พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ นอกจากสื่อที่ออกเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ในอเมริกายังมีสื่อหลากหลายภาษารวมอยู่ด้วย เนื่องจากประชากรหลายเชื้อชาติจากทุกมุมโลก กระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ณ ที่นี่ เรียกคนหลากหลายเผ่าพันธุ์ในอเมริกาว่า ชนกลุ่มน้อย (Minority Group)  โดยสื่อเหล่านี้มุ่งตอบสนองต่อการรับรู้ข่าวสารของคนในแต่ละชุมชน มีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ หรือสื่อที่หาอ่าน หาชมได้ง่ายขึ้นและสามารถรับได้ทั่วโลกคือ สื่อประเภทเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่ทำให้โลกปัจจุบันแคบลงอย่างมาก                 แทบไม่มีความแตกต่างระหว่างการรับรู้ข่าวสารจากประเทศแม่ของชนกลุ่มน้อยต่างๆในอเมริกา ในเมื่อมีสารพัดช่องทางแห่งการรับสื่อทั้งจากในและต่างประเทศ ที่ต่างก็พยายามที่จะให้สื่อทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนและผลประโยชน์ของเจ้าของกิจการสื่อเอง                 ในอเมริกามีสื่อนับพัน และในจำนวนหลากหลายภาษานั้น ก็ได้ตอบสนองความต้องการบริโภคข่าวสารด้วยการแลกเปลี่ยนกันภายในชุมชน ซึ่งหลายครั้งหรือเป็นส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำข่าวสารได้สะท้อนกลับไปยังรัฐบาลหรือส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับประเทศแม่นั้นๆ  อย่างเช่น สื่อของคนเวียดนาม ก็จะสะท้อนความเคลื่อนไหวของชุมชนเวียดนามทั้งในอเมริกาและคนเวียดนามที่เวียดนาม                 ทราบกันดีว่า สื่อในทุกประเภท จัดอยู่ในหมวดการค้า หรือเป็นธุรกิจแขนงหนึ่ง เพราะฉะนั้นเลี่ยงไม่ได้ที่สื่อจะตอบสนองผลประโยชน์ของเจ้าของสื่อไม่มากก็น้อย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ในอเมริกา น่าสนใจว่า สื่อได้เสนอความเป็นไป ซึ่งเป็น “ข้อเท็จจริง”ที่เกิดขึ้นมากน้อยขนาดไหน?? เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าว สำหรับชนกลุ่มน้อย บางครั้งก็ขมขื่น                 มีความพยายามจากสื่อหลายเจ้า หลายสำนัก เพื่อส่งสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมจากแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นประเทศแม่ แต่ก็ขาดความลุ่มลึก ปัญหาในระบบหรือโครงสร้างของชุมชนในอเมริกายังไม่ได้ถูกนำเสนออย่างแท้จริง เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน                 ดังเช่นกรณี หลายครั้งที่คนผลิตข่าวที่ถูกส่งไปจากเมืองไทยเสนอข้อมูลที่ผิดพลาด ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง!! ที่เกิดขึ้นในอเมริกาหลายชุมชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในอเมริกา ถึงขนาดรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ได้ออกมาสนับสนุนการดำเนินงานของสื่อทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เพื่อผลประโยชน์ และการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศนั้นๆ เช่น รัฐบาลของจีน และรัฐบาลเวียดนาม เป็นต้น เหมือนช่วงหนึ่ง ที่รัฐบาลฮานอย เคยสนับสนุนหนังสือพิมพ์ Viet  Mercury รายสัปดาห์ ฉบับภาษาเวียดนาม โดยที่หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ก่อตั้งโดยกลุ่มบริษัทสิ่งพิมพ์ “San Jose Mercury News” ที่เคยเป็นบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในเขตซานฟรานซิสโกและเบย์แอเรีย แคลิฟอร์เนียภาคเหนือ เป็นความจริงที่ว่า การเข้าใจ และเข้าถึงวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นประเทศ ไม่มีใครเทียบเท่าเจ้าของชุมชนที่อยู่ประจำหรือเจ้าของประเทศนั้นๆ ดังนั้น สื่อของชนแต่ละเชื้อชาติก็จะคงบทบาทสำคัญในแต่ละเชื้อชาติ แต่ละภาษาอยู่ดี จะให้สื่ออเมริกันมาเข้าใจ วัฒนธรรมไทยแบบทะลุปรุโปร่งย่อมเป็นไปไม่ได้ แม้แต่สิ่งหนึ่ง ที่ควรรับทราบกันไว้ก็คือ คนอเมริกันจำนวนมาก ในอเมริกา ยังไม่รู้จักประเทศไทย            ขณะเดียวกันวิธีการนำเสนอข่าวในอเมริกาก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างไปจากนำเสนอของสื่อไทย