ชัยวัฒน์ สุรวิชัย หมอไพร คุณควรครอง จันดาวงศ์ ได้เขียนเล่าถึงชีวิตครอบครัวของครูครอง จันดาวงศ์ นักปฏิวัติไทยต่อว่า เมื่อฉันมีโอกาสกลับสู่อ้อมอกมาตุภูมิอีกครั้ง ได้พยายามสร้างความพร้อมทุกอย่างเพื่อต้อนรับการกลับมาของแม่ ในที่สุดเราก็มีบ้านให้แม่อยู่ มีข้าวให้แม่กิน มีเงินค่ารักษาพยาบาลยามแม่เจ็บป่วย แม้ไม่หรูหราฟุ่มเฟือย แต่ไม่ถึงกับขัดสน แม่ก็ใช้ชีวิตอยู่กับลูกหลาน ไปอยู่กับลูกคนโน้นที คนนี้ที แม้แม่สุขภาพไม่ดี แต่ก็ช่วยลูกหลาน ทำมาหากินไม่ยอมอยู่นิ่ง พยายามไม่เป็นภาระให้ลูกหลาน ทำอาหารอร่อยๆ ให้ลูกหลานกิน ช่วงนี้เป็นช่วงที่อยู่เงียบๆ ยังไม่ได้ไปมาหาสู่ใคร แต่มีชีวิตอยู่เช่นนี้ได้ไม่เกินกี่ปี แม่ก็ต้องสะเทือนใจอีกครั้งเพราะพี่วิทิต จันดาวงศ์ ติดร่างแหคดีฉกรรจ์ แม่ก็ได้แต่นิ่งยอมรับชะตากรรมที่ผู้มีอำนาจหยิบยื่นให้ แต่แม่ก็เบาใจที่เห็นเราสามพี่น้องรักกัน ไม่ทอดทิ้งกัน พี่ธำรงเล่าให้แม่และฉันฟังเสมอว่า เราไม่มีเงินจ้างทนาย แต่มีทนายคนหนึ่งช่วยเหลือเราอย่างเต็มใจ ไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใดๆ บางครั้งยังต้องควักกระเป๋าตัวเองอีก ขอขอบคุณอย่างสุดซึ้ง สำหรับ คุณธานี รุจินาม ทนายความผู้เอื้ออาทร (เป็นปัญญาชนปฏิวัติเข้าป่าปี 2519) (ซึ่ง สหายสุข ชมจันทร์ ได้ทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ )หวังไว้ว่าคงมีสักวันที่จะได้ตอบแทนน้ำใจอันงดงามนี้บ้าง หลังต้องคดีนี้แล้ว ครอบครัวของพวกเราก็เจอวิกฤตเศรษฐกิจแม่ก็ได้แต่ปลอบใจสงสารลูก และแล้วแม่ก็สะเทือนใจอีกครั้งเมื่อสูญเสียพี่ธำรงไปด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่แม่ก็คือแม่ นิ่ง สงบ เหมือนกับชาชินเสียแล้วกับความเสียใจสุดๆ ของชีวิต ยังเข้มแข็ง มิได้คร่ำครวญ และไม่เห็นน้ำตาแม้สักหยด อีกครั้งเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกพี่วิทิต แม่ก็เป็นห่วงและเสียใจ ก็ได้แต่บอกว่า ทำไงได้ ชีวิตเราถูกพวกมันกำหนด ฉันเสียอีกที่น้ำตาไหลสงสารพี่ชายจับใจ ชีวิตพี่ชายเหมือนพ่อจริงๆ เข้าๆ ออกๆ คุก 3 ครั้ง 3 ครา อายุก็มาก สุขภาพก็ไม่ดี พี่ธำรงก็เสียแล้ว เหลือฉันคนเดียวจะไหวไหมนี่ จะทำอย่างไรกับชีวิตในยามหมดสิ้นหนทาง นี่ก็เหมือนกับฟ้ายังปราณีเราอยู่บ้าง เพราะนอกจากทนายธานีจะช่วยเหลือเรื่องคดีต่างๆแล้ว ยังมี คุณชัยวัฒน์ สุรวิชัย และพรรคพวกอีกหลายคนเป็นธุระจัดการให้ทุกอย่าง จนกระทั่งสามารถประกันตัวสู้ชั้นอุทรณ์ได้ แม่ได้รับรู้ทุกอย่างและก็ทำให้แม่สบายใจไปได้มาก แม้กระทั่งทำบุญครบรอบ 40 ปี คุณชัยวัฒน์ก็จัดการช่วยทุกอย่าง ลำพังเราแล้วไม่อาจทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ขอบคุณที่ช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ขาดไปให้กับแม่และครอบครัวเรา สุขภาพของแม่ไม่ดีมาตลอด แม่ก็อยู่กับลูกๆ หลานๆ ตามอัตภาพที่มีอยู่ แรกๆ หลานๆ ยังเล็ก กิจการในครอบครัวยังพอไปได้ความคึกคัก ความอบอุ่นในครอบครัวก็มีเต็มเปี่ยม แต่พอเด็กๆ โตขึ้น ความคึกคักในบ้านน้อยลง แม่ก็ยังนอนพักรักษาตัวอยู่บ้าน แม่ไม่เรียกร้องอะไรจากลูกเลย เกรงใจและเห็นใจลูกๆ มากกว่า บางครั้งก็มีมิตรสหายเก่าแก่มาเยี่ยมเยียนแม่ มีลุงที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่คนหนึ่งจะมาเยี่ยมแม่ทุกๆ ปีใหม่ และคนอื่นๆ ก็แวะมาเยี่ยมบ้างเช่นกัน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 (ครบรอบ 41 ปีพ่อเสีย) แม่ล้มในห้องน้ำและก็ลุกเดินไม่ได้อีกเลย เมื่อมิตรสหาย ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงรู้ข่าวก็แวะมาเยี่ยมเยียนและให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ผู้หลัก ผู้ใหญ่ที่อาวุโสแม้จะอยู่ในวัยชรา มีโรคภัยไข้เจ็บ เดินทางไม่สะดวกแต่ก็พยายามมาเยี่ยมแม่ บางท่านเป็นทั้งญาติผู้ใหญ่เป็นทั้งที่ปรึกษา ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือในทุกเรื่อง ญาติๆ พี่น้อง ก็มาเยี่ยมเยียนและให้ความช่วยเหลือ บางท่านให้ความช่วยเหลือค่อนข้างประจำด้วย เพื่อนๆ มิตรสหายทั้งรู้จักและไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวก็มาเยี่ยมเยียนและให้ความช่วยเหลือ เพื่อนซี้ปึ๊กบางส่วนถือเป็นลูกแม่ แม้แม่จะป่วยนานก็มาเยี่ยมเยียนและให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี เติมเต็มในสิ่งที่ฉันทำให้แม่ขาดไป อดีตผู้นำนักศึกษาบางท่านก็ให้ความช่วยเหลือ ให้ความสะดวกในการเข้าร.พ. และช่วยค่ารักษาพยาบาลบางช่วง ขอขอบคุณอย่างสุดซี้งในน้ำใจอันบริสุทธิ์และสูงส่งนี้มายังทุกๆ ท่านที่ไปเยี่ยมแม่และให้ความช่วยเหลือ ขอบคุณเพื่อนฝูงที่ส่งกำลังใจไปเยี่ยม แม้ยังไม่มีโอกาสและเงื่อนไขไปเยี่ยม..... ทั้งหมดข้างต้นนี้ เป็นบันทึกของลูกสาว"ควรครอง จันดาวงศ์" ( หมอไพร ) ถึงมิตรสหายทุกท่าน ต่อไปนี้ มาอ่านต่อ : เป็นข้อเขียนของ ส.สุข สมจันทร์ (ชัยวัฒน์ สุรวิชัย ) ในช่วงนั้น แด่ป้าออน“แตงอ่อน จันดาวงศ์” “คนอะไรที่ให้ทั้งชีวิต แก่คนอื่นตั้งแต่เกิดจนตาย โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ” ผมเขียนประโยคนี้เพื่อเคารพ “40 ปี ครูครอง จันดาวงศ์ เข้าหลักประหาร เพื่อสืบสานอุดมการณ์ประชาธิปไตย” เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 วันนี้ ได้เขียนเพื่อแสดงความรัก ความเคารพ ป้าอ่อน “นางแตงอ่อน จันดาวงศ์” ภรรยาครูครอง จันดาวงศ์,แม่ของพี่วิทิต จันดาวงศ์ (ส.