เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI Universal Basic Income) เป็นแนวคิดที่กำลังมาแรงทั่วโลกวันนี้ อาจเรียกชื่ออื่น แต่โดยรวมแล้วหมายถึงการให้เงินฟรีๆ แก่ประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไข รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) แตกต่างจากสวัสดิการที่รัฐให้ เพราะเป็นการให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ยุ่งยาก ให้ทุกเดือน เช่น ประเทศไทยอาจจะโอนเงินเข้าบัญชีของคนไทยทุกคนทุกเดือน 5,000 บาท UBI ไม่ใช่เรื่องใหม่ พูดกันมาห้าร้อยปีตั้งแต่โทมัส โมร์ (ยูโธเปีย) มาจนถึงริชาร์ด นิกสัน ที่สหรัฐฯเกือบผ่านกฎหมาย UBI ในปี 1971 ที่ผ่านสภาล่างและไปตกที่สภาบน กฎหมายที่ต้องการ “แจกเงิน” คนอเมริกันเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ UBI สนใจกันวันนี้เพราะอนาคตคนจะตกงาน งานทุกระดับกำลังถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ จนนักอนาคตวิทยาบางคนทำนายว่า 8 ปีข้างหน้า (2030) จะมีคนตกงาน 2,000 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของแรงงาน ขณะเดียวกัน โปรแกรมสวัสดิการต่างๆ ของรัฐก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้ คนรวยก็รวยขึ้น คนจนก็จนลง ความเหลื่อมล้ำถ่างออกไปทุกที ไม่ว่าประเทศรวยหรือจน ที่สำคัญ มีงานวิจัยทดลองนำร่องในหลายประเทศ ที่แคนาดา ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สกอตแลนด์ ฝรั่งเศส อินเดีย นามีเบีย ยูกันดา เคนยา บราซิล และอีกหลายประเทศ เป็นการทดลองประชากรเป้าหมาย 1,000-8,000 คน ระยะเวลาสองสามปีถึงสิบปี มีคำถามว่าจะเอางบประมาณมาจากไหน ถ้าหากคำนวณให้ดี ก็จะพบว่าไม่ได้แพงเกินกว่าจะหางบได้ เป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้ม เพราะลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ปัญหาสังคม อาชญากรรม ทำให้คนมีการศึกษาดีขึ้น มีงานใหม่ๆ เกิดขึ้น คนมีอิสรภาพมากขึ้น ที่สหรัฐอเมริกา นายแอนดรู ยัง ที่เคยลงสมัครประธานาธิบดีปีก่อน เสนอให้รัฐบาลแจกเงินประชาชนเดือนละ 1,000 เหรียญ ในแนวคิดเรื่อง “ปันผลเสรีภาพ” (Freedom Dividend) เรื่องเดียวกับ UBI เขาบอกว่า ถ้าเก็บภาษีอินเตอร์เน็ต จากแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ร่ำรวยมหาศาล เหมือนที่เก็บจากน้ำมัน รัฐบาลสหรัฐฯจะมีเงินมากพอเพื่อแจกประชาชน UBI ไม่ใช่สวัสดิการแบบสังคมสงเคราะห์ แต่เป็นการให้เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ควรจะได้รับส่วนแบ่งอย่างยุติธรรมในมรดกที่บรรพบุรุษได้ทำไว้และส่งต่อมาให้เรา ระบบปัจจุบันทำให้คนรวยได้รางวัล คนจนถูกลงโทษ ซึ่งเป็นความอยุติธรรมทางสังคม ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนเลวลง สาเหตุที่คนจนไม่ใช่เพราะขี้เกียจ แต่เพราะไม่มีเงิน ไม่มีโอกาสได้พัฒนาตนให้มีผลิตผล (productive) และหลุดพ้นจากความจน มีการวิจัยที่อินเดียโดยการสนับสนุนด้านการเงินจากยูนิเซฟ เมื่อปี 2011 โดยให้เงินเพียงไม่กี่ร้อยบาทต่อคนต่อเดือน หลังจาก 18 เดือนมีการประเมินผลเบื้องต้นพบเรื่องดีๆ มากมายที่แย้งกับการวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าเป็นการเสียของและทำให้คนทำงานน้อยลง ทำให้คนขี้เกียจ หลายคนนำเงินไปซ่อมบ้าน ห้องน้ำ ผนัง หลังคา มีมุ้งป้องกันมาลาเรีย โภชนาการดีขึ้น วัดได้จากน้ำหนักเด็กเฉลี่ยตามวัยสูงขึ้น ชาวบ้านไปซื้อข้าวของจากตลาด ได้ผักผลไม้สดอาหารมารับประทาน ไม่ใช่ไปรับแจกจากโกดังอาหารคนจนด้วยอาหารที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ ดีบ้างเน่าบ้าง สุขภาพดีขึ้นดูได้จากการไปโรงเรียนของเด็ก พ่อแม่มีเงินให้ลูกนั่งรถไปโรงเรียน มีเสื้อผ้ารองเท้าใส่ การแจกเงินคนจนทำให้พวกเขามีอำนาจต่อรองมากขึ้น ริเริ่มกิจการเล็กๆ ร้านเล็กๆ งานซ่อมแซมข้าวของเครื่องใช้ คนทำงานมากขึ้น มีงานที่คิดเองลงมือเองมากขึ้น ลดการออกไปรับจ้างนอกหมู่บ้าน ลดหนี้สิน หนี้นอกระบบที่จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน โครงการนี้ทำให้ข้าราชการไม่พอใจ คนที่ทำงานโครงการสวัสดิการของรัฐ บัตรคนจน อาหารคนจน และอื่นๆ เป็นร้อยเป็นพันโครงการเพื่อ “สงเคราะห์” คนจน 350 ล้านคน หรือร้อยะ 30 ของประชากร ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอะไร แม้ว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตสูงมาก แล้วยังเป็นโอกาสให้เกิดฉ้อฉล ข้าราชการกลัวว่า ถ้าโครงการนี้เกิด หน่วยงานสงเคราะห์ต่างๆ จะถูกยุบ โอกาสคอร์รัปชันก็ไม่มีอีก ศาสตราจารย์กาย สแตนดิง ผู้ก่อตั้งเครือข่าย UBI ทั่วโลก ผู้วิจัยสรุปว่า การทดลองที่อินเดียและหลายประเทศในเบื้องต้นสรุปได้ว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าลดความยากจนได้จริงและน่าจะมีผลที่ยั่งยืนกว่าโครงการสวัสดิการต่างๆ ที่ทำมาหลายสิบปีทั่วโลก แต่คนจนกลับจนลง ความเหลื่อมล้ำกลับมากขึ้น เพราะแทนที่จะแก้ปัญหากลับ “เลี้ยงไข้” ให้ยืนยาว เกิดความยากจนซ้ำซากถาวร โครงการนี้จะแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน เพราะเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ไม่ใช่เครื่องมือเพื่อการสงเคราะห์คนจน แต่มองว่าเป็นสิทธิที่คนจนจะได้รับเพราะเป็นสมาชิกของสังคม และควรได้รับส่วนแบ่งจากทรัพยากรในขั้นพื้นฐานเพื่อดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี วันนี้คนงานทั่วโลกกว่าครึ่งทำงานที่ตนเองไม่ชอบ แต่ต้องทำเพราะไม่มีทางเลือก ยิ่งมีโควิดระบาด ปัญหาความเครียดก็มากขึ้น จนคนอเมริกันจำนวนมากลาออกจากงาน ถ้าหากมี UBI คนจะมีทางเลือก จะสามารถพัฒนางานใหม่ๆ งานที่ตนเองทำแล้วมีความสบายใจมากกว่า วันนี้มีข้อสรุปบทเรียนจากโควิดแล้วว่า ถ้ามี UBI จะเป็นข่ายความปลอดภัยลดผลกระทบอย่างที่เกิดขึ้น หลายประเทศจึงวางแผนนำ UBI เข้าสู่ระบบ เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดโรคระบาดและภัยพิบัติร้ายแรงอีกเมื่อไร แม่ที่ต้องออกจากงานมาเลี้ยงลูกเล็ก เลี้ยงพ่อแม่ปู่ย่าตายายวัยชราก็จะมีรายได้พื้นฐาน เพราะเป็นงานที่ให้ผลเป็นความสุขของคนในครอบครัว ไม่ใช่ผลทางเศรษฐกิจโดยตรง ผู้สูงอายุก็มีรายได้ ไม่ต้องไปเก็บขวดขาย มีบั้นปลายชีวิตที่มีคุณภาพ นี่คือคุณค่าของความเป็นคน