เพราะอเมริกาเป็นประเทศที่ใหญ่ ไม่บ่อยครั้งนักที่ข่าวสารจากต่างประเทศจะถูกนำขึ้นจอหรือหน้าหนังสือพิมพ์อเมริกัน ยกเว้นเหตุการณ์ในต่างประเทศที่พัวพันกับผลประโยชน์ของอเมริกาโดยตรง ซึ่งต้องเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ ข่าวระดับภูมิภาคที่สะเทือนขวัญ  หรือข่าวใหญ่จริงๆ เพราะลำพังข่าว และข้อมูลในอเมริกาของแต่ละรัฐก็มีมหาศาลอยู่แล้ว                 ยิ่งเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยในปัจจุบัน ที่เอื้อให้การผลิตสื่อเป็นไปอย่างครอบคลุม และกว้างขวาง กว่าแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ฉบับเดียว ใช้หัว (ชื่อ) เดียวกันในเวลานี้ สามารถออกในหลายส่วนบรรณาธิการ (Edition)  ของแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ อย่างอเมริกา ข่าวสารที่นำขึ้นในหน้าหนึ่ง ของแต่ละ Edition ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญต่อข่าวสารแต่ละชิ้น ของบรรณาธิการของแต่ละท้องถิ่น                 ดังตัวอย่าง นิวยอร์คไทม์  ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์จากนิวยอร์ค แต่มีอีก Edition  ในรัฐฟากฝั่งตะวันตกอีกด้วย ครอบคลุมหลายรัฐที่อยู่ด้านมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น แคลิฟอร์เนีย เนวาดา วอชิงตัน ฯลฯ ข่าวนำหรือบทบรรณาธิการก็ไม่เหมือนกับนิวยอร์คไทม์ที่ออกในนิวยอร์ค                 สื่อสิ่งพิมพ์ของหลายประเทศอย่างเช่น จีน เกาหลีใต้  ที่ให้ความสำคัญกับชุมชน(ขนาดใหญ่)ของพวกเขาในอเมริกาก็จัดระบบการส่งข่าวสารในแบบเดียวกันนี้ คือ ผ่านระบบสื่อสารสองทางจากประเทศแม่และจากชุมชนของพวกเขาที่อเมริกา โดยการยิงสัญญาณการพิมพ์ผ่านระบบดาวเทียม                 ในส่วนผู้ที่ทำงานด้านข่าว และงานด้านเทคนิคก็เป็นไปในลักษณะมืออาชีพ                 ขณะที่ สื่อไทยของชุมชนไทยในอเมริกา ยังไปไม่ถึงไหนนัก แม้ขณะนี้จำนวนคนไทยทั้งในและนอกระบบจะมีจำนวนหลายแสนคนหรืออาจเป็นล้านคนแล้วก็ตาม                 ความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอของสื่อเป็นสิ่งชี้ อนาคตของชุมชนนั้นๆ เป็นแบบปฏิภาคขัดแย้งซึ่งกันและกันระหว่างสื่อกับสื่อ และสื่อกับคนของรัฐบาลในชุมชนไทย โดยเป็นไปในลักษณะระหว่างปัจเจกเกิดขึ้นบ่อยๆในอเมริกา นัยยะการแห่งความไม่สร้างสรรค์สามัคคีมีให้เห็นบ่อยครั้ง                 สื่อไทยในอเมริกาเองกลับ ไม่สะท้อนข้อประเด็นสาธารณะอย่างพียงพอ  ที่สำคัญ คือการขาดแคลนมืออาชีพที่เข้ามาจัดการด้านนี้ ทำให้สื่อในอเมริกาไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนชุมชนไทย นำเสนอปัญหา หรือชี้แนะทั้งในส่วนชุมชนภายใน ตลอดถึงการส่งสาส์นถึงคนไทย และรัฐบาลไทย  ตลอดถึงส่งสาส์นถึงฝ่ายอเมริกันได้อย่างสมบูรณ์แบบมืออาชีพ                 ขณะที่ชุมชนของชาติอื่น อย่างเช่น เกาหลี จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ วิวัฒน์เรื่องนี้ไปไกลแล้ว                 โดยที่บรรดาเชื้อชาติเหล่านี้ตระหนักว่า อเมริกาย่อมจะกลายเป็นแหล่งข้อมูลอันหาประมาณค่ามิได้หากรู้จักนำมาใช้             เหมือนภาพที่ตัวแทนสื่อจากบางประเทศกลายเป็นตัวแทนในการตั้งคำถามในประเด็นที่เกี่ยวพันกับประโยชน์ของประเทศนั้นๆ ของพวกเขา พวกเขา (สื่อ) เหล่านี้อยู่ประจำหรือสามารถเดินเข้าออกในทำเนียบขาวในฐานะสื่อได้เหมือนสื่อสัญชาติอเมริกัน             สื่อในอเมริกา โดยเฉพาะสื่อทีวีพยายามที่จะส่งผ่านความหลากหลาย ด้วยการใช้นักข่าวหน้าตาแบบไม่ออกฝรั่ง เพื่อสะท้อนถึงความทัดเทียมกันของตัวแทนของแต่ละชุมชนในอเมริกา ดังเช่น ชุมชนเอเชีย ชุมชนละติน หรือชุมชนแอฟริกันอเมริกัน               ขณะที่ภาพของชุมชนไทยในอเมริกา โดยเฉพาะชุมชนใหญ่ของคนไทยในนครลอสแองเจเลิสและอีกหลายเมือง ยังคงถอดแบบมาจากเมืองไทยแทบไม่ผิดเพี้ยน  มีสี มีกลุ่ม เหมือนดังเมืองไทย กระทั่งตอนนี้ ที่สำคัญสื่อท้องถิ่นไทยในชุมชนไทยในอเมริกาใส่ใจเรื่องลิขสิทธิ์น้อยเหมือนเดิม ทั้งที่อยู่ในประเทศที่เคี่ยวกรำต่อประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุดในโลกอย่างอเมริกา