ปาน) พี่ธำรง และหมอไพร (นางควรครอง จันดาวงศ์) ป้าอ่อน แบบอย่างของหญิงไทย คนธรรมดาสามัญชน “รักสามี รักลูก” ทำและเสียสละทุกอย่าง แม้ชีวิตเพื่อความรัก ผ่านความยากลำบาก ทุกข็เข็ญ เจ็บปวดอย่างแสนสาหัส ทั้งชีวิตจิตใจตลอดชีวิตอย่างไม่แน่จะเชื่อว่าจะมีสตรีเหล็กเช่นนี้ สามีตาย เพราะ ม.17 ของอำนาจและระบอบเผด็จการ ทั้งๆ ที่ทำในสิ่งถูกต้อง ดีงาม ทำเพื่อสังคม ทำเพื่อประเทศชาติอันเป็นที่รักร่วมกับลูกๆ สืบทอดสานต่ออุดมการณ์และภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของสามี ต้องแบกรับความขมขื่นของครอบครัวต่อ ต้องทนทุกข์ และเสียน้ำตาให้กับลูกชายคนที่สองที่มาตายก่อน ต้องมาเจ็บปวดจากความยุติธรรมที่ลูกชายคนโตถูกข้อหาร้ายแรง ทั้งๆที่หัวโจกตัวการใหญ่หลุดคดีไป เป็นใหญ่เป็นโตในสังคม ต้องทนเห็นความยากลำบาก แบบ “ปากกัดตีนถีบ” เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวและหาเงินมาสู้คดีของพี่ชาย ของลูกสาวคนเล็ก แต่ป้าอ่อนยังสามารถยืนหยัดต่อไปได้ ด้วยการมีชีวิตและน้ำใจที่งดงาม และสุดท้ายยังยิ้มสู้กับความชราและโรคภัยที่มาถึงตน อย่างผู้ชนะจนวันสุดท้ายของชีวิต ผมคงไม่มีอะไรจะกล่าว นอกจากขอใช้ประโยคแห่งความรู้สึกที่ผมมีต่อครูครองมาเขียนเคารพป้าอ่อนว่า “คนอะไรที่ให้ทั้งชีวิตแก่คนอื่นตั้งแต่เกิดจนตาย โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ” ขอให้ ป้าอ่อน นอนหลับอย่างมีความสุข เพราะป้าอ่อนได้ใช้ชีวิต “หญิงเหล็ก” อย่างดีที่สุด ป้าอ่อนได้ใช้ชีวิตไปอย่างคุ้มค่าที่สุด ยากที่จะหาชีวิตใดมาเทียบได้แม้จากไปแต่แบบอย่างที่งดงาม และ คุณความดีที่ได้ทำไว้ ทั้งต่อครอบครัวจันดาวงศ์ และสังคมไทย จะได้รับการสืบทอดสานต่อ สำหรับตัวผม : ชีวิตของ “ครูครอง – ป้าอ่อน จันดาวงศ์” จะเป็นแบบอย่าง เป็นกำลังใจ เป็นแสงอาทิตย์อุทัยที่ส่องสว่างนำทางและต่อชีวิตให้ก้าวเดินต่อไป ทำสิ่งที่ถูกต้องต่อไปบนเส้นทาง สายประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ในท่ามกลางความมืดสลัวและซับซ้อนของสังคมที่มีทั้งอำนาจ กิเลส ตัณหา ความโลภโมโทสันของผู้คนและระบบโครงสร้างที่อยุติธรรม "ครูครองและป้าอ่อนครับ ผมจะก้าวเดินต่อไป เดินตามครูครองและป้าอ่อน ด้วยความมั่นใจ” จาก :ส.สุข สมจันทร์ (ชัยวัฒน์ สุรวิชัย) ผอ.สถาบันพัฒนาการเมืองและคุณภาพคน หมายเหตุ : แม้จะเป็นข้อเขียนของปู่จิ๊บเอง แต่เมือได้อ่านทุกครั้ง ภาพความประทับใจที่ได้สัมผัสตัวจริงของป้าออน ( แตงอ่อน ) หมอไพร รวมทั้งพี่วิทิต ซึ่งเป็นแบบอย่างของครอบครัวปฏิวัติ ที่คิดและทำเพื่อคนอื่นและบ้านเมือง โดยให้ความสนใจในต่อเองน้อยมาก จิตใจเช่นนี้ จะหาได้จากที่ไหน โดยเฉพาะในสังคมกินคนในอดีตปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้นี้ สุดท้าย ขอนำภาพ ครูครอง จันดาวงศ์ ในขณะเดินเข้าหลักประหาร อย่างไม่สะทกสะท้าน 9. ป้าไหม สหายไหม คุณแสงจันทร์ ภรรยา คุณ เปลื้อง วรรณศรี ปัญญาชนปฏิวัติจากรั้วจามจุรี เปลื้อง วรรณศรี ผู้นำนักศึกษาธรรมศาสตร์ ในการเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืน ใน “ขบวนการ11 ตุลา 2494” ที่สามารถชุมนุมเรียกร้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คืนจากการยึดครองของคณะทหารได้สำเร็จ คำขวัญปลุกใจที่ เปลื้อง วรรณศรี ร้อยกรองไว้ในครั้งนั้น และ ได้ถูกจารึกจดจำมาถึงคนรุ่นหลัง คือ หากขาดโดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ … ก็ เหมือน ขาดสัญลักษณ์ พิทักษ์ธรรม …… เปลื้อง วรรณศรี มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมือง เคยเป็น ส.ส. จังหวัดสุรินทร์ เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ ได้ยึดอำนาจตนเองเมื่อ ตุลาคม 2501 เปลื้อง วรรณศรี ถูกจับกุมและขังอยู่ประมาณแปดปี เมื่อได้รับการปล่อยตัวก็ถูกคุกคามด้วยอำนาจมืด จึงเข้าป่า และขอลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีนจนเสียชีวิต ส่วนสหายไหม พวกเราชาวแนวร่วมได้คุ้นเคยและรู้จักในสำนักแนวร่วม A30 ฐานะสหายที่รับผิดชอบ รองไปจากลุงสม ( อุดม ศรีสุวรรณ) กรมการเมืองและประธาน กปปส.ที่ ธีรยุทธ บุญมี เป็นผู้ประสานงาน ซึ่งมีสหายเพชร (สามีของหมอไพร ) เป็นผู้ช่วยฯ เธอ เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ ให้เกียรติและดูแลพวกเราอย่างดี รวมทั้งการสอนแนวนโยบาย10 ข้อของพคท. ที่มีเพีงหน้ากระดาษเดียว แต่ใช้เวลาศึกษาลงลึกอย่างเป็นรูปธรรมร่วมเดือน ทำให้เราเข้าใจลึกซึ้งขึ้น และการแลกเปลี่ยนความคิดต่อสถานการณ์การเมืองทั้งในไทยและทางสากล แม้จะมีบางเรื่องที่เห็นต่างกัน ก็มีการ “ แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง “ ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน เมษายน 2552 ป้าแสงจันทร์ ได้จากไปแล้ว หลังจากการใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า ในฐานะปัญญาชนปฏิวัติ ชาวพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และภรรยาคู่ชีวิตของคุณเปลื้อง วรรณศรี 10. สุดท้าย ดร. ทัศนีย์ ภรรยา ดร.บุญสนอง บุญโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย เป็นหญิงแกร่งเข้มแข็ง เป็นคู่ชีวิตที่อยู่เคียงข้างที่ดีเยี่ยม และเป็นคุณแม่ของลูกสาวสองคน ที่สังคมไม่รู้จัก ที่ต้องรับภาระอย่างหนัก ทั้งขณะที่ดร.บุญสนองมีบทบาท และหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว ปู่จิ๊บเคารพและชื่นชมมาก และขอฝากความระลึกถึงความขอบคุณ มา ณ ที่นี้ด้วย