัติการฝนหลวง “เมฆ” หรือ “กลุ่มเมฆฝน” มีความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้ ภายในกลุ่มเมฆจะมีเม็ดน้ำขนาดใหญ่มากมาย หากเครื่องบินเข้าไปในกลุ่มเมฆฝนนี้จะมีเม็ดน้ำเกาะตามปีกและกระจังหน้าของเครื่องบิน เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ต้องอาศัยประสบการณ์มาก เพราะจะต้องปฏิบัติการเพื่อลดความรุนแรง สำหรับการปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ จะต้องพิจารณาจุดมุ่งหมายของการทำฝนหลวง ซึ่งมีอยู่ 2 ประเด็นคือเพื่อเพิ่มปริมาณฝนตก และเพื่อให้เกิดการกระจายการตกของฝน จึงทำให้เกิดฝนขึ้น “คลอดลัดโพธิ์” เป็นชื่อคลองเดิม อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เดิมมีลักษณะตื้นเขิน ต่อมาได้จัดสร้างเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ เป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ โดยยึดหลักการ “เบี่ยงน้ำ” ภายใต้การดูแลของหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงานคือ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหลักการคือ จากสภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่มีลักษณะไหลวนคดเคี้ยวบริเวณรอบพื้นที่บริเวณบางกระเจ้านั้นมีความยาวถึง 18 กิโลเมตร นั้นทำให้การระบายน้ำที่ท่วมพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นไปได้ช้า ไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน รัชกาลที่ 9 จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาใช้คลองลัดโพธิ์ ซึ่งเดิมมีความตื้นเขินมีความยาวราว 600 เมตร ให้ใช้ระบายน้ำที่หลากและน้ำที่ท่วมทางสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลทันทีในช่วงก่อนที่น้ำทะเลหนุน และปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งถึง 18 กิโลเมตรก่อนซึ่งใช้เวลามากจนถึงเวลาน้ำลง ทำให้ไม่สามารถขึ้นไปท่วมตัวเมืองได้…จริงๆ แล้วยังมีโครงการอีกเยอะมากครับ!