ทวี สุรฤทธิกุล เมื่อไหร่นักการเมือง “พันธุ์กร่าง - พันธุ์เก่า” จะหมดไป และนักการเมือง “พันธุ์ใหม่ - พันธุ์เก่ง” จะได้เกิดบ้าง นักรัฐศาสตร์มีความเชื่ออยู่ว่า ธรรรมชาติของการเมืองคือการปรับเปลี่ยนในตัวของระบบการเมืองไปสู่สภาวะที่เหมาะสม ที่จะให้ระบบการเมืองนั้นสร้างประโยชน์สุขให้แก่แต่ละสังคมการเมือง ทำให้ผู้คนในสังคมการเมืองเกิดความพอใจ และดำรงชีวิตอยู่อย่างสงบสุขและสร้างสรรค์ ดังจะเห็นได้จากนักคิดทางการเมืองการปกครองต่างก็พยายามที่จะนำเสนอแนวคิดต่าง ๆ เพื่อที่จะนำสังคมไปสู่เป้าหมายเหล่านั้น ด้วยแนวคิดที่หลากหลาย ที่เราเรียกว่า ลัทธิการเมืองบ้าง อุดมการณ์ทางการเมืองบ้าง ที่มีขึ้นอย่างหลากหลายด้วยแนวคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งก็เป็นเนื่องจากสภาพสังคมแต่ละแห่งนั้นมีความแตกต่างกันนั่นเอง ตัวจักรที่สำคัญที่สุดของการขับเคลื่อนสังคมการเมืองก็คือ “ผู้นำ” ซึ่งก็คือผู้ปกครองประเทศ ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีประชาชนเป็นผู้สนับสนุนและโอบอุ้ม อย่างในกรณีของประเทศไทยตัวจักรนี้ก็คือ “ทหาร” ซึ่งเป็นผู้นำในทางการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน ภายใต้ภาวะที่ประชาชนก็ให้การยอมรับและยอมอยู่ใต้การปกครองของทหารนี้มาโดยตลอด แม้ว่าจะมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่ชอบการปกครองโดยทหารแบบนี้ แต่ก็อยู่ในฐานะของเสียงข้างน้อย เพราะพอทหารยอมให้มีการเลือกตั้งในทุกครั้ง ฝ่ายที่สนับสนุนทหารก็เป็นฝ่ายได้จัดตั้งรัฐบาล และการเมืองของไทยก็ยังเวียนว่ายอยู่ในวังวนของ “วงจรอุบาทว์” นี้เรื่อยมา น่าเสียดายที่ทหารเมื่อยึดอำนาจทางการเมืองแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะทำให้การเมืองไทยดีขึ้นได้ ทั้งที่ในทุกครั้งที่ยึดอำนาจนั้นก็บอกว่า ต้องการทำให้การเมืองไทยดีขึ้น โดยเฉพาะการกำจัดนักการเมืองชั่ว ๆ หรือพฤติกรรมเลว ๆ ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างที่การรัฐประหาร 2 ครั้งหลังใน พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557 ผู้นำคณะรัฐประหารก็ประกาศว่า “ไม่มีอีกแล้ว” ของการเมืองแย่ ๆ เช่นในอดีต แต่ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 พวกนักการเมืองในระบอบสามานย์ก็คือสู่อำนาจได้ดังเดิม จนทหารคณะนั้นได้ชื่อว่า “ปัสสาวะไม่สุด” เพราะไม่ได้จัดการถอนรากถอนโคนนักการเมืองกลุ่มนั้นให้หมดสิ้นไปเสียก่อน แต่คณะรัฐประหาร 2557 ทำได้แย่กว่านั้น เพราะไม่ได้รักษาคำสัญญาที่ว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” ในการจัดการกับนักการเมืองเลว ๆ โดยการเอานักการเมืองเลว ๆ เหล่านั้นมาสนับสนุนให้ผู้นำทหารมีอำนาจสืบต่อ ทั้งยังปล่อยให้นักการเมืองในพันธุ์แบบนี้ออกมา “คำราม” สร้างความขยะแขยงให้กับผู้คนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับ “นักการเมืองพันธุ์ใหม่” ที่พอจะเติบโตขึ้นมาในระบบการเมือง ก็มักจะถูกนักการเมืองพันธุ์เก่า “กลืนกิน” หรือทำให้กลายพันธุ์ไปได้เสมอ และเป็นการกลายพันธุ์ที่กลายไปเป็นเหมือนกับพวกนักการเมืองเก่า ๆ นั่นเอง ดังนั้นปัญหาใหญ่จึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเราไม่มีนักการเมืองดี ๆ พันธุ์ใหม่ ๆ แต่เป็นปัญหาว่าเราจะทำให้นักการเมืองพันธุ์ใหม่เหล่านั้นไม่กลายพันธุ์ และดำรงอยู่ในความดีงามที่บริสุทธิ์ผุดผ่องนั้นได้อย่างไร ซึ่งภาษาสมัยใหม่เรียกว่า “ที่ยืน” ที่อาจจะแปลได้ว่า “พื้นที่ในการแสดงบทบาททางการเมือง” ของนักการเมืองพันธุ์ใหม่เหล่านั้นนั่นเอง ขอยกกรณีของนักการเมืองรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ไปยืนอยู่ใน “ที่ยืน” ที่ผิดพลาด เรื่องแรกก็คือ การไปเลือกที่ยืนในท่ามกลางความขัดแย้ง คือไปเลือกยืนในที่ที่คู่ขัดแย้งเขากำลังรบรากันอยู่ คือทหารกำลังรบกับคนที่ต่อต้านทหาร นักการเมืองคนรุ่นใหม่ในพรรคการเมืองก็ไปยืนในจุดที่ต่อต้านทหาร จนทำให้ถูกจัดเข้าไปในกลุ่มของคนที่ต่อต้านสถาบัน อันเป็นชนักปักหลังกลุ่มนักการเมืองคนรุ่นใหม่นี้มาจนถึงปัจจุบัน อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การไปเลือกยืนอยู่ในกระแสการเมืองเก่า คือการโจมตีโต้ตอบกันแบบ “ปากตลาด” หรือ “น้ำเน่า” ทั้งที่ผู้คนจำนวนมากก็คาดหวังว่านักการเมืองรุ่นใหม่นี้น่าจะมีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ดีกว่านักการเมืองแบบเดิม ๆ แต่กลายเป็นว่า นักการเมืองรุ่นใหม่ที่พยายามเอาชนะนักการเมืองรุ่นเก่า แต่ก็เป็นแบบ “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง” คือไม่ได้มีอะไรที่ดีขึ้นจากเดิมแต่อย่างใดเลย ที่เขียนบทความนี้ก็ด้วยผู้เขียนมีความคาดหวังว่า ถ้ามีการเลือกตั้งในครั้งต่อไปนี้ จะโดยเป็นไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเก่าหรือฉบับใหม่ก็ตามที(เพราะผู้เขียนเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่ประสบความสำเร็จ) คนรุ่นใหม่น่าจะอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบเหนือกว่านักการเมืองรุ่นเก่า และน่าจะชนะการเลือกตั้งเข้ามาได้มากพอสมควร บางทีอาจจะมากเพียงพอจนสามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยให้ดีขึ้นในเวลาข้างหน้านี้ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องปรับเปลี่ยน “ที่ยืน” หรือวิธีในการแสดงออกเสียใหม่ สำหรับคนที่อยากลงเลือกตั้งในครั้งหน้า สิ่งแรกที่ท่านจะต้องทำก็คือ “การวิเคราะห์คนไทยและสังคมไทย” โดยจะต้องมองให้กว้างออกไปในระดับกว้างทั่วทั้งประเทศ (แต่เดิมที่หลายคนยังมองอยู่แค่ในเขตเลือกตั้งของตัวเอง) เพื่อให้เห็นว่าคนไทยต้องการอะไร สิ่งแรกที่ได้บทเรียนมาแล้วในการเลือกตั้งครั้งก่อนก็คือ คนไทยไม่ชอบความขัดแย้ง จึงจะต้องไม่แสดงบทบาทหรือหาเสียงด้วยการนำเสนอความขัดแย้งนั้นออกมา แต่อาจจะนำเสนอความขัดแย้งในทางสร้างสรรค์ เช่น การสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ และการควบคุมทางจริยธรรมของนักการเมืองให้เด็ดขาดจริงจัง เป็นต้น อีกสิ่งหนึ่งก็คือ คนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่นั้น พวกเขาเป็นกังวลในอนาคตของพวกเขา (ดังที่เขาเกลียดทหารเพราะเขาไม่เชื่อว่าทหารจะพาประเทศนี้ไปรอดและสร้างอนาคตที่ดีให้แก่พวกเขาได้) ดังนั้นนักการเมืองรุ่นใหม่จึงจะต้องนำเสนอนโยบายที่ตรงใจกับผู้เลือกตั้งคนรุ่นใหม่เหล่านี้ด้วย (เช่น เมื่อรู้ว่าเขาไม่ชอบทหาร ก็ทำกิจกรรมระดมความเห็นที่อาจจะใช้โซเลียลมีเดียนี้ ช่วยกันคิดค้นหนทางที่จะกีดกันทหารออกไปเสียจากระบบการเมือง อย่างนี้เป็นต้น) แต่ก็อย่าไปลบหลู่หรือขัดแย้งกับคนรุ่นเก่าที่ยังเป็นพวกเสียงข้างมาก เพราะพวกคน “เก่า ๆ แก่ ๆ” นี่แหละที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ชนะเลือกตั้ง แต่ที่สำคัญจะทำให้สังคมไทยมีความร่มเย็น เพราะคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นรุ่นใด ๆ ได้อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุขภายใต้การบริหารประเทศของคนรุ่นใหม่นั้น สังคมไทยเก่งอยู่แล้วเรื่องเอาใจคนแก่ ทำได้อย่างนี้สังคมไทยก็จะมีความสุขไปชั่วลูกชั่วหลาน