เสือตัวที่ 6 การขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐ ของกลุ่มคนในขบวนการแบ่งแยกผู้คนปลายด้ามขวานนั้น มีความเป็นพลวัตที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ด้วยผันแปรไปตามสถานการณ์และกาลเวลาที่สอดรับและเอื้ออำนวยให้การต่อสู้ของขบวนการแห่งนี้ ยังดำเนินต่อไปอย่างมีความหวังและทรงพลัง ที่แม้ไม่สามารถขับเคลื่อนการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นผู้คน สร้างสถานการณ์ความรุนแรงเพื่อต้องการสื่อไปถึงสังคมภายนอก โดยเฉพาะประชาคมโลก ให้เห็นว่า มีความขัดแย้งด้วยอาวุธอย่างรุนแรงระหว่างรัฐผู้ปกครองกับพี่น้องมุสลิมท้องถิ่นในพื้นที่ได้ก็ตาม กลุ่มคนในขบวนการก็ยังคงการขับเคลื่อนการสั่งสมบ่มเพาะสร้างแนวคิดที่เป็นปรปักษ์กับรัฐและคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน อย่างแยบยล แนบเนียน จนสามารถขยายแนวร่วมในหมู่มวลชนทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ได้อย่างกว้างขวางอย่างเงียบๆ ทำให้กว่าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงจะแกะรอย ติดตามและเข้าสกัดกั้นการบ่มเพาะได้บ้าง ก็ล่วงเลยมาเป็นเวลานาน ถึงกระนั้นก็ตาม กระบวนการสั่งสมบ่มเพาะความแปลกแยกจากรัฐและผู้คนที่มีความแตกต่างกันทางชาติพันธุ์และความเชื่อทางศาสนา ให้กับคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น ก็ปรับเปลี่ยน ผันแปรไปตามสถานการณ์ของการเข้าถึงของหน่วยงานความมั่นคงของรัฐมากขึ้นได้อยู่ต่อไป คนกลุ่มนี้ ยังคงดำรงความมุ่งหมายในการขยายแนวคิด ส่งต่อความแปลกแยกในทุกๆ ด้านให้เกิดขึ้นในมโนสำนึกของคนรุ่นใหม่ในทุกภาคส่วน โดยกระทำในรูปแบบที่หลากหลาย ผ่านกลุ่มคนที่เรียกกันว่า ภาคประชาสังคม อาทิ กลุ่มเยาวชนรักษ์ถิ่น ภาคการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่มีความล่อแหลมต่อการถูกบิดเบือน เติมต่อเพียงบางจุด บางด้าน บนฐานคิดของผู้เขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเอง อันคลาดเคลื่อนแตกต่างจากประวัติศาสตร์นบีและรอซูล (ศาสดา) (Rosul History) หรือประวัติศาสตร์บริสุทธิ์ที่มีความตรงไปตรงมาสูง เพราะไม่มีความเห็นส่วนตัวที่แฝงไว้ด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ ดร.ปรีดี มะนีวัน นักวิชาการท่านหนึ่ง กล่าวให้เห็นอย่างชัดเจน โดยให้สติและปัญญาแก่ผู้คนโดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ปลายด้ามขวานว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องอดีตที่อาจส่งผลต่อวิถีชีวิตปัจจุบันได้ ไม่ว่าทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ประวัติศาสตร์ใดที่สร้างสรรค์ สามารถหนุนเสริมให้เกิดความศรัทธา หรือ "ตักวา" ต่อพระองค์อัลลอฮฺ ประวัติศาสตร์นั้นย่อมเป็นประวัติศาสตร์ที่บารอกัต (เป็นสิริมงคล) ส่วนประวัติศาสตร์ใดที่มิอาจหนุนเสริมศรัทธาหรือตักวาได้ ย่อมเป็นประวัติศาสตร์ที่ไร้สาระและไร้คุณค่าต่อชีวิต ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้น ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่บริสุทธิ์อย่างแท้จริง เพราะสิบคนเขียนก็อาจเขียนไม่เหมือนกัน บางคนเขียนเชิงสร้างสรรค์ ปลูกฝังแนวคิดสันติสุข ปรองดอง สามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายอย่างสันติในแบบพหุวัฒนธรรมอย่างเช่นในอดีต ในขณะที่ยังมีคนบางกลุ่มพยายามเขียนประวัติศาสตร์เชิงลบ ให้ร้ายสร้างความแตกแยกแบ่งฝ่าย