ทวี สุรฤทธิกุล หนทางของลุงตู่จะจบลงอย่างไรนั้น เราลองมาศึกษาประวัติศาสตร์ดูกัน ผู้นำนายทหารคนแรกคือพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้ถูกอุปโลกน์ให้เป็นหัวหน้าของคณะราษฎร ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้กล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์กับนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในตอนที่ลงจากตำแหน่งใน พ.ศ. 2481 ว่า จำเป็นต้องให้ “ผู้มีอำนาจตัวจริง” ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล นั่นก็คือการหลีกทางให้กับพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ที่ต่อมาได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจอมพล ในชื่อ ป. พิบูลสงคราม ภายหลังสงครามเรียกร้องดินแดนกับฝรั่งเศส ที่เรียกว่าสงครามอินโดจีน และไทยเป็นฝ่ายชนะ ทำให้สถานะของจอมพล ป.สูงส่งยิ่งขึ้น จนกระทั่งเกิดสงครามหาเอเซียบูรพา และตามมาด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จอมพล ป.เลือกไปเข้าด้วยกับญี่ปุ่น ทำให้เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม รัฐบาลของจอมพล ป. ก็ถึงจุดจบตามไปด้วย กระนั้นก็สามารถคืนสู่อำนาจได้ภายหลังการรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดยในการขึ้นสู่อำนาจครั้งหลังนี้ จอมพลตราไก่ (จอมพล ป. เกิดปีระกา ว่ากันว่าตอนที่ยึดบ้านนรสิงห์มาทำเป็นทำเนียบรัฐบาลนั้น ได้สั่งให้ทำปูนปั้นรูปไก่ไว้ตามที่ต่าง ๆ ของอาคารด้วย) คงจะมีบทเรียนจากการขึ้นสู่อำนาจในคราวก่อน จึงพยายามปิดกั้นคู่แข่งทางการเมือง และเสริมอำนาจตนเองให้เข้มแข็งในทุกวิถีทาง แต่กระนั้นก็มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในฝ่ายทหาร ที่พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดูจะไม่ไว้วางใจทิศทางการใช้อำนาจของรัฐบาลเท่าใด จนกระทั่งรัฐบาลได้โกงการเลือกตั้งในค้นปี 2500 เมื่อเกิดการประท้วงรัฐบาล พลเอกสฤษดิ์ก็ทำการยึดอำนาจจากจอมพล ป. ที่ต้องหลบหนีออกนอกประเทศและไปเสียชีวิตที่ญี่ปุ่นในที่สุด ทว่าจอมพลสฤษดิ์ก็มีบุญไม่มากนัก เพียง 6 ปีหลังการบริหารอย่างเด็ดขาดดุเดือด “จอมพลผ้าขาวม้าแดง” ก็ถึงแก่อสัญกรรม แต่ก็ยังสืบอำนาจต่อมาด้วยทายาทในกองทัพคือจอมพลถนอม กิตติขจร กับพวกห้องและญาติมิตร แม้จะมีการผ่อนคลายให้มีการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2512 แต่ก็มีสภาอยู่ได้เพียงช่วงสั้น ๆ คือต้องมีการยึดอำนาจยึดสภาอันวุ่นวายนั้นในเวลา 2 ปีต่อมา ทำให้เกิดกระแสต่อต้านเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตย อันนำมาสู่เหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ที่ทำให้ “จอมพลถนอม แอนด์ เดอะ แก๊งส์” ต้องออกไปอยู่นอกประเทศ และตามมาด้วยยุคที่วุ่นวายอยากมากครั้งหนึ่งของประเทศ เพราะเหล่าปัญญาชนใช้เสรีภาพกันอย่างเลยเถิด ด้วยลำพองว่าทหารคงจะหมดอำนาจไปสิ้นแล้ว แม้จะมีการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2518 แต่ความวุ่นวายก็ยิ่งทวีความรุนแรงเข้าจนถึงในรัฐสภา โดยมีสัญญาณว่าทหารกำลังกลับคืนสู่อำนาจอีกแล้ว ด้วยการสร้างความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้รัฐบาลต้องยุบสภาในตอนต้นปี 2519 และเลือกตั้งใหม่ แต่รัฐบาลใหม่ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ยังคงมีการประท้วงกันวุ่นวาย จนกระทั่งกระทบไปถึงการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้ทหารและตำรวจต้องเข้าปราบผู้ประท้วงในมหาวิทยาลัยอย่างโหดเหี้ยม ตามมาด้วยการทำรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หลังการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2522 ตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบที่ทหารควบคุมการร่างใน คณะทหารก็ให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นผู้สืบทอดอำนาจของทหารนั้นไว้ แต่ในขณะนั้นก็ได้มีนายพล “ผู้มากบารมี” คนหนึ่งเกิดขึ้นในกองทัพ ทำให้ทหารส่วนใหญ่หันมาสนับสนุนนายพลผู้นี้ นั่นก็คือการขึ้นสู่อำนาจของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่อยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนานเกือบ 8 ปีครึ่ง จนกระทั่งเกิดโรค “เบื่อป๋า” ถึงขั้นที่มีการถวายฎีกาของกลุ่มนักวิชาการ 99 คน ด้วยข้อกังวลว่า “ป๋าเปรม” กำลังก่อให้เกิดระบบที่อาจจะเป็นอันตรายต่อระบบรัฐสภา ซึ่งที่สุดนายพลผู้สงบเสงี่ยมก็พูดกับผู้มาขอให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งในตอนกลางปี 2531 ว่า “ป๋าพอแล้ว” อย่างไรก็ตาม รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็สร้างความเลวร้ายให้กับระบบรัฐสภา ด้วยการโกงกินอย่างมูมมาม จนถูกเรียกว่า “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต” ทำให้ทหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เข้ายึดอำนาจในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ที่ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะถูกมองว่ามีแนวคิดที่จะสืบทอดอำนาจไว้กับกองทัพและกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ที่สุดจึงถูกทหารอีกกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวต่อต้าน นำมาสู่การประท้วงออกมาสู่ท้องถนน จน รสช.ได้เข้าปราบปรามและเกิดความรุนแรงขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2535 กระทั่งพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงต้องเข้ามามีพระราชวินิจฉัยให้สงบศึก จากนั้นบ้านเมืองก็ทำท่าว่าจะเข้าสู่ประชาธิปไตยด้วยดี ภายหลังที่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยกระบวนการประชาชน คือฉบับ พ.ศ. 2540 และมีการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2544 แต่ด้วยเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมืองที่บิดเบือนรัฐธรรมนูญให้เป็นประโยชน์แก่ตน ที่สุดบ้านเมืองก็เข้าสู่ยุคทุนสามานย์ ตามาด้วยการทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่ทหารก็ทำเสียของ คือไม่สามารถใช้อำนาจจัดการกับทรราชย์ฝ่ายพลเรือนได้ และต้องรีบปล่อยให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพราะโดนแรงบีบจากหลายฝ่าย ทำให้บ้านเมืองหลังการเลือกตั้งยังคงมีแต่ความวุ่นวาย บางรัฐบาลเข้าทำงานที่ทำเนียบฯและประชุมสภาไม่ได้ อันนำมาซึ่งการเข้ายึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ได้สร้างปรากฏการณ์ “ตู่ฟีเวอร์” ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จำเป็นต้องอยู่ในอำนาจมาจนเข้าปีที่ 8 นี้ ในบทความนี้ในตอนแรก ได้กล่าวถึงสภาพของการเบื่อลุงตู่ ตามมาด้วยในตอนที่สองที่บอกสาเหตุว่าเป็นเพราะคนไทยนั่นแหละที่เบื่อง่ายหน่ายเร็ว และมาสู่ตอนสุดท้ายนี้ที่กำลังจะหาคำตอบว่าชะตากรรมของลุงตู่นี้จะจบลงอย่างไร ซึ่งท่านผู้อ่านก็คงจะเห็นตัวอย่างมากมายจากประวัติศาสตร์การเมืองข้างต้นนั้นแล้ว ต่อไปก็คือคาดเดากันว่าลุงตู่จะจบชีวิตการเมืองลงอย่างไร ผู้เขียนเองก็เบื่อตัวเองมาก ๆ ที่เดาอะไรผิดอยู่บ่อย ๆ แต่ครั้งนี้ก็ยังอยากเดาว่า ลุงตู่น่าจะมีวิธีลงจากหลังเสือได้อย่างปลอดภัยสง่างาม เอาใจช่วยลุงตู่กันด้วยนะครับ