สร้างความเห็นต่างในทุกรูปแบบนำไปสู่ความเกลียดชัง และชี้นำให้เกิดแนวคิดการต่อสู้กับผู้เห็นต่าง โดยปลูกฝังแนวคิดชาติพันธุ์นิยม (Nationalism) สร้างอคติ สร้างการไม่ยอมรับผู้แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ก่อความขัดแย้งจนเกิดการต่อสู้ เข่นฆ่าผู้เห็นต่างและผู้มีแตกต่างทั้งหลายอย่างไร้เหตุผล และพยายามถ่ายทอดแนวคิดผิดๆ เหล่านี้ โดยแอบอ้างว่าเป็นอุดมการณ์ อันผิดเพี้ยนของตนเอง ไปสู่ลูกหลานคนรุ่นต่อๆ มาให้เข้าใจในประวัติศาสตร์และการต่อสู้ที่คลาดเคลื่อน นักวิชาการท่านดังกล่าว ยังย้ำต่อว่า ประวัติศาสตร์นบีและรอซูลต่างหาก ที่เป็นประวัติศาสตร์อันบริสุทธิ์ และสัจธรรม(บิลฮัก) ควรค่าแก่การศึกษา ยอมรับและนำไปปฏิบัติ เพราะพระองค์อัลลอฮฺ ทรงตรัสไว้เองผ่านคัมภีร์อัลกุรอาน และคัมภีร์ก่อนหน้านั้น (ที่มิได้มีการแก้ไขดัดแปลง) โดยประวัติศาสตร์นบีและรอซูลนั้น เป็นประวัติศาสตร์ที่นำเสนอข้อเท็จจริงเชิงสร้างสรรค์ ด้วยมีสาระสำคัญในการสร้างความรัก ความเมตตา ความปรองดอง ยุติธรรม เคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะมีความแตกต่างในด้านใด ทั้งยังชี้แนวทางสันติภาพแก่มวลมนุษย์ต่อการดำเนินชีวิตทั้งโลกนี้และส่งผลถึงโลกหน้าอย่างสันติ หากมนุษย์ต้องการแสวงหาสันติสุขที่แท้จริง ควรยิ่งกับการศึกษาเรียนรู้และยอมรับประวัติศาสตร์ของบรรดาท่านนบีและรอซูล เพราะเป็นประวัติศาสตร์สัจธรรมที่พระองค์อัลลอฮ์(ซ.บ.) ทรงตรัสเอง ปรากฏการณ์อันแนบเนียนของขบวนการร้ายแห่งนี้ ผันแปรเป็นพลวัตการต่อสู้กับรัฐอย่างไม่เคยหยุดยิ่ง พวกเขาเหล่าบรรดานักคิด แกนนำขบวนการทั้งหลาย ต่างค้นหาเส้นทางของการต่อสู้กับรัฐใหม่ๆ ให้ยังคงพลังในการต่อสู้อยู่ต่อไป แม้ว่า ณ ห้วงเวลานี้ ยังไม่อาจใช้แนวทางการต่อสู้ด้วยความรุนแรงต่อไปได้อย่างเมื่อ 3 – 4 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ใช่ว่า คนกลุ่มนี้ จะยอมจำนนอย่างสิ้นเชิง ในทางกลับกัน คนกลุ่มนี้ ยังคงตระเตรียมกำลังคนรุ่นใหม่ให้มีแนวคิดแปลกแยกแตกต่าง จนไปถึงขั้นสุดโต่งได้ทุกนาทีที่ทำได้ อย่างน้อย การติดอาวุธทางปัญญาให้กล้าแข็ง บังเกิดกับคนรุ่นใหม่ในวงกว้างได้สำเร็จ นั่นจะเป็นการต่อสู้ทางความคิดที่มีธงนำในการพูดคุยสันติสุขที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันไม่ไกล โดยการขับเคลื่อนอย่างลี้ลับผ่านกลุ่มคนในรูปแบบภาคประชาสังคม และกลุ่มเยาวชนต่างๆ โดยยังคงเนินการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น(Local History) ที่คนบางกลุ่มพยายามเขียนประวัติศาสตร์เชิงลบ แทรกปนความแตกต่างระหว่างคนในท้องถิ่นกับคนอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง ให้ร้ายสร้างความแตกแยกแบ่งฝ่าย สร้างความเห็นต่างในทุกรูปแบบนำไปสู่ความเกลียดชัง และชี้นำให้เกิดแนวคิดการต่อสู้กับผู้เห็นต่าง โดยปลูกฝังแนวคิดชาติพันธุ์นิยม (Nationalism) สร้างอคติ สร้างการไม่ยอมรับผู้แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ก่อความขัดแย้งจนเกิดการต่อสู้ เข่นฆ่าผู้เห็นต่างและผู้มีแตกต่างทั้งหลายอย่างไร้เหตุผล ทั้งปนเปื้อนความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในความคิด ความเชื่อ ผ่านคำสอนทางศาสนาที่ชี้นำให้เกิดการต่อสู้กับรัฐอย่างไม่สิ้นสุด จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายปลายทาง และนี่คือปรากฏการณ์หนึ่งของการต่อสู้กับรัฐของขบวนการแห่งนี้ที่มีความเป็นพลวัตไม่สิ้นสุด